อนุกมธ.คณะการคลังฯเล็งวางกรอบคุมประชานิยม

อนุกมธ.คณะการคลังฯเล็งวางกรอบคุมประชานิยม

อนุกมธ.คณะการคลังฯ เล็งวางกรอบคุมประชานิยม พร้อมมอบดาบกกต.กลั่นกรองนโยบาย

แหล่งข่าวใน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ 4 การคลังและงบประมาณของรัฐ ที่มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมาธิการได้เริ่มลงในรายละเอียดว่ารัฐธรรมนูญฉบับจะต้องมีกลไกอะไรบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่กำหนดให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต้องครอบคลุมเรื่องการมีกลไกที่ประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินมีมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรมีกลไกเพื่อควบคุมการใช้งบประมาณแผ่นดิน 2 ประการ ประกอบด้วย 1.การควบคุมนโยบายประชานิยม จะมีการกำหนดให้พรรคการเมืองที่ลงรับสมัครเลือกตั้งจะต้องชี้แจงนโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงต่อประชาชนว่าแหล่งที่มาของงบประมาณสำหรับการดำเนินนโยบายจะมาจากที่ใด จัดแนวทางการประเมินความเสี่ยงในด้านการเงินการคลังหากนโยบายมีผลบังคับใช้ และควรกำหนดระยะเวลาในการใช้งบประมาณในนโยบายประชานิยม

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมาธิการยังไม่ได้ข้อสรุปว่าควรกำหนดแนวทางอย่างละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือจะกำหนดเฉพาะหลักการเอาไว้ในรัฐธรรมนูญและให้นำรายละเอียดไปใส่ในกฎหมายลูกแทน และอาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้ทำหน้าที่กลั่นกรองนโยบายของพรรคการเมือง 2.จัดตั้งศาลวินัยการเงินการคลังหรือศาลบัญชี คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่าควรมีการจัดตั้งศาลเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีที่ใช้จ่ายงบประมาณขัดหลักการวินัยการเงินการคลังที่ดี ซึ่งศาลดังกล่าวอาจจะอยู่เป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรมหรือศาลฎีกา โดยจะไม่มีอำนาจพิพากษาในคดีอาญาแต่มีหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและส่งเรื่องขึ้นสู่ศาล คือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน