ทดสอบรถ

ทดสอบรถ

คอลัมน์ออโต้คลินิค

ปัจจุบันนี้ผู้ที่อยู่ระหว่างการเลือกก่อนจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ จะต้องขวนขวายหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ในกลุ่มที่ตนเองหมายตาเอาไว้ แหล่งข้อมูลที่คนส่วนใหญ่เข้าหาก็คือสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์ และรายเดือน, สื่อวิทยุ, สื่อโทรทัศน์ และ สื่ออีเลคทรอนิคส์สมัยใหม่ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะค้นคว้าหาข้อมูลรายละเอียดแล้ว ยังพยายามค้นคว้าหาบทวิจารณ์จากผู้ที่ทำการทดสอบรถยนต์ต่างๆแล้วนำมาเผยแพร่ด้วย

ผมเคยถูกตั้งคำถามจากผู้บริโภคอยู่บ่อยๆว่า การวิจารณ์รถยนต์ของผมนั้นต้องมีความรู้อย่างไรบ้าง ต้องนำรถไปขับทดสอบอย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด หมายถึงต้องทำแบบใช้งานในชีวิตจริงๆ หรือไม่ ถ้าขับเพียงแค่ไม่กี่ร้อย กม.จะเพียงพอหรือไม่ที่จะไปวิจารณ์รถยนต์ซึ่งเขาลงทุนลงแรง ใช้ทีมวิศวกรนับร้อยคนทำการค้นคว้าพัฒนาก่อนจะผลิตเป็นเวลานานนับปี

ผมขอเอามาเผยแพร่เฉพาะวิธีการทำงานของผม ที่ได้ทำมาตลอด 30 ปีในอาชีพนี้ และได้ใช้หลักการเดียวกันนี้สอนลูกๆสำหรับการทำงานของพวกเขา เป็นวิธีการที่ผมคิดเอาเองไม่มีตำรับตำราที่ไหนมายืนยัน ส่วนท่านอื่นๆอาจจะใช้วิธีการที่ต่างกันออกไปอย่างไรผมไม่ทราบ และไม่สามารถก้าวล่วงไปวิจารณ์ได้

การวิจารณ์รถยนต์ของผมมีหลักใหญ่ๆ อยู่ 4 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นการวิจารณ์แบบที่ผมสอนลูกว่าเป็น ขั้นตอนวิจารณ์ทางข้อมูล หรือ On Specification โดยการวิจารณ์ทางข้อมูลนี้สามารถทำได้ทันที ที่มีการแถลงข่าวเปิดตัวรถยนต์คันนั้นๆต่อสาธารณะ แต่ผู้วิจารณ์ต้องมีความรู้ด้านเทคนิคยานยนต์เพียงพอ

ตัวอย่างเช่น ต้องรู้ว่าการทำงานของเครื่องยนต์ต่างชนิดกัน เช่น แบบแถวเรียง, แบบสูบ V และ แบบสูบนอนยันจะก่อให้เกิดความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง หรือแม้แต่ในแบบแถวเรียงด้วยกันแต่มีการวางเครื่องยนต์ในองศาที่เอียงต่างกัน จะเกิดประโยชน์และโทษแตกต่างกันอย่างไร เป็นต้น

หรือระบบช่วงล่างต่างๆ เช่นแหนบ, คานแข็ง, อิสระ 4 ล้อ, สปริงขด, คานบิด ฯลฯ แต่ละแบบมีข้อดีข้อด้อยต่างกันอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าแม้โดยโครงสร้างของแต่ละแบบจะถูกจำกัดข้อดีข้อด้อยเอาไว้ในตัว แต่เมื่อถึงขั้นตอนการผลิตและใช้งานจริง วิศวกรที่เก่งๆ ก็สามารถลดจุดด้อยเพิ่มจุดดีเข้าไปได้เหมือนกัน ซึ่งอย่างหลังนี้ต้องไปรับรู้ในขั้นตอนการวิจารณ์อีกวิธีหนึ่ง

หรือแม้แต่แรงม้าและแรงบิดของเครื่องยนต์ที่คนสนใจกันมาก ก่อนที่ผมจะวิจารณ์ทางข้อมูลต้องตีความเรื่องแรงบิดแรงม้า รวมทั้งรอบการทำงานของเครื่องยนต์แบบองค์รวม ไม่มองแยกเป็นตัวๆ ซึ่งจะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่องานวิจารณ์ได้ การวิจารณ์ทางข้อมูลนี้หากมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับ “วิศวกรผู้ชำนาญการซึ่งมีใจเปิดกว้าง” จะทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันและกันได้มากขึ้น

ขั้นตอนการวิจารณ์ระดับที่ 2 คือ การวิจารณ์จากสัมผัสแรก หรือ First Impression ขั้นตอนนี้สามารถทำได้หลังจากได้ทดลองขับรถยนต์ไปแล้วแม้จะไม่มากนัก บางครั้งเพียงแค่ได้ขับสัก 10 หรือ 20 กม. ก็พอที่จะวิจารณ์ได้ โดยใช้ข้อมูลร่วมกับการวิจารณ์ในขั้นแรก หลายครั้งจากการทดลองขับในขั้นตอนนี้ก็พบว่า ความรับรู้ที่ได้จากการทดลองขับต่างไปจากที่คิดเอาไว้จากการอ่านข้อมูล

ดังนั้นก่อนที่จะทำการทดลองขับต้องอย่าตั้งธงเอาไว้ล่วงหน้าเป็นอันขาด เช่น อย่าไปตั้งธงว่าระบบดิสค์เบรกทั้ง 4 ล้อจะต้องมีระยะเบรกสั้นกว่าดิสค์เบรก 2 ล้อเสมอไป หรืออย่าไปตั้งธงว่าระบบแหนบต้องมีความนุ่มนวลน้อยกว่าแบบสปริงขดเสมอไป เพราะในการทดลองขับจริงอาจจะพบว่าทีมวิศวกรของผู้ผลิตได้ใช้วัสดุพิเศษ และกรรมวิธีการผลิตพิเศษมาใช้ทำให้ได้ผลดีมากขึ้นก็เป็นได้

การวิจารณ์ขั้นตอนที่ 3 เป็นการวิจารณ์แบบทดลองขับจริง ขั้นตอนนี้สำหรับผมต้องขับรถจนสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่า 5 ถังหรือไม่น้อยกว่า 2,000 กม. เพราะมิฉะนั้นจะไม่สามารถบอกได้ถึงค่าเฉลี่ยอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจริง และเส้นทางที่เลือกใช้ต้องมีความหากหลายของพื้นผิวทางวิ่งเพียงพอ ต้องใช้ความเร็วที่แตกต่างกันไปและต้องทดลองใช้และไม่ใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อหาความแตกต่าง

การวิจารณ์ขั้นตอนสุดท้ายต้องได้รับข้อมูลจริงจากผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ผู้ใช้งานจริง, ช่างซ่อมบำรุงจริงทั้งจากศูนย์บริการและจากอู่ทั่วไป หลังจากรถยนต์รุ่นนั้นๆออกจำหน่ายไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นตอนนี้จะทำให้รับรู้ว่าเมื่อออกมาใช้งานจริงแล้วรถยนต์คันนั้นมีจุดอ่อนอะไรที่ซ่อนอยู่บ้าง เช่น ดูแลรักษายาก, ชิ้นส่วนเปราะบาง, อุปกรณ์ไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนการทำงานของผมและลูกๆ เท่านั้น ซึ่งท่านผู้วิจารณ์รถยนต์หรือคนทดสอบรถยนต์ซึ่งปัจจุบันนี้มีจำนวนมากมายหลายสิบท่าน แต่ละท่านก็จะมีวิธีการทำงานที่ต่างกันออกไปครับ