'ฮู'ประกาศอีโบล่าสถานการณ์ฉุกเฉินโลก

'ฮู'ประกาศอีโบล่าสถานการณ์ฉุกเฉินโลก

เจนีวา-องค์การอนามัยโลก ประกาศให้การระบาดของอีโบล่า เป็นเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลก

องค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศให้การระบาดของไวรัสมรณะอีโบล่า ที่แพร่กระจายไปยังพื้นที่หลายส่วนของแอฟริกาตะวันตก เป็นเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับสากล และเรียกร้องขอให้ทั่วโลกให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ซึ่งการประกาศครั้งนี้ มีขึ้นหลังการประชุมลับที่นครเจนีวา ซึ่งหมายความว่า ต่อไปอาจจะมีการจำกัดการเดินทางทั่วโลก เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของอีโบล่า ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,000 คนแล้ว

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของฮู ยังมีขึ้นในขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของอีโบล่าออกไปนอกแอฟริกาตะวันตก เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และหน่วยแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) เตือนว่า การระบาดของอีโบล่าอยู่นอกเหนือการควบคุม และมีจุดแพร่ระบาดมากกว่า 60 จุด

ฮูระบุร้ายแรงสุดรอบ4ทศวรรษ

นางมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการฮู เรียกร้องขอความช่วยเหลือมากขึ้นจากนานาชาติ สำหรับประเทศที่เผชิญการระบาดหนักที่สุด ซึ่งเธอระบุว่า ร้ายแรงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษสะท้อนความเห็นของเอ็มเอสเอฟที่ว่า เป็นการแพร่ระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในแง่ของการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์, ประชาชนที่ติดเชื้อและเสียชีวิต

ได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศที่มีการระบาดในแอฟริกาตะวันตก รวมทั้ง ไลบีเรีย เซียรา ลีโอน และกินี และทหารในจังหวัด แกรนด์ เคป เมาท์ ของไลบีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักที่สุด ได้ตั้งด่านบนถนนเพื่อจำกัดการเดินทางไปยังกรุงมอนโรเวีย ขณะที่มีรายงานว่า มีศพถูกนำไปทิ้งเกลื่อนบนถนน

ส่วนในสองเมืองของเซียร่า ลีโอน คือ ไคลาฮุนและเคเนม่า กลายเป็นเมืองกักโรค ไนท์คลับและย่านสถานบันเทิงทั่วประเทศ ถูกสั่งปิด ส่วนหน่วยงานด้านการแพทย์ของไนจีเรีย นัดหยุดงานประท้วงนานนับเดือน เพราะหวาดกลัวการระบาดของอีโบล่า หลังจากคร่าชีวิตผู้ป่วยในกรุงลากอสไปแล้ว 2 คน ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 5 คน

ระบบสาธารณสุขไลบีเรียกำลังล่มสลาย

นายออกัสตีน เคเปเฮ งาฟวน รัฐมนตรีต่างประเทศของไลบีเรีย ระบุว่า ระบบสาธารณสุขกำลังล่มสลาย โรงพยาบาลกำลังจะปิดตัว และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ กำลังหนีเอาตัวรอดจากการแพร่ระบาดของอีโบล่า ที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ

นายงาฟวน บอกด้วยว่า ผู้คนกำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคสามัญทั่วไป ก็เพราะระบบสาธารณสุขกำลังล่มสลาย และจะส่งผลกระทบไปอีกนาน แม้ว่าวิกฤตจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม โรคที่รักษาได้เช่น มาลาเรียและอหิวาตกโรค ก็กลับรักษาไม่ได้ เนื่องจากชาวไลบีเรียที่หวาดกลัว พากันไม่ยอมไปสถานพยาบาล และยอดผู้เสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ อาจสูงกว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสอีโบล่า 3 หรือ 4 เท่าด้วยซ้ำ

แต่นายงาฟวน ก็ยังวิตกต่อการระบาดของไวรัสอีโบล่า โดยบอกว่า ไม่ทราบว่าจะเลวร้ายขนาดไหน และยังมีคนที่จะล้มตายอีกมากเพียงใด เพราะตอนนี้ ไวรัสอยู่นอกเหนือการควบคุม และแพร่จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง นอกจากนี้ ยังขาดแคลนแพทย์และพยาบาลที่ผ่านการฝึก ด้วยเพราะเผชิญสงครามการเมืองกลางเมืองมาหลายปี และยิ่งเลวร้ายลงอีก เมื่อมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ติดเชื้อเสียเอง สถานการณ์ในไลบีเรียเข้าสู่สภาวะที่มีแพทย์ราว 50 คน ต่อประชากร 4 ล้านคน

สหรัฐอพยพจนท.ทูตหนีอีโบลาไลบีเรีย

สหรัฐ สั่งอพยพครอบครัวเจ้าหน้าที่สถานทูตในไลบีเรีย ขณะที่ไลบีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศในแอฟริกาตะวันตก ที่เผชิญการระบาดของไวรัสอีโบล่า กำลังพยายามรับมือกับไวรัสมรณะ ที่แพร่ระบาดรุนแรงที่สุดในโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ประกาศเตือนพลเมือง ไม่ให้เดินทางไปไลบีเรีย ซึ่งเป็นการย้ำคำเตือนของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐก่อนหน้านี้ โดยนายทอม ฟรีดเด้น ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ หรือซีดีซี แถลงต่อคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยแอฟริกา, สาธารณสุขโลก, สิทธิมนุษยชนโลกและองค์กรระหว่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรว่า การระบาดของอีโบล่าไปยังสหรัฐ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการมีการเดินทางโดยสารการบินไปทั่วโลก แต่จะไม่ถึงขั้นเป็นการระบาดขนาดใหญ่

นายฟรีดเด้น กล่าวด้วยว่า มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่อาจจะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบล่าอยู่ในสหรัฐ หลังจากไปติดเชื้อมาจากที่ไหนสักแห่ง และปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันอีโบล่าได้ แต่สามารถควบคุมได้ ถ้าผู้ป่วยถูกแยกตัวไปทำการรักษาอย่างรวดเร็ว และมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม ซึ่งเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบล่า ก็ได้รับคำแนะนำให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย, แว่นกันลม, ถุงมือและเสื้อคลุมป้องกัน

อูกันดาทดสอบผู้ป่วยต้องสงสัยรายแรก

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขของอูกันดา แถลงว่า ได้กักตัวผู้โดยสารที่มีอาการคล้ายกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอีโบล่าเอาไว้ และกำลังรอผลการทดสอบว่า ติดเชื้อไวรัสมรณะเขตร้อนชนิดนี้หรือไม่ โดยขณะนี้ ยังอยู่ในกรณีต้องสงสัย แต่ได้มีการเก็บตัวอย่างไปจากผู้ป่วย และกำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์

นับเป็นผู้โดยสารคนแรกที่เข้ารับการทดสอบหาเชื้อไวรัสอีโบล่าในแอฟริกาตะวันออก ในขณะที่ไวรัสนี้ กำลังแพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตก แต่อูกันดา เคยมีประวัติเผชิญการระบาดของอีโบล่า ในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดเมื่อปี 2555

หนังสือพิมพ์เดลี่ มอนิเตอร์ ของอูกันดา รายงานอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สนามบินว่า ผู้ป่วยรายนี้ ถูกกักตัวในขณะที่เดินทางถึงสนามบินหลักเอ็นเท็บเบ้ ของอูกันดา และแสดงอาการว่ามีไข้ โดยชายผู้นี้ทำงานที่ซูดานใต้ ซึ่งไม่มีรายงานการระบาดของไวรัสอีโบล่า

เอเชียตื่นตัว-ตรวจเข้มอีโบล่า

หลายชาติในเอเชีย เริ่มสแกนผู้โดยสารด้วยอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน และตั้งหน่วยแพทย์ในสนามบิน เพื่อคัดครองผู้ที่อาจได้รับเชื้ออีโบล่า หวังหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายดังกล่าวเข้ามาในประเทศ หลังไวรัสมรณะนี้ คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 1,000 รายในแอฟริกาตะวันตก

ประเทศที่มีการระบาดอย่างหนักได้แก่ กินี ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียราลีโอน กำลังต่อสู้อย่างหนักกับไวรัสอีโบล่า ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 90% และขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนหรือยาใดสามารถรักษาได้

ด้านองค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศให้ การแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าวในแอฟริกาตะวันตกเป็นภาวะฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อดังกล่าวในทวีปเอเชียแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่มีประสบการณ์จากการระบาดของไวรัสมรณะ อย่าง โรคไข้หวัดนก และ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ซาร์ส ที่ระบาดหลายปีก่อน ให้ความมั่นใจว่า เตรียมใช้มาตรการเดียวกับการระบาดที่ผ่านมาหลายครั้งสำหรับคัดกรองผู้โดยสาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดครั้งนี้

นอกจากการใช้กล้องจับความร้อนอินฟราเรด คัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินที่มีไข้สูงแล้ว มาตรการดังกล่าว ยังรวมไปถึงการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ขณะที่ หลายประเทศแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด

นายทาริก จาซาเรวิค โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มาตรการป้องกันของชาติในเอเชีย มีความเหมาะสม และประเมินว่า ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดข้ามพรมแดนยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเอเชียยังปลอดภัยจากโรคนี้