เปิดใจ'อัญชะลี'ชีวิตในค่ายทหาร

เปิดใจ'อัญชะลี'ชีวิตในค่ายทหาร

เปิดใจ "อัญชะลี ไพรีรักษ์" ชีวิตในค่ายทหารหลัง คสช.ยึดอำนาจ

ประเด็นที่ผู้คนสนใจกันมากที่สุดประเด็นหนึ่ง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา คือ บุคคลถูกเรียกไปรายงานตัวกว่า 200 คนนั้น บางส่วนถูกควบคุมตัวเอาไว้ พวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไร และการดำรงชีวิตระหว่างถูกกักบริเวณมีความสุขสบายตามอัตภาพหรือไม่

สาเหตุที่เสียงถามไถ่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก็เพราะคนที่ถูกควบคุมตัวส่วนหนึ่งอยู่ในระดับ "เซเลบ" คือ เป็นแกนนำเบอร์ต้นๆ ของมวลชนสีเสื้อ ทั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

หลายคนในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว โดยหนึ่งในนั้นคือ อัญชะลี ไพรีรักษ์ แกนนำและโฆษกหญิงบนเวที กปปส.

ช่วงเวลาที่หายไปอยู่ในค่ายทหารของเธอเป็นอย่างไรบ้าง...เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

ตอนที่มีการรัฐประหาร ทำอะไรอยู่ที่ไหน?

วันนั้น (22 พ.ค.) เดินทางไปศาล เป็นคดีความสมัยที่ร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยไปกับ คุณอมร อมรรัตนานนท์ (รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี) เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ (แกนนำพธม.) และมีเพื่อนที่เป็นหมอไปด้วยเพื่อเตรียมช่วยประกันตัว ซึ่งเมื่อทำทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงแวะไปรักษาฟัน ก่อนจะกลับเข้าราชดำเนิน (ขณะนั้นยังมีการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน)

ขณะที่ทำฟันอยู่ คุณหมอเปิดวิทยุไว้ และได้ยินเพลงปลุกใจ ยังสังหรณ์ว่าจะมีการรัฐประหารหรือเปล่า พอทำฟันเสร็จมีการประกาศว่ารัฐประหารแล้ว จึงรีบหาทางเข้าราชดำเนิน แต่เข้าไม่ได้สักทาง เพราะมีการปิดกั้นเส้นทางทั้งหมด ก็เลยขึ้นทางด่วนจากแถวสามย่าน ตรงไปแถวเชียงราก และไปตั้งหลักกันอยู่ในโรงแรมม่านรูดแห่งหนึ่ง (หัวเราะ)

ช่วงนั้นก็พยายามหาข่าวดู รวมทั้งติดต่อแกนนำกับทีมงานคนอื่นๆ ตลอดเวลา ทำให้คืนนั้นทั้งคืนไม่ได้นอนเลย จนสามารถติดต่อน้องทีมงานคนหนึ่งได้ ซึ่งทางน้องทีมงานบอกว่าให้อยู่ที่โรงแรมไปก่อน เพราะตอนนี้เวทีปิดแล้ว และกำลังให้มวลชนทยอยออกจากพื้นที่ จนช่วงเช้ามืด (23 พ.ค.) จึงได้กลับไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จึงได้ทันส่งมวลชนที่มาจากต่างจังหวัดกลับบ้าน และเข้าไปดูเวทีที่กำลังถูกรื้อ จนเวลา 09.00 น. คสช.ได้ประกาศเรียกเข้าไปรายงานตัว

บรรยากาศตอนรายงานตัวเป็นอย่างไร?

เมื่อเข้าไปถึงหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในรอบนั้นมีคนสำคัญฝ่ายรัฐบาลมาหลายคน เช่น อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ (ปลัดสำนักนายกฯ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (อดีตนายกฯ) เป็นต้น จนเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ถึงเวลา 14.00 น. ระหว่างนั้นก็นั่งกันเฉยๆ ในกลุ่มแกนนำ กปปส.ที่ถูกเรียก จนมีนายทหารเข้ามากล่าวว่า หากสงสัยอะไรเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ขอให้สอบถามจากผู้ดูแลประจำกลุ่ม

ด้วยความที่เราเคยเป็นนักข่าว สัญชาตญาณมันบอกได้เลยว่าเราไม่ได้กลับออกไปอย่างแน่นอน ทำให้เกิดความอลหม่านจากฝั่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย จากนั้นมีการประกาศเรียกชื่อแต่ละคน แบ่งกลุ่มๆ 5-7 คน จนใบประกาศเริ่มเยอะขึ้นๆ จึงได้ไปช่วยทหารประกาศเรียกชื่อ กลายเป็นโฆษกกองทัพบกชั่วคราว (หัวเราะ) พอมาถึงชื่อตัวเองจึงหยุดอ่านแล้วก็เดินออกจากห้องประชุมไป ขึ้นรถตู้ที่ทหารจัดเตรียมไว้ และเป็นความซวย เพราะรถตู้ของเราดันแอร์เสีย ในรถคันนี้มีเรากับ อาจารย์เสรี วงษ์มณฑา นั่งกันไป

จากนั้นทหารบนรถได้รับคำสั่งผ่านทางโทรศัพท์ และออกรถตามขบวนรถตู้ โดยมีรถยีเอ็มซีปิดท้ายขบวน จากนั้นก็ขับไปตามทางที่จะไปอยุธยา และมีเหตุการณ์ตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะพลขับเขาไม่ชำนาญเส้นทาง คงเป็นหน่วยจากต่างจังหวัดเข้าปฏิบัติงาน ทำให้รถเราหายไปจากขบวน ซึ่งพลขับและทหารบนรถค่อนข้างตื่นเต้น เพราะหลงทาง เราก็แนะนำให้เขาหาสถานที่ที่จะไปจากจีพีเอส กระทั่งหาเจอ ทหารเขาขับรถย้อนศรกลับมา แล้วคิดดู...แถววังน้อย รถสิบล้อ รถทั่วไปเยอะจะตาย ทหารเข้าก็โบกมือไล่จนไปถึงที่หมายได้

แล้วความเป็นอยู่ในขณะถูกกักตัวเป็นอย่างไรบ้าง?

เข้าแบ่งบ้านเป็น 4 หลัง ซึ่งเพิ่งได้รับการทำความสะอาดก่อนที่จะพาแกนนำไปคุมตัวประมาณ 2 ชั่วโมงเอง และบ้านไม่ได้เปิดใช้มานานแล้ว เป็นบ้านกักบริเวณ 4 หลัง เรียกว่า บ้าน 1 บ้าน 2 บ้าน 3 บ้าน 4 มีทุ่งนาสวยมาก มีบ่อปลาขนาดใหญ่ ภายในบ้านมี 3 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ทั้งอับทั้งชื้น เขามอบชุดอาบน้ำ สบู่ยาสีฟัน และเครื่องแต่งกายให้เปลี่ยน มุ้ง หมอน และให้กระดาษเพื่อจดว่าให้ติดต่อญาติคนไหน อย่างไร ต้องการอะไรเพิ่มเติม

การนำตัวไปคุมที่วังน้อยนี้ เป็นการนำแกนนำทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย กปปส. คปท. (เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย) ไปอยู่รวมกัน โดยฝั่ง กปปส. ก็มีตัวเราเอง มี พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ อาจารย์เสรี พี่นกเขา (นายนิติธร ล้ำเหลือ) ณัฐพล-ทยา ทีปสุวรรณ พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ สุริยะใส กตะศิลา และลูกหมี ชุมพล จุลใส

ทหารได้พยายามสร้างความสมานฉันท์ โดยจัดโต๊ะให้ทานข้าวร่วมกัน แต่ กปปส.ขอแยกมากินกันเอง และไม่ยอมคุยกับทางเพื่อไทย แต่ก็มีความพยายามของทางฝ่ายเพื่อไทย คุณปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข สั่งอาหารมาเพิ่ม และชวนพวกเราไปกินร่วมกัน ดร.อำพน (กิตติอำพน) พยายามคุยกับเราอย่างมาก แต่ที่ขำขันที่สุดคือ คุณวรพงษ์ ตันติเวชยานนท์ (รองประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ) ไม่มีคนฝ่ายเพื่อไทยรู้จักสักคน เลยไม่รู้จะคุยกับใคร จึงได้มาคุยกับพวกเราตลอด (หัวเราะ)

วันแรกที่ไปถึงก็จัดการกางมุ้ง มีทหารมาช่วย เพราะเรากางกันไม่เป็น พวกบ้านพรรคเพื่อไทยตอนหลังมีสั่งแอร์เข้ามาติดด้วย เพราะมันร้อนจริงๆ พอถึงเวลาไปอาบน้ำมีความลำบากเล็กน้อย เพราะไม่มีชุดเปลี่ยน แต่ก็ได้นายทหารคนหนึ่งเอาชุดภรรยามาให้ จากนั้นก็มีการขอให้ทหารช่วยไปซื้อชุดชั้นในกระดาษ ทั้งของหญิง-ชายมาให้ แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ อาจารย์เสรี เริ่มปวด เพราะเป็นเบาหวาน พอติดต่อญาติได้ก็มีการขอสิ่งของต่างๆ เพิ่ม ทั้งยาเบาหวานของอาจารย์เสรี และสั่งพัดลมไอน้ำเข้ามาใช้

ชีวิตประจำวันก็ไม่มีอะไร อาจารย์เสรีกับ พล.อ.ปรีชา เป็นผู้ใหญ่สุดในกลุ่ม จะตื่นเช้ากว่าใคร ก็จะพากันไปนั่งคุยกันตามประสาที่ใต้ต้นไม้หน้าบ้าน และเล่าเรื่องชีวิตที่ผ่านมาให้กันฟัง ส่วนพี่นกเขาก็ออกกำลังกายทุกเช้า เราก็ให้ทหารไปซื้อหนังสือพิมพ์มาให้อ่าน แต่บ้านพวกเพื่อไทยเริ่มทะเลาะกัน (หัวเราะ) จนมีคนบอกนกเขามองอยู่ เขาจึงปิดบ้านเงียบ ก็มีการพูดคุยกับคุณทยาในเวลากลางคืน เพราะวันที่ถูกคุมตัวเป็นวันเกิดลูกของเขา และพวกเราไม่ได้สบายเลย ทหารดูแลเท่าเทียมกันหมด