แห่ร้องสคบ.แบงก์ตัดสินเชื่อ เหตุติดรถคันแรก

แห่ร้องสคบ.แบงก์ตัดสินเชื่อ เหตุติดรถคันแรก

สคบ.เผยซื้ออสังหาริมทรัพย์-รถยนต์คันแรก แชมป์ร้องเรียนมากที่สุด ประชาชนแห่ร้องเรียนผ่อนชำระรถคันแรก ส่งผลทำให้กู้ซื้อสินทรัพย์ไม่ได้

นโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 2555 ที่ต้องการให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีรถยนต์ใช้ เพราะมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตยุคใหม่ นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบด้านอื่นๆ ไม่เพียงแต่สภาพการจราจรและการใช้น้ำมันของประเทศ แต่ยังกระทบต่อฐานะเครดิตของผู้ซื้อในกรณีที่ผ่อนชำระ

กรณีผู้ซื้อรถยนต์คันแรกด้วยวิธีผ่อนชำระกับไฟแนนซ์ จะทำให้ความสามารถกู้ซื้อสินทรัพย์ประเภทอื่นได้น้อยลง เนื่องจากสถาบันการเงินมีการตรวจสอบว่า ลูกค้ามีหนี้สินอยู่เท่าไร จากนั้นจะมีคำนวณความสามารถในการกู้ได้จริง เมื่อมีการหักภาระเงินกู้จากรถยนต์คันแรก ส่งผลให้รายได้ของลูกค้ามีไม่พอกับการซื้อสินทรัพย์อื่น

ทั้งนี้ เกณฑ์การใช้สิทธิรถยนต์คันแรก ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติทางการเงินของผู้ซื้อ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละไฟแนนซ์ เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขกว้างๆ ว่าอายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี และไม่เคยมีรถยนต์มาก่อน โดยหลังสิ้นสุดโครงการในปี 2555 มียอดคนขอเข้าโครงการกว่าล้านราย

แห่ร้อง สคบ. ซื้ออสังหาฯ-ซื้อรถ

นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยอมรับว่า ปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภค ที่เกี่ยวกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ และการซื้อรถยนต์ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนมายัง สคบ. มากที่สุด

“นโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนไม่ประมาณการจนทำให้มีค่าใช้จ่ายเกินตัว ปัญหาที่ สคบ. พบคือ เมื่อประชาชนเฮโลไปจองรถยนต์คันแรก ทำให้เกิดภาระผูกพันตามมา ดังนั้นเมื่อมีการกู้ไปใช้ในเรื่องอื่น เช่น เรื่องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้ธนาคารลดความน่าเชื่อถือลง หรืออาจจะไม่ปล่อยกู้ตามเป้าหมายที่วางไว้เดิม เนื่องจากทางธนาคารพบข้อมูลว่าประชาชนที่เป็นผู้บริโภคมีภาระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงหลังยังมีปัญหาตามมา อย่างเช่น ธนาคารที่ปล่อยกู้จำนวนมาก ก็พบปัญหาเรื่องความเสี่ยงสูง และผู้ประกอบการผลิตรถออกมาจำนวนมากแต่ขายไม่ได้ตามเป้า” เลขาธิการ สคบ. กล่าว

นายอำพล กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาที่มาจากนโยบายรถยนต์คันแรก เนื่องจากนโยบายนี้ทำให้ผู้บริโภคไม่มีศักยภาพ บางรายธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการหรือผู้ขายรถยนต์หวังแต่ปริมาณยอดขายให้ได้จำนวนมากโดยไม่มีการตรวจสอบผู้บริโภค โดยปล่อยให้มีการจองรถหรือดาวน์รถไว้ก่อน พอสุดท้ายผู้บริโภคซื้อไม่ได้ ขณะที่การซื้อรถมือสองก็มีปัญหาเรื่องการติดจำนองของเจ้าของรถเดิมทำให้ไม่สามารถโอนรถได้

อสังหาฯ แชมป์ถูกร้องเรียน

นายอำพล กล่าวว่า จากข้อมูลการร้องเรียนผู้บริโภคในช่วงปี 2556 พบว่ามีการร้องเรียนกว่า 10,000 เรื่อง โดยการซื้ออสังหาริมทรัพย์มีการร้องเรียนมากที่สุด คือประมาณ 1,300 เรื่อง ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านจัดสรร อาคารชุด และ คอนโดมิเนียม ส่วนอันดับรองลงมา คือ การซื้อรถยนต์ กว่า 900 เรื่อง

ปัญหาที่พบเกี่ยวการซื้อบ้านจัดสรรและการซื้ออาคารชุด จะมีลักษณะคล้ายกัน ส่วนที่เป็นปัญหาของผู้บริโภค คือ มีปัญหากับทางธนาคาร เช่น เมื่อมีการจ่ายเงินดาวน์ไปแล้ว แต่ธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ หรือไม่ธนาคารก็ลดเปอร์เซ็นต์การให้กู้ หรือไม่สามารถผ่อนชำระต่อไปได้

ทั้งนี้ เนื่องจากติดปัญหาที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการกู้เงินไปแล้ว เช่น โครงการรถยนต์คันแรก เมื่อไม่สามารถกู้เงินกับธนาคารได้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการโอนตามมา หรือการขอคืนเงินดาวน์จากโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ไปซื้อไว้ เพราะไม่สามารถโอนได้

ส่วนปัญหาของการซื้อคอนโดมิเนียม เรื่องร้องเรียนเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของตัวอาคารมีการร้าวและทรุดตัวลง เนื่องจากการก่อส้รางไม่ดี ปัญหาเรื่องคุณลักษณะของคอนโดมิเนียมไม่ตรงกับที่มีการโฆษณาไว้

"การร้องเรียนของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ พบว่า 70% เป็นโครงการในพื้นที่กทม.และปริมณฑล เป็นเรื่องบ้าน อาคารที่ร้าวและทรุดตัว ผมได้ลงไปตรวจเอง ที่พบคืออย่างเข็มที่ตอกเสาบ้านหายไปช่วงน้ำท่วม ซึ่งก็ไม่เป็นความผิดของโครงการ แต่หากอยู่ในช่วงประกันทางเจ้าของโครงการต้องแก้ไข ดังนั้น ที่ผ่านมา สคบ.จึงทำหน้าที่เป็นคนกลาง เพื่อให้มีการเจรจา ระหว่างผู้บริโภคกับเจ้าของโครงการ ขณะที่แนวโน้มการเจรจาดูเหมือนว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ" นายอำพล กล่าว

สคบ. เตรียมส่งทีมสอบระหว่างก่อสร้าง

เลขาธิการ สคบ. กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวที่ตรวจพบ จึงให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่ของ สคบ. ไปว่า ต่อไปการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานสัญญา ต้องดำเนินการแบบป้องปราม ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา โดยทาง สคบ. จะสุ่มตรวจโครงการ ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร หรือ อาคารชุด ระหว่างที่ยังมีการก่อสร้างไม่เสร็จว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามโฆษณา ตามพิมพ์เขียว รวมถึงตามสเปคที่ออกแบบไว้หรือไม่ โดยที่ สคบ.จะต้องแจ้งให้เจ้าของโครงการทราบล่วงหน้า

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องปราม และเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้มาก อีกทั้งยังจะทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัว เพราะเกรงว่าจะถูกตรวจสอบ ดังนั้น จะจงใจ หรือเจตนา จะเบี้ยวกับผู้บริโภคไม่ได้