พลังออกซิเจนเยียวยาเซลล์สมอง

พลังออกซิเจนเยียวยาเซลล์สมอง

อีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาออทิสติกในเด็ก โดยการหายใจด้วยออกซิเจน100%

“ออทิสติกพบได้ในเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียน หรือช่วงก่อน 3 ขวบ ส่วนใหญ่มาด้วยปัญหาไม่พูดเมื่อถึงเกณฑ์ ซึ่งคือช่วงวัย 1 ขวบ หรือเคยพูดได้แล้วอยู่ๆ หยุดพูดไป มีอาการพูดซ้ำๆ ทวนคำ ทวนประโยคไปมา พูดภาษาแปลกๆ ไม่มีความหมายที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าใจ” นพ.ชลภัฏ จาตุรงคกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์พัฒนาการเด็กกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายถึงอาการออทิสติกในเด็ก

นอกจากนี้ ผู้ปกครองจะพาลูกมาตรวจ จากการที่คุณครูสังเกตพบพฤติกรรมการไม่เข้าสังคม เด็กจะไม่ชอบเข้ากลุ่ม ชอบเล่นคนเดียว ชอบทำอะไรซ้ำๆ ต้องนั่งเก้าอี้ตัวเดิม ถอดรองเท้าวางที่เดิมทุกวัน คับข้องใจง่าย ไม่มีความยืดหยุ่นและไม่สามารถอดทนรับการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีเดิมๆ ที่เคยชิน เดินเขย่ง สะบัดมือ ทุบศีรษะตัวเอง เอาศีรษะโขกกำแพง

อาการผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบร่วมได้ในเด็กทารก เช่น ไม่แสดงออกทางสีหน้า ไม่มองตามเมื่ออายุ 3 เดือน ไม่หันตามเสียงเมื่ออายุ 6 เดือน ร้องน้อยกว่าปกติ แต่ทั้งนี้ การวินิจฉัยของแพทย์จะดูจากพฤติกรรมที่บกพร่อง 3 ด้านเป็นหลัก

สำหรับการรักษา นพ.ชลภัฏ กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปกลไกของโรคได้ชัดเจน ดังนั้น วิธีการรักษาจะเป็นการประเมินตัวเด็กและความผิดปกติในด้านต่างๆ ที่จะแตกต่างกันไปในเด็กออทิสติกแต่ละคน รวมถึงความต้องการของผู้ปกครองในการปรับพฤติกรรม เสริมพัฒนาการและทักษะด้านที่จำเป็นในการใช้ชีวิตต่อไป

“การรักษาจะมี 2 แบบคือ แบบดั้งเดิมที่เน้นการฝึกพัฒนาการของร่างกาย การพูด ระบบประสาท และการรักษาเสริม เช่น ดนตรีบำบัด ขี่ม้าบำบัด การฝังเข็ม อาหารเสริมและออกซิเจนบำบัด ซึ่งเป็นการเติมออกซิเจนผ่านการหายใจในห้องแรงดันอากาศสูง ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายรวมถึงสมองได้รับออกซิเจนในปริมาณที่สูงกว่าการหายใจปกติ

“การหายใจด้วยออกซิเจน 100% ในห้องปรับบรรยากาศ HBO จะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในเลือดแดงสูงขึ้น จึงส่งไปเลี้ยงเซลล์สมองและอวัยวะส่วนปลายได้ทั่วถึงยิ่งกว่าเมื่อเทียบกับในภาวะปกติ” คุณหมออธิบาย

ต้นเหตุประการหนึ่งของการเกิดออทิสติกคือ ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองน้อยกว่าปกติ การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำให้สมองของเด็กออทิสติกหลายส่วนทำงานดีขึ้น ถือเป็นการรักษาทางเลือกหนึ่งที่อาจจะช่วยแก้ให้ภาวะออทิสติกดีขึ้น

อย่างไรก็ดี นพ.ชลภัฏย้ำว่า ขณะบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูง ผู้ป่วยต้องปรับความดันอากาศที่มีอยู่ในร่างกายให้สมดุลกับภายนอก ภาวะบางอย่าง เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ไซนัส และหู อาจทำให้ผู้ป่วยปรับความดันได้ไม่ดี จึงต้องผ่านการตรวจประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการรักษา ผู้ป่วยโรคปอดหรือบาดเจ็บที่ปอดหรือเคยได้รับบาดเจ็บที่ปอดและมีอากาศค้างอยู่นอกถุงลม จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจเอกซเรย์ปอดและตรวจรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับออกซิเจนบำบัด

ออกซิเจนบำบัด คืออะไร

การใช้เครื่องให้ออกซิเจนแรงดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy หรือ HBO) เป็นการรักษาแบบทางเลือกที่นำมาใช้ผสมผสานกับการรักษาแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง โดยการให้ผู้ป่วยหายใจออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ในขณะอยู่ในภายในห้องเพิ่มความกดดันให้สูงกว่าบรรยากาศปกติที่ผิวโลก

แพทย์จะเริ่มจากการตรวจประเมินความพร้อมของร่างกาย จากนั้นจึงให้เข้ารับการรักษาโดยออกซิเจนบำบัด ใช้เวลารอบละ 60 นาที เข้ารับการรักษาได้ 2 รอบต่อวัน นพ.ชลภัฏ เสริมว่า ในเคสที่ตอบสนองต่อการรักษา การเปลี่ยนแปลงมักเริ่มพบหลังจากรอบที่ 10 เป็นต้นไป แต่ในการรักษาระดับหวังผลต้อง 40 รอบขึ้นไป และหลังจากเสร็จสิ้นการรักษาในแต่ละวัน ผู้รับการรักษาสามารถกลับบ้านได้ทันที

ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ หูอื้อ ปวดหู หรือ ไซนัส เกิดจากผู้ป่วยปรับความดันในโพรงอากาศในอวัยวะเหล่านี้ได้ไม่ดี พบได้ 2 % ส่วนอาการเป็นพิษของออกซิเจน จะเกิดเมื่อใช้ความดันสูงเกินกว่า 3 บรรยากาศ การรักษาในเด็กออทิสติกใช้ความดันไม่เกิน 1.5 บรรยากาศ ดังนั้น การรักษาและการปฏิบัติตัวที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ พยาบาลเฉพาะทาง เพื่อให้สามารถควบคุมอัตราการเกิดผลข้างเคียงได้