ชะลอสัมปทานรอแก้กฎหมายปิโตรเลียม

ชะลอสัมปทานรอแก้กฎหมายปิโตรเลียม

“ประยุทธ์”สั่งชะลอเปิดสัมปทานรอบ 21 เปิดช่องแก้กฎหมายปิโตรเลียมก่อนเดินหน้า คาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

 หวังทุกฝ่ายยอมรับเงื่อนไข ด้าน“ณรงค์ชัย” ย้ำจุดยืนต้องเปิดสัมปทานเสริมความมั่นคง ยันกฎหมายปิโตรเลียมไทยไม่ล้าสมัย ขณะ“สรรเสริญ”เผยนายกฯตั้งหาข้อสรุปได้จากกรรมการร่วม "คุรุจิต"นำทีมฝ่ายพลังงาน ฝ่ายค้าส่ง"ประสงค์" ถกนัดแรก 26 ก.พ.นี้


นายกรัฐมนตรีตัดสินใจชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รองที่ 21 ออกไป โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแก้กฎหมายปิโตรเลียมก่อน คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน


การตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากได้รับรายงานการเสวนาระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายคัดค้านการเปิดสัมปทานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
การเสวนาดังกล่าวทั้งสองฝ่ายยังมีจุดยืนต่างกัน โดยตัวแทนฝ่ายรัฐบาลยืนยันการเปิดสัมปทานเพื่อสร้างความมั่นคงพลังงานและเห็นว่ารูปแบบการสัมปทานที่ประกาศไปนั้น รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่ฝ่ายคัดค้านไม่ได้โต้แย้งประเด็นความจำเป็น แต่เห็นว่าควรแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับปัจจุบัน ก่อนเปิดสัมปทาน ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีอำนาจต่อรองมากกว่า


พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.วานนี้ (24 ก.พ.) ว่าได้มีการหารือการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งมีการตัดสินใจดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อนดำเนินการต่อไป และให้มีการพิจารณาว่าสิ่งใดที่สามารถดำเนินการได้และเป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งกระบวนการแก้ไขกฎหมายนั้นใช้เวลาเร็วที่สุด 3 เดือน


อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้เพราะเป็นขั้นตอนของคณะกรรมาธิการฯ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย


พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าในการดำเนินการตามข้างต้น หากมีกรณีพลังงานไม่เพียงพอ หรือมีผลต่อความเชื่อมั่นทุกคนที่แสดงความคิดเห็นก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยคณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นก็ยังคงมีหน้าที่ในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับการสัมปทานปิโตรเลียม ส่วนที่กำหนดให้มีการยื่นขอเปิดสัมปทานในวันที่ 16 มี.ค.นั้นก็ต้องเลื่อนออกไป


“รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ขอให้ประชาชนรับฟังและพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริง รอบด้านอย่าเชื่อการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว


พลังงานย้ำจุดยืนเปิดสัมปทาน
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าครม.ไม่ได้มีการหารืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยขณะนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้คัดค้านการเปิดสัมปทานนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล นายกรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการซึ่งเป็นไปตามมติที่ได้มีการหารือกันหลังการเปิดเวทีภาคประชาชนเมื่อสัปดาห์ก่อน
สำหรับจุดยืนของกระทรวงพลังงานยังคงสนับสนุนการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมพลังงานเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ส่วนจะมีการแก้ไขกฎหมายสัมปทานปิโตรเลียมก่อนจะมีการเปิดสัมปทานหรือไม่ก็คงจะต้องรอดูข้อสรุปอีกครั้ง


อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไม่ใช่กฎหมายที่ล้าสมัยเพราะเป็นกฎหมายที่มีการปรับปรุงมาแล้วถึง 4 ครั้ง


นอกจากนั้นในการเปิดสัมปทานรอบนี้ก็มีการวางเงื่อนไขว่าในแปลงสัมปทานที่มีขนาดใหญ่ในแปลงหมายเลข D3 - D6 รัฐบาลสามารถที่จะเจรจาผลประโยชน์เพิ่มเติมได้ ซึ่งเอกชนก็ทราบเงื่อนไขนี้ดีอยู่แล้ว
หวังทุกฝ่ายยอมรับข้อสรุปร่วมกัน


ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีมีความคาดหวังเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคัดค้านสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 มากว่าจะสามารถทำงานร่วมกันและหาข้อสรุปที่สังคม และนักลงทุนสามารถที่จะยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ร่วมกันได้
การดำเนินการดังกล่าวหากต้องมีการแก้ไขกฎหมาย หรือมีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมารองรับการแก้ไขกฎหมายกรณีที่อาจมีการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแล้วทำให้การดำเนินการมีความล่าช้าสังคมก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดในส่วนนี้ที่จะมีผลต่ออนาคตอย่างไร ไม่ใช่โทษฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว


ตั้งกรรมการร่วมฝ่ายละ6คน
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่าการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเสนอข้อมูลความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน หรือคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและกลุ่มผู้เห็นต่างได้มีการส่งรายชื่อเบื้องต้นของทั้งสองฝ่ายเข้ามาแล้วหลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการแล้ว โดยฝ่ายกระทรวงพลังงานประกอบไปด้วย นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน นายพล ธีรคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญสำนักกฎหมายกรมสรรพากร นายประภาส คงเอียด ที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงการคลัง นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อดีตอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) นายบุญบันดาล ยุวนะศิริ เชี่ยวชาญด้านสัมปทานปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายรักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันเอ็มไอที
ขณะที่ฝ่ายขณะทำงานจากฝ่ายที่เห็นต่างประกอบไปด้วย นต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายวิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนบัณฑิตและบริหารศาสตร์ หรือ นายนพ สัตยาศัย อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ประชุมนัดแรก26ก.พ.
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อไปว่าคณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายจะสรุปรายชื่อฝ่ายละ 6 คนเข้ามาเป็นคณะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะทำหน้าที่เป็นโฆษกของคณะทำงานรวมทั้งอาจจะมีการเพิ่มนักกฎหมายเข้ามาเป็นองค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้เพื่อให้สามารถวางแนวทางในการแก้ไขกฎหมายหรือจัดตั้งองค์กรใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล ไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากไม่ต้องการให้มีภาพของนักการเมืองเข้ามาทำงานในคณะกรรมการร่วมชุดนี้ ซึ่งการประชุมนัดแรกของคณะทำงานร่วมชุดนี้จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.พ.ที่จะถึงนี้