ภารกิจหลัก “พิชัย” เติมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ถก ธปท.เชื่อมการเงินการคลัง

ภารกิจหลัก “พิชัย” เติมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ถก ธปท.เชื่อมการเงินการคลัง

“พิชัย” เตรียมนัดคุยผู้ว่าแบงก์ชาติ ถกข้อเท็จจริงร่วมแก้ปัญหาประชาชน เหยียบคันเร่งขับเคลื่อนนโยบายการเงินประสานการคลังดันเศรษฐกิจโต ย้ำ“ดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่ได้เอื้อแค่เจ้าสัว ทุกคนได้รับผลกระทบอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจเดียวกัน หวังเติมเม็ดเงิน เติมโอกาส

ันที่ 7 พ.ค. 2567 เวลา 13.30 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล และผู้บริหารกระทรวงการคลัง

นายพิชัย เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำอันดับหนึ่งคือการเพิ่มรายได้เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวให้ได้ ซึ่งการจะทำได้ก็ต้องให้คนในประเทศเห็นตรงกันก่อน แต่วันนี้ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ อาจมีมุมมองของตัวเอง สิ่งที่ต้องทำคือต้องพูดคุยกัน หาจุดยืนร่วม ตกผลึก และนำข้อเท็จจริงมาคุยกันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาของประเทศสำหรับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่คนจนเท่านั้น เพราะทุกส่วนเชื่อโยงกันหมดในห่วงโซ่เศรษฐกิจ

"ในทันทีที่มีโอกาสก็คงจะมีการนัดพูดคุยทำความเข้าใจที่ดีร่วมกับผู้ว่าแบงก์ชาติ เพื่อหาจุดยืนร่วมกัน ซึ่งส่วนตัวอยากให้แบงก์ชาติดูแลสถานะทางการเงินที่มั่นคง ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศระดับสูง และสถาบันการเงินมีฐานะการเงินที่มั่นคง ในขณะที่อีกมุมหนึ่งที่อยากให้พิจารณาคือทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไร ในวันนี้ที่เศรษฐกิจฝืดก็เหยียบคันเร่งหน่อย บางอย่างที่ไม่ต้องใช้เงินแต่ใช้นโยบายก็ทำได้เลย"

นายพิชัย กล่าวต่อว่า หลายข้อที่แบงก์ชาติท้วงติงหรือมีข้อกังวลก็ยอมรับ แต่บางข้อก็ต้องทบทวน อย่างกรณีการลดอัตราดอกเบี้ยที่มองว่าจะส่งผลให้คนใช้เงินเพิ่มขึ้นนั้น เป็นจริงในกรณีที่คนไม่มีหนี้ แต่ทุกวันนี้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้คนคิดแต่ว่าจะเอาที่ไหนมาคืน ดังนั้นจึงเป็นคนละบริบทกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่ประเทศไทยทำอยู่มาตลอด 10 ปี สะท้อนให้เห็นแล้วว่าทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลงมาโดยตลอด และขยายตัวต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการขยายตัวของจีดีพีต่ำก็สะท้อนถึงรายได้ของประชาชนไทยที่่ลดลง ทั้งผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภค ผู้ผลิต ซึ่งทุกคนอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจและได้รับผลกระทบทั้งสิ้น จากการดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน ตอนนี้จะไม่พูดว่าอะไรถูกอะไรผิด อยากให้มาดูผลลัพธ์

อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติมีอิสระในความคิด มีอิสระในการวิเคราะห์ อิสระที่จะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ทางเลือกดังกล่าวต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน หรือพูดอีกอย่างคือต้องตอบสนองความต้องการของคนที่มาทำงานแทนประชาชน หรือรัฐบาล ถ้าลงตัวก็จบ ถ้ามีอิสระทางความคิดแล้วทุกคน win-win หรือไม่

ภารกิจหลัก “พิชัย” เติมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ถก ธปท.เชื่อมการเงินการคลัง

ดิจิทัลวอลเล็ต เพิ่มเม็ดเงินใหม่

“ในวันนี้จีดีพีลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อยังมองว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่คนกลับรู้สึกว่าของมีราคาแพง เพราะการเติบโตของรายได้ต่ำกว่าราคาสินค้า และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% อยู่ที่ราว 15-16 ล้านล้านบาท เงินออมก็ไม่มี ซึ่งเมื่อมีหนี้เยอะไม่ว่าดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำคนก็กู้ไม่ได้ ดังนั้นการจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ว่าสิ่งที่ต้องทำก่อนคือเติมเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ”

นายพิชัย กล่าวว่า การเติมเม็ดเงินขนาดใหญ่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ มีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่ได้ทำให้คนมีกินมีใช้เท่านั้น แต่จะทำให้เกิดการบริโภค แบ่งเงินไปใช้หนี้ได้เพิ่มขึ้น หรือไปซื้อของลงทุนก็ได้

“ห่วงโซ่เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบทั้งหมด ไม่อยากให้มองว่าเป็นการทำเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้เจ้าสัว เอสเอ็มอี เกษตรกร หรือผู้ใช้แรงงาน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกส่วนมีคามเกี่ยวข้องกันหมด ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่มีสุขภาพที่ดีที่เหลือก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นการดำเนินโนยบายของรัฐไม่ใช่การช่วยคนจนหรือคนรวย แต่เป็นการเติมเม็ดเงิน เติมโอกาส เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ”

แนวโน้มระดับราคาสินค้ามีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 สตางค์ เพิ่มขึ้นเป็น 25 สตางค์ จนวันนี้ของทุกอย่างในโลกก็ราคาเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าหนี้ที่เติบโตขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนหนี้ 20 ล้านบาท เป็นเรื่องเครียด แต่ปัจจุบันนี้หนี้ 20 ล้านบาทเป็นเรื่องนิดเดียวเพราะมูลค่าบริษัทที่เติบโตเป็นพันล้าน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาหนี้ที่ดีคือการมีขนาดรายได้มากกว่าหนี้ที่มีอยู่ หากวันนี้จีดีพีประเทศมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีก็จะลดลงทันที

เมื่อถามถึงการแก้ไขให้มีการนำเอาหนี้ที่อยู่ในเงินกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินฯ (FIDF) ไปอยู่ในบัญชีของ ธปท.นายพิชัยกล่าวว่า ข้าใจว่าไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็เป็นเงินของประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าใครมีกำลังดีกว่า ซึ่งเมื่อปี 2540 ธปท.จะไปกู้เงินมาทำอะไรก็ลำบาก ส่วนที่ยังพอมีแรงกู้คือภาครัฐ ทำงานเป็นพี่น้องกัน ช่วยกันทำงาน จะอย่างไรก็คุยได้ ช่วยกันได้หมด เพราะเงินก็อยู่ในตะกร้าเดียวกัน

ชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยดิ่งลง 1% ทุก 5 ปี

นายพิชัย กล่าวว่า ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงตามลำดับเป็นขั้นบัดได ทุกๆ 5 ปี จากที่จีดีพีเติบโตอยู่ที่ 5% ลดลงมาที่ 4%, 3%, 2% และ 1% ในปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกก็พบว่าหลายประเทศก็มีการเติบโตลดลงเช่นกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันและมีศักยภาพใกล้เคียงกัน กลับพบว่าจีดีพีโตกว่าไทย

เมื่อย้อนกลับดูว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เห็นก็คือไทยเป็นประเทศผู้ผลิต ซึ่งพึ่งพาการส่งออก อย่างไรก็ตามสินค้าที่ไทยผลิตเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ บางหน่วยกลับเริ่มแข่งขันไม่ได้เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และเทคโนโลยีการผลิตที่สู้ไม่ได้ ซึ่งหากอยากเปลี่ยนให้ภาคการผลิตไทยกลับมาเข้มแข็ง ก็ต้องยอมรับว่าคงทำไม่สำเร็จภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี 

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำได้ในวันนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าส่งออกดั้งเดิม ซึ่งยังใช้อยู่อีก 25 ปี ดึงขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve จากวัตถุดิบในประเทศ 2.การพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เรียนรู้เทคโนโลยีจากการดึงประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีเข้ามาลงทุน อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอกนิกส์ 3.การเชื่อมโยงโลจิสติกส์ในประเทศ เชื่อมโยงภายในอาเซียนทั้งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ