เปิด 10 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยพาเหรดติดลบฉุดส่งออกเดือนมี.ค.ทรุด

เปิด 10 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยพาเหรดติดลบฉุดส่งออกเดือนมี.ค.ทรุด

ส่งออกมี.ค.ร่วงแรง ลบ 10.9% ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน พบส่งออกไป 10 ตลาดสำคัญของไทยติดลบถ้วนหน้า ยกเว้นตลาดสหรัฐ ทวีปออสเตรเลียและกลุ่มประเทศ CLMV ยังเป็นบวก จับตา ผลไม้ช่วยชาติ เดือนเม.ย.ดันตัวเลขส่งออกไทยกลับเป็นบวกอีกครั้ง

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย หรือการ ส่งออก มี.ค. 67 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% จากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนและขยายตัวต่ำ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่

อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อ ปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้สภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุปทานของสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้าทั้งนี้ การส่งออกไทยไตรมาสแรกของปี 2567 ติดลบ 0.2 %

การส่งออกในเดือนมี.ค.ที่ติดลบ 10.9% ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แม้การติดลบจะมาจากฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้ถึง 28,004.2 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อเจาะลึกการส่งออกในตลาดสำคัญที่เป็นประเทศคู่ค้าของไทยก็พบว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยติดลบถ้วนหน้า ยกเว้นตลาดสหรัฐที่ขยายตัว 2.5 % เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน  ทวีปออสเตรเลียขยายตัว 13.5 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เช่นกันและกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว 0.5 % ต่อเนื่อง 3 เดือน

เปิด 10 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยพาเหรดติดลบฉุดส่งออกเดือนมี.ค.ทรุด

โดยตลาดสำคัญของไทยในเดือนมี.ค.ที่ติดลบล้วนเป็นตลาดสำคัญและเป็นตลาดใหญ่ของไทยทั้งสิ้น  ได้แก่

ตลาดจีน  ติดลบ  9.7 %   สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

ตลาดญี่ปุ่น ติดลบ  19.3 % สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไก่แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้นตลาดสหภาพยุโรป (27) ติดลบ 0.1 %  โดยกลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน  สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

ตลาดอาเซียน (5) ติดลบ  26.1 %   สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ตลาดเอเชียใต้ ติดลบ 6.1%   สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ตลาดตะวันออกกลาง ติดลบ  7.3 %    สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และข้าว เป็นต้น

ตลาดแอฟริกา ติดลบ  11.9   สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น

ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาติดลบ  10.2 %  สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ติดลบ  14.2%  กลับมาติดลบในรอบ 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

ตลาดสหราชอาณาจักร ติดลบ  19.3%    สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถจักรยานยนต์และและส่วนประกอบ รถปิคอัพ รถบัสและรถบรรทุก และยางยานพาหนะ เป็นต้น

เปิด 10 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยพาเหรดติดลบฉุดส่งออกเดือนมี.ค.ทรุด

ากข้อมูลการส่งออกไปยังตลาดสำคัญของไทยส่วนใหญ่ติดลบ จึงไม่แปลกที่การส่งออกในเดือน มี.ค.จะติดลบสูงถึง 10.9 % รวมทั้งการส่งออกผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนที่ล่าช้าออกไป 1 เดือนจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดช้าจากสภาพอากาศร้อน ส่ผลให้ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.ลดลง อย่างไรก็ตามในเดือนเม.ย.ทางกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่า การส่งออกไทยจะกลับมาบวกอีกครั้ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ ที่ขณะนี้กำลังออกสู่ตลาด 

ล่าสุด 2 รัฐมนตรีพาณิชย์ “นายภูมิธรรม เวชชชัย ”นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้นำทีมพาณิชย์เดินทางไปยังประเทศจีนและเวียดนาม เพื่อพบปะผู้บริหารด่าน

โดยนายภูมิธรรม ได้เดินทางไปสำรวจ “ด่านบ่อเต็น” สปป.ลาว และ “ด่านโม่ฮาน” ของจีน  ขณะที่ นายนภินทร เดินทางไปสำรวจ “ด่านสากลหูหงิ” ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่รถขนส่งผลไม้จากไทยมาใช้บริการก่อนที่จะเข้าสู่ “ด่านโหย่วอี้กวน” ของจีน และ “ด่านรถไฟด่งดัง” ซึ่งเป็นด่านที่เชื่อมต่อไปยัง “ด่านรถไฟผิงเสียง” ของจีน  ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางสะดวกในการขนส่งผลไม้เข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีปัญหา ซึ่งตลาดจีนถือเป็นตลาดใหญ่สุดของ “ผลไม้สด” คือ จีน มีสัดส่วนการส่งออกถึง 91%

ทั้งกระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกและภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่า หลังจากผลไม้ไทยออกสู่ตลาดแล้วจะดันตัวเลขการส่งออกของไทยกลับมาเป็นบวกได้มากน้อยแค่ไหน