เพื่อนบ้านเมียนมา ต้องหยุดความสูญเสีย

เพื่อนบ้านเมียนมา ต้องหยุดความสูญเสีย

การรัฐประหารในเมียนมาที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 1 ก.พ.2564 ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 500 ราย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่อาจทำให้ได้แค่สังเกตการณ์ ทุกประเทศต้องร่วมมือในการแก้วิกฤติครั้งนี้เพื่อเข้าไปหยุดความสูญเสีย

รัฐประหารในประเทศเมียนมาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 มาวันนี้ ประเด็นการจับกุมนางอองซาน ซูจี กับการเล่นงานคณะผู้บริหารรัฐบาลนางอองซาน ไม่อาจเทียบกับความสูญเสียของชาวเมียนมา ที่มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 500 ราย เฉพาะวันเสาร์ที่ผ่านมา 140 ราย ซึ่งเสียชีวิตจากการปะทะในเป็นวันครบรอบการสถาปนากองทัพเมียนมาเป็นปีที่ 76 ล่าสุดวานนี้ (30 มี.ค.) มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 10-20 ราย ผลจากรัฐบาลทหาร ยังคงเดินหน้าใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ปราบปรามผู้ประท้วงโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดหย่อน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราเห็นว่าแต่ละประเทศไม่อาจทำได้แค่สังเกตการณ์ ความล่าช้าอาจกระพือเพลิงอำมหิตลุกโชนเป็นสงครามกลางเมือง ลามไปเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยที่กำลังลุกฮือต่อต้านเป็นแนวร่วมม็อบ โลกจะหยุดยั้งไม่ให้ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่อาจช่วยแก้ไข เพราะวันนี้อาจจะไร้สติ ดังนั้นรัฐบาลทุกประเทศต้องร่วมมือในการแก้วิกฤติครั้งนี้ อาจใช้วิธีเจรจาเป็นลำดับขั้นจากเบาไปหาหนัก กดดันด้วยการแซงค์ชั่น หรือหากวิธีการที่เด็ดขาด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

เราเห็นว่า เพื่อสร้างการยอมรับ คนกลางหรือหน่วยงานกลางต้องได้รับการยอมรับ ได้แก่ องค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เหมาะสมในการหยุดเข้าไปหยุดความสูญเสีย อย่างน้อยในแง่ผลประโยชน์หรือวาระซ่อนเร้นของยูเอ็นน้อยกว่าประเทศมหาอำนาจ หรือบางประเทศที่หวังผลประโยชน์ ส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองและเศรษฐกิจ เรายังเห็นว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นองค์กรที่ต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนมากกว่านี้ ในสถานการณ์ที่วิกฤตมีแนวโน้มบานปลาย

การที่ประชาคมอาเซียนยังคงสงบนิ่งกับปัญหา ทั้งๆ ที่ปัญหามีโอกาสสูงที่ลุกลามขยายวง สุดท้ายอาจสายเกินแก้ กลายเป็นปัญหาของทั้งอาเซียน เราขอเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนซึ่งรู้ปัญหาในเมียนมามากกว่าหน่วยงานในภูมิภาคอื่น วันนี้ต้องตื่นตัวตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกันหาทางดำเนินนโยบายที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อหยุดความสูญเสีย หรือหาวิธีการที่ทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด ยึดความปลอดภัยในชีวิตประชาชนเป็นหลัก ความจริงใจคือหัวใจสำคัญ

สำหรับประเทศไทยยิ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งในแง่ประเทศที่มีชายแดนติดต่อกันมากที่สุด ทั้งในสายตานานาชาติที่มองไทยเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีที่สุดกับเมียนมา โดยเฉพาะรัฐต่อรัฐในปัจจุบัน ผลกระทบย่อมมากที่สุด ส่วนจะเป็นเชิงบวกหรือลบยังเป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับผู้นำและนโยบายรัฐบาลในการรับมือและจัดการกับเผือกร้อนครั้งนี้ อย่าแค่ทำให้คนไทยเชื่อถึงความจริงใจในการหาทางออกที่ดีที่สุด ยังต้องแสดงให้ต่างชาติเห็นการยึดหลักมนุษยธรรมและทำการเมืองที่ไม่เป็นเผด็จการ ต้องหาจุดสมดุลในเวทีโลก ถ้าทำได้จะสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ส่วนคนไทยก็ต้องช่วยกัน อย่าเผาบ้านตัวเองหรือเป็นไส้ศึกให้ชาติมหาอำนาจ เข้ามาสวมรอย