"กอบเกียรติ บุญธีรวร ปั้น AEC สู่ TOP 5

"กอบเกียรติ บุญธีรวร ปั้น AEC สู่ TOP 5

แม้จะเป็นโบรกเกอร์น้องใหม่ แต่มือปืนรับจ้างบริหาร “กอบเกียรติ บุญธีรวร” จ่อสร้างแบรนด์สู้โบรกเกอร์ไซด์ใหญ่

แม้เซียนหุ้นพอร์ตพันล้าน “เคน-โสรัตน์ วณิชวรากิจ” และ “เสี่ยโต-อภิชัย เตชะอุบล” เจ้าของ บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม หรือ TFD จะตัดขาย หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี หรือ AEC ชื่อเดิมบริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด ของ “ประพล มิลินทจินดา” หลังใช้เวลาดูใจกันไม่นาน ตัวเลขขาดทุนในไตรมาส 1/2557 จำนวน 37.38 ล้านบาท อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทิ้งหุ้น AEC (2.96 และ 10 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนการถือหุ้น AEC ในอดีตของ “โสรัตน์-อภิชัย)

แต่นักธุรกิจคนดังหลายราย โดยเฉพาะ “ธเนศ พานิชชีวะ” กรรมการ บมจ.ทีทีแอล อุตสาหกรรม หรือ TTL กลับมีความเห็นต่าง โดยเมื่อเดือนต.ค.2556 เขาควักเงิน 120 ล้านบาท ซื้อหุ้น AEC ยกล็อต 8 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 15 บาท (พาร์ 5 บาท) ด้วยความเชื่อที่ว่า อนาคตดีกำลังมา หลังบริษัทประกาศแตกพาร์เหลือ 1 บาท ปัจจุบัน “ธเนศ” มีหุ้น AEC ประมาณ 48 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.71 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL และ “สาทิส ตัตวธร” กรรมการผู้จัดการ บมจ.สาลี่อุตสาหกรรม หรือ SALEE ทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้น AEC จาก 3.55 เปอร์เซ็นต์ และ 0.59 เปอร์เซ็นต์ เหลือประมาณ 2.20 เปอร์เซ็นต์ และ 0.52 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ตัวเลข ณ วันที่ 29/5/57 นักธุรกิจทั้งสองคนเข้ามาถือหุ้น AEC ตั้งแต่ปี 2556

ด้วยความที่ “ประพล มิลินทจินดา” ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจการเงิน เขาจึงเชื้อเชิญ “เคน-กอบเกียรติ บุญธีรวร” อดีตประธานกรรมการ บริษัท แคปปิตอลลิ้งค์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด มานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “มาทำงานที่นี่ได้ เพราะผมตกปากรับคำเชิญหุ้นใหญ่ไป หลังท่านบอกว่า ไม่มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจการเงิน ตามเงื่อนไขผมต้องอยู่ในตำแหน่ง 3 ปี จากนั้นจะสรรหากันใหม่ หากผมและบริษัทไม่ต่อสัญญา” “กอบเกียรติ” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week”

“หัวใจสำคัญของธุรกิจการเงิน คือ การบริโภคข้อมูล ฉะนั้นเราต้องมีข้อมูลรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และเชื่อถือได้” “ชายวัย 54 ปี” เชื่อเช่นนั้น

เขาอาสาเล่าแผนงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2557-25561) ว่า "ฟลูเซอร์วิสโบรกเกอร์" คือ ยุทธศาสตร์การทำงานของ AEC เราอยากมีส่วนแบ่งการตลาดติด 1 ใน 5 เท่ากับว่า บริษัทต้องมีส่วนแบ่งการตลาด 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งการตลาด 2.1 เปอร์เซ็นต์ ขยับขึ้นจากปลายปี 2556 ที่อยู่ระดับ 0.2 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เบอร์ 1 มีส่วนแบ่งการตลาด 10 เปอร์เซ็นต์

“ปี 2557 เป้าหมายส่วนแบ่งการตลาดของ AEC คือ 2.5 เปอร์เซ็นต์”

ถามถึงวิธีการทำงาน “กอบเกียรติ” ตอบว่า ต้องมีบริการด้านการเงินครอบคลุมทุกช่องทาง ที่สำคัญบริการต้องมีเสถียรภาพและทันสมัย ปฎิเสธไม่ได้ว่า วันนี้แต่ละโบรกเกอร์ต้องออกแรงแข่งขัน บางแห่งชูจุดขายด้านโปรแกรม ฉะนั้นเราจึงต้องดูแลลูกค้าที่มีอยู่ให้ดี ทำอย่างไรก็ได้ อย่าให้เขาขาดทุน ดังนั้นการมีบทวิเคราะห์ครบถ้วน และสามารถเผยแพร่ได้ทุกช่องทางย่อมเป็นเรื่องสำคัญ

ปัจจุบันบริษัทให้บริการ ธุรกรรมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตัวแทนซื้อขายตราสารอนุพันธ์ (TFEX) ขณะเดียวกันยังให้บริการตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์,บริการตัวแทนนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์,บริการซื้อขายทางอินเทอร์เนต (e-Trading),บริการด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) และบริการซื้อขายกองทุนรวม (Mutual Funds)

“ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า จะอนพลิกจากขาดทุน 40 ล้านบาท ในปี 2556 มาเป็น “กำไรสุทธิ” เท่าไหร่ แต่เราก็ตอบคำถามผู้ถือหุ้นไปว่า ปีนี้ต้องมีกำไรจะมากหรือน้อยก็ต้องมี”

ถามถึงแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2557 “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” เล่าว่า เรายังคงเดินหน้ารุกธุรกิจอย่างเต็มสูบ ด้วยการเร่งขยายฐานลูกค้าทั้งบุคคลและสถาบัน รวมถึงขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเปิดสาขาให้บริการแล้ว 9 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย สาขาสีลม (อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์), สาขาซอยศูนย์วิจัย, สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว, สาขาประชาชื่น, สาขานครสวรรค์, สาขาเชียงใหม่-ถนนมหิดล, สาขาเชียงใหม่-ถนนช้างคลาน, สาขานครศรีธรรมราช และสาขาหาดใหญ่

ปลายปี 2557 ตั้งเป้าจะมีสาขาทั้งสิ้น 18 แห่ง

สำหรับ “ธุรกิจโบรกเกอร์” แน่นอนอย่างที่บอกไป เราจะมุ่งหน้าขยายฐานลูกค้า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าสถาบันเริ่มมีวอลุ่มเข้ามาบ้างแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่า วอลุ่มจากลูกค้าสถาบันจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทมีสเถียรภาพมากขึ้น เรามีบทวิเคราะห์ฉบับภาษาอังกฤษซัพพอร์ตนักลงทุนสถาบัน และฉบับภาษาไทยสำหรับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งบทวิเคราะห์ของเรามีความแม่นยำ

“ตลาดหุ้นไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะหนุนให้ธุรกิจโบรกเกอร์ขยายตัวตามไปด้วย

ส่วน “ธุรกิจวาณิชธนกิจ” บริษัทมีแผนจะเน้นงานในด้านนี้มากขึ้น โดยเราจะไปเป็นที่ปรึกษาการลงทุนทั้งในประเทศ และกลุ่มประเทศแถบอาเซียน ปัจจุบันมีหลายงานอยู่ในมือ เช่น ที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาฟื้นฟูปรับโครงสร้าง และที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน เป็นต้น

ล่าสุดบริษัทมีดีลงานขายหุ้นไอพีโออยู่ในมือ 3-4 งาน มูลค่ารวมประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน คาดว่าหุ้นไอพีโอ 2 ราย จะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้ภายในปีนี้

สำหรับ “ธุรกิจตัวแทนนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน” เราเริ่มทำธุรกรรมดังกล่าวมากขึ้นแล้วปัจจุบันเป็นตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนของ 15 บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ประมาณ 2,800 ล้านบาท

เรากำลังยื่นขอทำ “ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล” ในช่วงไตรมาส 4/2557 เพื่อกระจายฐานรายได้และรองรับความต้องการของลูกค้า จริงๆเรามีใบอนุญาตอยู่แล้ว เพียงแต่เราขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาตรวจสอบความพร้อมเรื่องระบบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน

“ปี 2558 บริษัทจะเริ่มปั้มรายได้ และส่วนแบ่งการตลาด เราอยากเห็นส่วนแบ่งการตลาดระดับ 3 เปอร์เซ็นต์”

ปลายปีหน้าจะมีการเปิดประชาชนเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ฉะนั้นเรากำลังมองหาโอกาสที่จะเข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศ เมื่อต้นปี 2558 มีโอกาสเข้าไปศึกษาธุรกิจในประเทศลาว หากผลการศึกษาพบว่า ตลาดต่างประเทศน่าสนใจ บริษัทอาจเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นก่อนอันดับแรก ด้วยการเป็นนายหน้าซื้อหุ้นต่างประเทศตามความต้องการของลูกค้า โดยเราจะส่งออเดอร์ไปให้พันธมิตรในประเทศนั้นๆเป็นคนจัดการซื้อให้ คาดว่ากลางปี 2558 จะเห็นภาพชัดเจน

จากนั้นบริษัทอาจหาโอกาสในการทำธุรกิจวาณิชธนกิจในต่างประเทศต่อไป ซึ่ง “ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” ประธานคณะที่ปรึกษา AEC ท่านแนะนำว่า “ลาว-พม่า-กัมพูชา” ถือเป็นประเทศที่น่าสนใจ หลังประเทศแถบอาเซียน ฉะนั้นเราคงต้องเริ่มมองหาเพื่อนใหม่แล้ว

“เรากำลังเลือกคู่แต่งงาน ฉะนั้นต้องหาคู่ที่เหมาะสม เพราะว่าเราไม่ใช่คนหล่อ แถมพ่อ-แม่ก็ไม่รวย แต่คนรวยก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักของ AEC เพราะคนรวยบางคนอาจมองไม่เห็นหัวเรา”

“กอบเกียรติ” บอกว่า ธุรกิจโบรกเกอร์มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้แต่ละโบรกเกอร์มีการตื่นตัวไม่หยุดนิ่ง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจของเรา “ลูกค้า” คือ แกนกลางที่สำคัญสุด เมื่อจะทำอะไรต้องคิดถึงลูกค้าก่อน ต้องคิดเสมอว่า ลูกค้า คือ “ผู้มีพระคุณ” เป็นโจทย์ที่เราต้องตีให้แตก และต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะเดินไปทิศทางไหน

เราคงไม่กล้าที่จะไปแข่งกับ บล.เมย์แบงก์ กิมเก็ง (ประเทศไทย) เพราะเขาอยู่ในวงการมานานแล้ว ระบบก็มีการพัฒนาไปมากแล้ว แถมมีงบในการลงทุนเยอะ แต่ AEC เป็นโบรกเกอร์น้องใหม่ที่มีอายุเพียง 1 ปี ดังนั้น “สเตปแรก” เราต้องวางโครงข่ายของการบริการให้แข็งแรงก่อน คาดว่าภายในปีนี้ทุกอย่างน่าจะเสร็จสมบูรณ์ “สเตป 2” เราต้องออกโปรดักส์ใหม่ๆ เพื่อให้รายได้ขยับ

ในเมื่อ AEC เป็นโบรกเกอร์ที่ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสถาบันการเงิน หรือมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ ฉะนั้นเราต้องรู้ว่า กำลังของเรามีเท่าไหร่ ศักยภาพของบุคลากรเป็นอย่างไร ปัจจุบันบริษัทมีมาร์เก็ตติ้ง 200 คน ดังนั้นเป้าหมายของเรา คือ “กลุ่มลูกค้าบุคคล” ซึ่งลูกค้าบุคคลเขาต้องการข้อมูลที่ดี บทวิเคราะห์จึงเป็นสิ่งที่บริษัทเน้นมาก เราโชคดีตรงที่ทีมงานที่ทำบทวิเคราะห์เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง แต่ละคนไม่เหมือนนักวิชาการ ไม่ใช่บทวิเคราะห์โบราณสมัยตั้งแต่ผมเข้าวงการใหม่ๆ

“อยากให้ผู้ถือหุ้นสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่า ทำไมราคาหุ้น AEC ไม่ขึ้นเลย วันนี้เรามีบริการครบวงจรและรวดเร็ว จากนี้อะไรๆจะดีขึ้น”

25 ปี ในวงการหุ้น

“กอบเกียรติ บุญธีรวร” จบปริญญาตรีคณะบัญชีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเริ่มอาชีพมุนษย์เงินเดือนแห่งแรก ในธุรกิจเดินเรือขนส่งระหว่างประเทศ บริษัท Borneo Service จำกัด ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายขาย ก่อนจะย้ายมาประจำการณ์ที่บริษัท Moller’s (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งผู้จัดการการตลาด เฉลี่ยอายุการทำงานในสายนี้ประมาณ 4 ปี

จากนั้นเพื่อนสนิทที่เรียนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญด้วยกันมาชวนไปทำงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์ งานแห่งแรกของแวดวงการเงินเริ่มต้นที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ ก่อนจะย้ายมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสถาบัน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นิธิภัทร จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

ทำอยู่ได้ไม่นาน เขาย้ายที่ทำงานอีกรอบ คราวนี้ไปอยู่บริษัท ค่าเธ่ย์ แคปปิตอล จำกัด ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ แต่ทำได้ 2 ปี ขยับไปทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ ซิกโก้ จำกัด ตำแหน่งกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ ก่อนจะเปลี่ยนมาทำในบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอ็มบี แมคควอรี่ (ประเทศไทย) และบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสุดท้ายก่อนย้ายมาอยู่ AEC คือ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด