เปิดแผนพลิกโฉม 'ท่าเรือคลองเตย' ปั้นสมาร์ทคอมมูนิตี้ รับเรือสำราญ

เปิดแผนพลิกโฉม 'ท่าเรือคลองเตย' ปั้นสมาร์ทคอมมูนิตี้ รับเรือสำราญ

เปิดแผนแม่บทพัฒนา “ท่าเรือคลองเตย” 2,353 ไร่ ยกระดับสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร พร้อมปั้น "Smart Community" ส่งเสริมการท่องเที่ยว ขึ้นแท่นฮับเรือสำราญ ควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งประชาชนชาวกรุงเทพในภาพรวม ตลอดจนมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง จึงมีแนวคิดในการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะกำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยระบุว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างรอหนังสือคำสั่งการย้ายท่าเรือออกจากคลองเตยอย่างเป็นทางการ เพราะเบื้องต้นทราบว่าเป็นแนวคิดของทางนายกรัฐมนตรี ที่ได้หารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะให้ย้ายท่าเรือออกไปทั้งหมด ดังนั้นกระทรวงฯ จึงขอพิจารณาหนังสือคำสั่งที่จะส่งมาอย่างเป็นทางการก่อน เพื่อตีความและนำนโยบายไปปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กทท.มีแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือกรุงเทพในพื้นที่ย่านคลองเตย ซึ่งเป็นแผนที่ศึกษาตั้งแต่ปี 2562 โดยจะมีการพัฒนาที่ดินรวม 2,353 ไร่ เป้าหมายพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (Mixed Use) ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Smart Community" สร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในพื้นที่คลองเตยในลักษณะที่อยู่อาศัยแนวสูง พร้อมยกระดับพื้นที่รอบท่าเรือให้เป็นศูนย์กลางการเดินทาง มีสิ่งอำนวยความสะดวก

เปิดแผนพลิกโฉม \'ท่าเรือคลองเตย\' ปั้นสมาร์ทคอมมูนิตี้ รับเรือสำราญ

“ปัจจุบันยืนยันว่ายังไม่มีคำสั่ง หรือหนังสือคำสั่งมายังกระทรวงฯ ที่ชัดเจนว่านายกฯ มีนโยบายให้กระทรวงฯ ดำเนินการอย่างไร แต่เชื่อว่าคงไม่มีการย้ายท่าเรือออกไปจากพื้นที่ทั้งหมด น่าจะเป็นการย้ายเฉพาะส่วนของเรือขนส่งสินค้า แต่คงไว้ในส่วนของบริการเรือโดยสารท่องเที่ยว รองรับเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญขนาดใหญ่มากกว่า”

สำหรับแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เดิมก็มีการระบุถึงแผนพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับการโดยสารและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อรองรับบริการด้านการท่องเที่ยว พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนโดยรอบ ดังนั้นเชื่อว่าคงไม่ได้มีการย้ายท่าเรือออกจากพื้นที่นี้ทั้งหมด แต่น่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด นำพื้นที่บางส่วนย้ายออกไปเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้คนกรุงเทพฯ มากขึ้น

เปิดแผนพลิกโฉม \'ท่าเรือคลองเตย\' ปั้นสมาร์ทคอมมูนิตี้ รับเรือสำราญ

สำหรับผังโครงการแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยของ กทท. ที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ จะพัฒนาบนที่ดินรวม 2,353 ไร่ มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ถูกจัดสรรออกเป็น 5 กลุ่มพัฒนา ประกอบด้วย

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ A

  • อาคารสำนักงานท่าเรือใหม่และอาคารสำนักงานเช่าเอกชน
  • โครงการที่พักอาศัย
  • โครงการพัฒนา Medical Hub
  • อาคารสำนักงาน
  • Smart Community
  • อาคารอยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการพนักงานการท่าเรือ
  • อาคารอยู่อาศัยประเภทเช่า
  • Retail Mixed use

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ B

  • Smart Port (กึ่งอัตโนมัติ)
  • ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก
  • ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ C

  • พื้นที่ Cruise Terminal
  • Retail Mixed use
  • อาคารสำนักงาน
  • พื้นที่พาณิชย์ Duty Free
  • โรงแรม
  • พื้นที่พาณิชยกรรม
  • อาคารจอดรถ
  • ศูนย์ฝึกอบรม
  • พื้นที่ศูนย์อาคารแสดงสินค้า
  • อาคารสาธารณูปโภค

พื้นที่รองรับในการพัฒนาอนาคต X

  • พื้นที่คลังเก็บสินค้า
  • สำนักงาน E- Commerce
  • พื้นที่จอดรถบรรทุก
  • พื้นที่ ปตท.เช่าใช้

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ G

  • Sport Complex
  • สวนสาธารณะ