ชงนายกฯเจรจาญี่ปุ่น พัฒนา'รถไฟทางคู่'3เส้น

ชงนายกฯเจรจาญี่ปุ่น พัฒนา'รถไฟทางคู่'3เส้น

คมนาคมชงนายกฯ เยือนญี่ปุ่น 8 ก.พ.นี้ หารือระดับผู้นำ ร่วมมือพัฒนารถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ให้ญี่ปุ่นเลือก

คาดเป็นเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขณะครม.อนุมัติเวนคืนที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสีม่วง-น้ำเงิน พร้อมเตรียมเสนอครม. อนุมัติมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง

กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น ร่วมมือพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง โดยคาดว่าญี่ปุ่นให้ความสนใจกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการต้นเดือนก.พ.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าจะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ หารือกับนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ร่วมมือโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตรร่วมกัน โดยมี 3 เส้นทางที่จะเสนอให้ญี่ปุ่นเลือก ได้แก่ เส้นทางแม่สอด ตาก-พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร ระยะทาง 770 กม.เส้นทางพุน้ำร้อน กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด ระยะทาง 339 กม. และเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 653 กม.

ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นจะเลือกเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้ก่อนเส้นทางอื่น และเส้นทางพุน้ำร้อน กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่าที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามหากผู้นำทั้ง 2 ประเทศเห็นชอบร่วมกัน ขั้นตอนต่อไปจะมีการนัดลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) การพัฒนารถไฟทางคู่ทั้ง 2 ประเทศแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำการศึกษา กำหนดรายละเอียดเส้นทาง การลงทุน ซึ่งเป็นลักษณะการลงทุนเดียวกับที่ไทยได้ทำกับรัฐบาลจีน

“ก่อนหน้านี้ ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้หารือกับกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบรางร่วมกัน 2 ครั้งตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยรัฐบาลญี่ปุ่นสนใจที่จะดำเนินการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง แต่ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ยุบสภา จึงต้องชะลอการพูดคุยจนกระทั่งญี่ปุ่นได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน (เมติ) ของญี่ปุ่นก็ได้เข้าพบอีกครั้ง เพื่อสอบถามความคืบหน้าความร่วมมือ ก่อนที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะพบกัน ซึ่งในการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางไปด้วย ในฐานะเลขาฯ คณะนายกรัฐมนตรี” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

เผยเกาหลี-อังกฤษสนใจร่วมพัฒนา

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า เส้นทางรถไฟทางคู่สายเหนือ เดิมจะมีการสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงของ เพื่อเชื่อมไปต่อไปสปป.ลาว และจีน แต่ต่อมาจีนได้เปลี่ยนเส้นทางเชื่อมต่อไปที่ จ.หนองคาย แทน จึงได้ตัดเหลือแค่กรุงเทพฯ-เชียงใหม่เท่านั้น แต่ทั้ง 3 เส้นทางที่จะหารือกับญี่ปุ่นได้อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดือนก.ค. 2557 อยู่แล้ว โดยจะมีการทำทั้งถนนและรถไฟทางคู่จากฝั่งตะวันออกกับตะวันตกเพื่อเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และยังเป็นการเชื่อมต่อทะเลฝั่งอันดามันเข้ากับทะเลแปซิฟิกตอนใต้

อย่างไรก็ตามนโยบายการลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ของไทยนอกจากจะหารือกับรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ยังแสดงความสนใจร่วมมือกับไทยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ไทยได้ส่งข้อมูลแผนการลงทุนไปให้ทางสถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทยแล้ว รวมถึงทางคณะทูตอังกฤษก็ได้สอบถามด้วย

"รัฐบาลไม่มีนโยบายให้ประเทศเดียวทำทุกสายซึ่งพร้อมจะร่วมมือกับทุกประเทศหากมีประเทศที่สนใจร่วมมือก็จะศึกษาและร่วมลงทุนด้วยกัน แต่หากไม่มีประเทศใดสนใจก็จะให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาการลงทุนเอง"

ครม.ไฟเขียวเวนคืนที่ดินสายสีน้ำเงิน

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ในท้องที่ อ.บางบัวทอง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และเขตบางซื่อ กทม.เนื่องจากมีเจ้าของที่ดินบริเวณรอบแนวเขตสร้างรถไฟฟ้าไม่ยินยอมตกลงทำสัญญาซื้อขายกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 69 แปลง ประกอบด้วย ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จำนวน 5 แปลง ,ที่ราชพัสดุ จำนวน 10 แปลง และ ที่ดินของเอกชนจำนวน 54 แปลง โดยก่อนหน้าได้มีการเวนคืนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว 911 แปลง

โดยที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืน และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ รวม 4 ฉบับ เนื่องจากมีพื้นที่บริเวณสถานีแยกไฟฉาย และเขตบางกอกน้อย ยังไม่สามารถจัดกรรมสิทธิ์ได้ เพราะติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนกของ กทม.จึงต้องปรับแนวเขตทาง จำนวน 32 ตำแหน่ง ซึ่งจะมีที่ดิน 61 แปลง และ สิ่งปลูกสร้าง 87 หลัง ที่ต้องถูกเวนคืน เพื่อสร้างสถานที่จอดรถสำหรับผู้โดยสารและกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง

ปรับทางขึ้นลงสายสีม่วงหน้ากรมชลฯ

ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับตำแหน่งทางขึ้น-ลงที่3 และ 4 บริเวณสถานีศรีย่าน โครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ว่า เนื่องจากแนวเส้นทางโครงการช่วงผ่านถนนสามเสนนั้นแคบและมีสิ่งปลูกสร้างตลอดแนวสายทาง และเพื่อเป็นการลดผลกระทบในการเวนคืนที่ดิน รฟม.และกลุ่ม บริษัท ที่ปรึกษา BMTP (บริษัทออกแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง) ได้เห็นตรงกันว่าให้สร้างทางขึ้น-ลงที่ 3 บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าของกรมชลประทาน และเลือกพื้นที่บริเวณอาคารเก็บเอกสาร 1 เพื่อสร้างทางขึ้นลงที่ 4 ของสถานีศรีย่าน

"จะปรับลดขนาดก่อสร้างทางขึ้นและลงให้ใช้พื้นที่น้อยที่สุด เมื่อปรับแบบเรียบร้อยก็จะกลับมาเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง"

ชงมอเตอร์เวย์2โครงการก.พ.นี้

นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่าความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ ปัจจุบันได้เร่งแผนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษ สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงินลงทุน 55,600 ล้านบาท เพื่อนำเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน พิจารณาในเดือน ม.ค. 2558 และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติดำเนินโครงการภายในเดือน ก.พ. 2558

“แผนที่วางไว้ ก็คือจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2559 แล้วเสร็จปี 2563 ซึ่งทั้ง 2 โครงการผ่านการศึกษาผ่านการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือ EIA และสำรวจออกแบบรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว”

ขณะที่โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี - ปักธงชัย) ขนาด 4 ช่องจราจร ก็ผ่านการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือ EIA และได้รับการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างแล้ว แต่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.