'ยิ่งลักษณ์'ร้องศาลฯ หวั่นไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้

'ยิ่งลักษณ์'ร้องศาลฯ หวั่นไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้

"ยิ่งลักษณ์" ร้องศาลฎีกานักการเมือง ห่วงไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้ หลังพยานถูก "ป.ป.ช." ตั้งอนุไต่สวน ด้านศาลชี้เป็นอำนาจตรวจสอบตาม กม.

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 16 มิ.ย.60 เวลา 09.30 น. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 12 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 50 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

โดยวันนี้ ทนายความนำพยานเข้าไต่สวนเพียงปากเดียว คือ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะเบิกความในประเด็นการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว และการกำหนดหลักเกณฑ์เพาะปลูกเพื่อเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 10.00 น. ก่อนที่นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวและองค์คณะ จะไต่สวนพยาน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความได้ขออนุญาตศาลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงด้วยวาจา หลังจากยื่นเอกสารร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลกรณีพยานจำนำข้าว ทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการบางราย ถูกอนุ ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหา

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงต่อศาลว่า ที่ผ่านมาไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช.และอัยการโจทก์ ซึ่ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงคลัง พยานโจทก์ที่เคยนำมาไต่สวน ก็เป็นกรรมการ ป.ป.ช.และอนุกรรมการไต่สวน โดยภายหลังพยานฝ่ายจำเลยที่นำมาไต่สวนอย่าง นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง เมื่อเสร็จสิ้นการให้การแล้ว พยานถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริต รวมทั้งนายอดุลย์ ยุววิทยาพานิชย์ ที่ปรึกษารองประธานกรรมการองค์การคลังสินค้าด้านกฎหมาย พยานอีกคนที่จำเลยเตรียมจะนำมาไต่สวนก็เช่นกัน ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.ที่อยู่ในอนุกรรมการไต่สวนคือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ที่เป็นพยานของฝ่ายอัยการ ซึ่งลักษณะคล้ายการข่มขู่พยานดังนั้นจึงขอความเป็นธรรมต่อศาลว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้จะทำให้ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานให้กับตน และเกิดความกังวลว่า หลังจากนี้จะถูกรื้อคดีเพื่อมาเร่งรัดเอาผิด

นายชีพ จุลมนต์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ชี้แจงกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ก่อนการไต่สวนองค์คณะได้รับหนังสือร้องขอความเป็นของจำเลยแล้ว และได้หารือตรวจดูข้อกฎหมายแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายให้ศาลนี้มีอำนาจสั่งการดำเนินการขององค์กรอื่น ซึ่งการตรากฎหมายก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองและสังคมดำเนินการมา โดยการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีศาลจะได้มีคำสั่งเรื่องนี้ในรายงานกระบวนพิจารณาอีกครั้ง

ต่อมา ทนายความได้นำ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อายุ 67 ปี อดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยานให้ศาลไต่สวน โดยยื่นเป็นเอกสารประกอบ 28 หน้า ซึ่งทนายความจำเลย ได้ถามถึงการวางมาตรการเพิ่มผลผลิตชาวนาที่รัฐบาลได้ดำเนินการร่วมโครงการจำนำข้าว

โดยนายยุคล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาทำโซนนิ่งหรือการสำรวจจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกแต่ละพื้นที่เพื่อจะให้เกษตรกรได้ผลผลิตสูงสุด ประกอบการ การทำสมาร์ทฟาร์เมอร์ (smart farmer) เพิ่มองค์ความรู้ให้เกษตรกรในการพัฒนาผลผลิต เช่น เรื่องปุ๋ย เทคโนโลยี โดยการสำรวจพื้นที่เกษตรในประเทศไทย มี 150 ล้านไร่ ในจำนวนนั้นเกษตรกรได้ทำนา 70 ล้านไร่ แต่เมื่อได้มีการสำรวจพื้นที่ที่ดินก็มีการจัดระดับความเหมาะสมในการเพาะปลูก 43 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือกว่า 20 ล้านไร่นั้นอยู่ในระดับเหมาะสมน้อยถึงไม่เหมาะสมซึ่งมีการจัดข้อมูลไว้ว่า ควรจัดสรรที่ดินในการเพาะปลูกพืชเกษตรอย่างอื่น เช่น การปลูกอ้อย , ยางพารา , ข้าวโพด, มันสำปะหลัง เพื่อจะเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่นั้นๆได้ปลูกพืชอย่างเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการตรวจสอบและจัดข้อมูลวางแผนนี้กระทรวงเกษตรฯได้พยายามดำเนินการมานานแล้วปีเศษ แต่การที่จะได้ผลดียังต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน

นอกจากนี้นายยุคล ยังตอบการซักค้านของอัยการโจทก์ ในเรื่องการประมาณการผลผลิตว่า จะมีหน่วยงานระดับกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เก็บข้อมูล เเละมีเกณฑ์เฉลี่ยไว้ล่วงหน้าว่าเเต่ละปีจะมีผลผลิตเท่าใด เเต่ในการปฏิบัติจริงผลผลิตจะตรงกับที่ประมาณการไว้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ , สิ่งเเวดล้อม , แมลง เเละปัจจัยอย่างอื่น ส่วนเรื่องที่มีการสวมสิทธิในโครงการนั้นจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากการออกใบรับรองเกษตรกรจะต้องมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่ต้องผ่านการรับรองประชาคม ส่วนที่จะมีผู้อ้างสวมสิทธิที่ไม่ใช่เกษตรกรปลูกข้าวเองนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยากเพราะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง

ส่วนที่อัยการโจทก์ถามว่ามีการจับกุมเกี่ยวกับเรื่องการสวมสิทธิเเปลว่าต้องยอมรับว่ามีการทุจริตนั้น เรื่องนี้ต้องบอกว่าเนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มีคนเกี่ยวข้องเป็นล้านคนย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้เเต่ในส่วนที่มีความผิดพลาดที่เกี่ยวกับเกษตรกรนั้นไม่มีบันทึกว่าเป็นความผิด เเต่เป็นการบันทึกว่าพบสิ่งผิดปกติเท่านั้น ซึ่งการดำเนินคดีเรื่องการสวมสิทธิเป็นเรื่องนอกเหนือจากกระทรวงเกษตรฯ ดูเเล เเต่ถ้าเรื่องนี้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดทางรัฐก็มีการดำเนินคดีทุกราย แต่ระหว่างที่ตนปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่เคยเห็นมีรายงานเรื่องการสวมสิทธิเข้ามา ซึ่งการรายงานเรื่องสวมสิทธิในพื้นที่จะเป็นการรายงานระดับจังหวัดที่ต้องรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโดยจังหวัดจะมีการตั้งคณะกรรมการ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แล้วจะต้องรายงานต่อไปยัง รมว.พาณิชย์ ส่วนตนในฐานะที่เป็นคณะกรรมการเรื่องข้าวในคำสั่งระบุให้รายงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนเรื่องที่มีข่าวว่ามีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการสวมสิทธิข้าวนั้น เเม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีการสั่งการโดยตรง เเต่ก็มีสั่งการในที่ประชุม ครม.ซึ่งทุกคนก็จะได้รับทราบเเละมีการตรวจสอบทั้งระบบไว้อยู่เเล้ว สำหรับกรณีที่มีคณะกรรมการโดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ตรวจสอบถึงเรื่องข้าวคุณภาพเสื่อมนั้นต้องอธิบายว่าเรื่องการเก็บรักษาข้าวเป็นเรื่องอ่อนไหว มีปัจจัยตัวเเปรหลายอย่างที่ต้องเก็บรักษาข้าวตามกระบวนการไม่ให้ข้าวเสื่อมสภาพต้องพิจารณาว่าการตรวจสอบที่ ม.ล.ปนัดดาเป็นประธานได้คำนึงในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

ภายหลังนายยุคล เบิกความเสร็จสิ้น ศาลกำหนดนัดไต่สวนพยานจำเลยปากต่อไปในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ เวลา 09.30 น.ส่วนที่ทนายความ จะนำนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. เข้าไต่สวนเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว เป็นนโยบายพรรคการเมือง ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ย่อมมีผลผูกพันในการดำเนินโครงการตามนโยบายนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงความเห็นในข้อกฎหมาย ศาลจึงให้ทนายความทำความเห็นของพยานส่งเป็นเอกสารยื่นต่อองค์คณะฯ พิจารณาภายในวันที่ 7 ก.ค.นี้

ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลเรื่องพยานนั้น องค์คณะฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจดำเนินการกรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนบุคคลกรณีทุจริตหรือไม่ ที่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงให้ยกคำร้อง