วิกฤติที่แสนคิดถึง

วิกฤติที่แสนคิดถึง

มีคำกล่าวในหมู่นักลงทุนว่า วิกฤติมักเกิดขึ้นทุกสิบปี หมายถึงการเกิดวิกฤติการณ์บางอย่างที่ส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์อย่างรุนแรง ในช่วง 2-3 ปีหลัง ซึ่งเป็นเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษหลังวิกฤติการเงิน ปี 2008 หลายคนจึงตั้งคำถามขึ้นมาอีกครั้งว่า วิกฤติจะมาเมื่อไร?

และแล้วก็มีทีท่าว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือ “โคโรน่าไวรัส” อาจ เป็น “คำตอบสุดท้าย” ต่อคำถามดังกล่าว เห็นได้จากดัชนีทั่วโลกที่ดิ่งลงเหวกันเละเทะ ผมจึงอยากฝากข้อคิดสั้นๆ ให้ท่านปรับไปใช้กับการลงทุน ดังนี้ครับ

1) เขียน Wish List ของคุณไว้ ระบุให้ชัดว่าเล็งหุ้นตัวไหนไว้บ้าง หากราคาตกลงมาถึงเท่าไร จะซื้อเป็นจำนวนเท่าไร รวมแล้วมีงบสำหรับหุ้นตัวนี้เท่าไร เป็น สัดส่วนเท่าไรของพอร์ท ลองร่างภาพรวมของพอร์ทที่ต้องการออกมาเลยยิ่งดี

2) เตรียมกระสุน หากคุณมีเงินสด จงเตรียมไว้ให้พร้อม แต่หากไม่มี และจำเป็นต้องขายหุ้นที่มีเพื่อเอาไปซื้อตัวอื่น ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าหุ้นตัวไหนมีโอกาสเติบโต น้อยที่สุด แล้วขายตัวนั้น

3) อย่าพยายามหาจุดต่ำสุด คุณไม่มีทางรู้ว่าก้นเหวอยู่ที่ไหน อย่าพยายามหา เชื่อเถอะว่า “ไม่มีใครรู้หรอก”

4) ดูหุ้นเป็นรายตัว หากจะลงทุนในหุ้นตัวไหน ให้ศึกษาพื้นฐานของกิจการ และจับตาความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวนั้นๆ อย่ารอจนวันที่หุ้นตกทั้งตลาดแล้วซื้อสะเปะสะปะ

5) ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ อย่าคิดว่า หุ้นตัวหนึ่งๆ ไม่มีทางตกลงไปมากกว่าจุดนั้นจุดนี้ ในเวลาวิกฤติ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ

6) อย่าหลงไปกับการรีบาวด์ เวลาหุ้นถูกกดให้ต่ำลงมาเรื่อยๆ พอมีข่าวดีเพียงเล็กน้อย มันจะดีดกลับขึ้นแรงมาก ซึ่งไม่ได้แปลว่าวิกฤติผ่านไปแล้ว และบางครั้งอาจ เกิด “Head & Shoulders Pattern” คือตกถึงจุดหนึ่งแล้วก็หันหัวกลับขึ้นต่อ เนื่องหลายสัปดาห์ หลายคนนึกว่า “คราวนี้ของจริง” จึงโดดเข้าไปซื้อ แล้วดัชนี ก็ตกหนักอีกครั้ง ดังนั้นอย่าเพิ่งทุ่มสุดตัว แต่จงดูให้ดีก่อน

7) ซื้อแล้วอย่าคิดมาก เราไม่มีทางซื้อ ได้ที่จุดต่ำสุด อย่าอิจฉาใครถ้าเขาซื้อได้ถูกกว่าเรา บั่นทอนจิตใจเปล่าๆ

8) เน้นหุ้นพื้นฐานดีสุดๆ เวลาเช่นนี้ คุณไม่ต้องไปเสี่ยงกับกิจการที่อนาคตไม่แน่นอน เพราะหุ้นพื้นฐานดีมันก็ถูกอยู่แล้ว เมื่อโอกาสทองมาถึงแล้วจะเสี่ยงไป ทำไมเล่า?!

สุดท้าย หากครั้งนี้คือวิกฤติจริง ขอให้ท่านอย่าพลาดโอกาส อย่าหนีไปไหน เพราะมันคือวิกฤติที่เราแสนคิดถึง และรอคอยมายาวนานเหลือเกินมิใช่หรือ?