'จิตวิทยาเชิงบวก' โซลูชันเติมความสตรอง ในวันที่ใจไม่ไหว

'จิตวิทยาเชิงบวก' โซลูชันเติมความสตรอง ในวันที่ใจไม่ไหว

แม้หลายเรื่องในชีวิตประจำวัน จะทำให้ใครหลายคนไม่สามารถมองโลกในมุมบวกได้ แต่ทุกคนสามารถฟื้นพลังใจได้ ด้วยแนวคิด "จิตวิทยาเชิงบวก" อีกหนึ่งตัวช่วยสู่การใช้ชีวิตอย่างเข้าใจและมีความสุข

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงานแถลงข่าว โครงการ "Mindset Maker Hackathon 2023" ว่า สสส. และภาคีในหลายภาคส่วน มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแนวใหม่ที่เรียกว่า จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology Capital) โดยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีการนำองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้เราทุกคนสามารถใช้ชีวิตและอยู่อย่างมีความหวัง

"ปัจจัยสำคัญที่บุคคลจะสามารถฟื้นพลังใจได้คือ การฝึกฝนทักษะด้านสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ โดยหนึ่งในองค์ความรู้ทางจิตวิทยาที่สามารถช่วยส่งเสริมทักษะสุขภาพจิตได้และมีงานวิจัยรองรับจำนวนมากจากทั่วโลกคือ ศาสตร์ด้านจิตวิทยาเชิงบวก ประกอบด้วยทุน 4 ด้าน คือ 1.ความหวัง (Hope) 2.การเชื่อในความสามารถของตัวเอง (Efficacy) 3.ความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) และ 4.การมองโลกในแง่ดี (Optimisim)" ชาติวุฒิ กล่าว

\'จิตวิทยาเชิงบวก\' โซลูชันเติมความสตรอง ในวันที่ใจไม่ไหว

ชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า กลุ่มวัยเรียน เด็กและวัยรุ่น มักจะมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม และมีพฤติกรรมทางอารมณ์ที่อาจส่งผลจากความเครียดของพ่อแม่ ขณะที่ในวัยทำงานจะมีความเครียดจากการดูแลทั้งครอบครัว ลูก พ่อแม่ ซึ่งภาพรวมของสถานการณ์เหล่านี้เป็นที่มาการเร่งอัดฉีด "วัคซีนใจ" ของ สสส. และภาคีเครือข่าย โดยร่วมกับ Mindset Maker และ Life Education (Thailand) ในฐานะองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก มุ่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มจิตวิทยาเชิงบวกสำหรับประชาชน "Mindset Maker" มุ่งพัฒนาชุดเครื่องมือผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถส่งถึงทุกคนให้สามารถประเมินตนเอง และ "เลือก" วิธีการหรือเครื่องมือสร้างภูมิต้านทานใจที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งเสริมเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนา "ทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก" ที่สามารถเรียนรู้เพื่อใช้กับตัวเองและคนรอบข้างได้ในเบื้องต้น โดยตั้งเป้าว่าจะมีเครื่องมือมากกว่า 60 เครื่องมือพร้อมใช้อยู่บนแพลตฟอร์มภายในปีนี้ และพัฒนาต่อยอดมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

"Mindset maker ใช้หลักคิดทางทุนจิตวิทยาเชิงบวก พัฒนาเครื่องมืออย่างง่ายให้บุคคลแต่ละช่วงวัย สามารถฝึกฝนตัวเอง และออกแบบให้อยู่ในแพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เพื่อออกกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะกายใจที่ดี" ชาติวุฒิ กล่าว

\'จิตวิทยาเชิงบวก\' โซลูชันเติมความสตรอง ในวันที่ใจไม่ไหว

ทำความรู้จัก "จิตวิทยาเชิงบวก"

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้จัดการโครงการ และผู้บริหาร Mindset Maker เล่าถึงที่มาของแพลตฟอร์มที่กำลังเป็นทางเลือกให้คนทุกคนที่เจอเรื่องยากๆ ในชีวิต ได้มีทางเลือกในการเยียวยาตัวเองในเบื้องต้น ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่เราอยากพัฒนาขึ้นมาบนแพลตฟอร์มตั้งแต่แรก ซึ่งหลายๆ ประเทศเริ่มทำในรูปแบบนี้มาบ้างแล้ว เราเลยอยากให้คนไทยเข้าถึงเครื่องมือสามารถเข้าถึงเครื่องมือสุขภาพจิตเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองได้บ้าง

PERMA+H Model

อรุณฉัตร กล่าวต่อว่า PERMA+H Model คือองค์ประกอบสำคัญทั้ง 6 ด้าน ที่จะเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนาสุขภาพจิตเชิงบวกที่สามารถใช้ได้ในทุกคน โดย PERMA มาจากทฤษฎีสุขภาพจิตเชิงบวกที่เป็นสากล คิดค้นโดย ดร.มาร์ติน สลิปแมน โดย P ย่อมาจาก Positive Emotion การมีอารมณ์เชิงบวก E คือ Engagement เป็นการมีส่วนร่วมในตัวเอง R คือ Positive Relationship การมีความสัมพันธ์ที่ดี M คือ Meaning การตระหนักในเรื่องความหมาย คุณค่า การรู้จักตัวเอง A คือ Accomplishment การตระหนักถึงทุกย่างก้าวของชีวิต  

"ทีนี้เราเติมตัว H ไปอีกตัวคือ Health เป็นเรื่องของสุขภาพ อาทิ การหลับดี ซึ่งโดยทั่วไป ทั้ง 6 ข้อนี้ เรามีอยู่แล้ว อยากฝึกตัวไหนให้แข็งแรงขึ้น เราก็ฝึกตัวนั้น ช่วยเพิ่มพลังให้เรามีความสุขโดยรวม มีภาวะงอกงามจิตมากขึ้นเท่านั้นเอง" อรุณฉัตร บอกเล่า

\'จิตวิทยาเชิงบวก\' โซลูชันเติมความสตรอง ในวันที่ใจไม่ไหว

"คิดบวก" เปลี่ยนได้ ฝึกฝนได้

เมื่อ จิตวิทยาเชิงบวก เป็นศาสตร์ที่ยังไม่คุ้นเคยสำหรับคนไทย แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้น หวังว่าจะเป็นก้าวเริ่มต้นที่ช่วยจุดประกายให้คนในสังคม หันมาลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่ผ่านมามีความสุขกับอะไรได้บ้าง?

อรุณฉัตร อธิบายต่อ จิตวิทยาเชิงบวกเป็นศาสตร์ที่เชื่อในเรื่องของโซลูชันว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญหรือกำลังเป็นจริงๆ มีที่มาที่ไปและเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ฝึกฝนได้ ไม่ว่านิสัยจะเป็นอย่างไรในปัจจุบัน เราต้องเชื่อว่าเราฝึกฝนและเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อในเรื่องนี้ก่อน 

"แนวคิดหลักๆ ของจิตวิทยาเชิงบวก มีเรื่องการจัดการอารมณ์ การจัดการความคิด ถือเป็นการช่วยให้เราละเอียดกับการถามตัวเองมากขึ้น และอะไรบ้างที่ทำให้เราออกจากภาวะอารมณ์เชิงลบของตัวเองได้ มีวิธีการไหนบ้างที่เราเคยใช้แล้วสำเร็จ และเราจะฝึกฝนให้มันใช้งานได้ดีอย่างไร จิตวิทยาเชิงบวกมีทางเลือกเสมอ และทุกทางเลือกทำให้เราเติบโตขึ้น สิ่งที่ Mindset maker ทำ จะมีเครื่องมือหรือโซลูชันให้เลือก เช่น เราจะสร้างความสัมพันธ์อย่างไร เราจะพัฒนาความสัมพันธ์กับคนเดิมอย่างไร และเราจะรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวอย่างไร รวมไปถึงการจะกลับมาปรับความสัมพันธ์กับคนที่เราอยากปรับสัมพันธ์ด้วยอย่างไรบ้าง" อรุณฉัตร กล่าว

อรุณฉัตร กล่าวต่อไปด้วยว่า ทุกคนสามารถลองดาวน์โหลดเครื่องมือในแพลตฟอร์มมาทดลองปรับใช้ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ เราอาจใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Small Talk เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาค่อนข้างมากหลังช่วงโควิด หลายคนไม่มีประโยคตั้งต้นที่จะชวนคุยกับเพื่อนหรือคนอื่นได้ ดังนั้นต้องฝึก Small Talk หรือถ้าอยากรักษาความสัมพันธ์ ทำอย่างไรให้เราคุยได้ เราไม่เคยสื่อสารกับเขาเลย ที่อาจช่วยให้จังหวะธรรมดาเป็นจังหวะพิเศษ เป็นต้น

พลิกมุมคิด ชีวิตเปลี่ยนได้ (จริง)

ดิษฐ์ศกร ชนะศรี เจ้าของช่อง YouTube คิดดีทีวี ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2.9 ล้านคน ร่วมแชร์มุมมองถึงเหตุผลว่าทำไมทุกวันนี้ คนเราถึงมีความสุขน้อยลง นั่นก็เพราะว่าส่วนหนึ่งโลกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว อาจทำให้เรารู้สึกว่าตามไม่ทัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้เกิดความทุกข์ตามมา

"โลกปัจจุบันเราห้ามไม่ให้เกิดความเครียดไม่ได้ เพราะมีหลายเรื่องที่เราห้ามไม่ได้เช่นกัน อาทิ รถติด ฟ้าฝน ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง สารพัด ซึ่งหลายคนอาจบ่นรู้สึกในใจว่า อยากกลับไปเป็นเด็กจัง เพราะเจ็บมากสุดแค่หกล้มและร้องไห้ก็หาย แต่ความจริงแล้ว หากเพียงเราลองเปลี่ยนเป็นมุมมองโลก ปรับ Mind Set ในแง่บวกก็อาจทำให้เราและใครอีกหลายคนไม่ต้องเผชิญ หรือเข้าสู่วัฏจักรของ โรคซึมเศร้า ซึ่งตัวผมเอง เห็นเป็นคนพูดเก่งวันนี้ แต่เมื่อก่อนทุกคนบอกผมพูดมาก ซึ่งความหมายมันคนละเรื่องเลยนะ ทำให้ผมไม่กล้าพูดเลยอยู่นาน จนต่อผมมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนบอกว่า พี่พูดเก่งจังเลย ผมก็เลยเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น พัฒนาตัวเองจนทำให้การพูดเป็นอาชีพได้ทุกวันนี้" ดิษฐ์ศกร กล่าว

ดิษฐ์ศกร กล่าวต่อไปว่า เราทุกคนสามารถที่จะมอบ พลังเชิงบวก ให้ทั้งตัวเองและคนรอบตัวได้ ในฐานะคนทำงานด้านสื่อ จากประสบการณ์พบว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่คนยุคปัจจุบันสนใจเป็นเรื่องอะไรที่ง่ายๆ ไม่ยากสำหรับพวกเขา คนเลิกดูทีวี หันมาเล่นมือถือ หรือใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น ยิ่งตอนนี้มี Tiktok ยิ่งทำให้คนยิ่งชอบเรื่องสั้นๆ มากขึ้น คลิปแค่ 30 วินาที ก็ทำให้คนหัวเราะหรือมีอารมณ์ร่วมไปได้ ซึ่งหากเข้าไปดูแพลตฟอร์ม Mindset Maker ก็จะพบการนำเสนอและการสื่อสารที่สามารถเข้าถึง ทุกคนสามารถศึกษาและนำไปทดลองใช้ได้ด้วยตัวเอง

อรุณฉัตร กล่าวเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่เราขาดไปในสังคมบ้านเราคือ เราขาดตัวช่วยที่มัน Ready to Use หรือที่พร้อมใช้ได้ง่ายสำหรับทุกคน หลายครั้งเวลาที่เราต้องไปพัฒนาสุขภาพจิต ขั้นตอนมันเยอะมาก เราอาจต้องหาข้อมูล ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นการออกแบบแพลตฟอร์ม จิตวิทยาเชิงบวก ของ Mindset Maker จึงเน้นความสะดวกและง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงที่ง่าย การสื่อสาร และการนำเสนอที่ต้องการให้ผู้เข้าชมเข้าใจด้วยเทคนิคง่ายๆ

"ยกตัวอย่าง เทคนิคทำไมเราต้องรู้จักตัวเอง อาจเป็นการสะท้อนความคิดตัวเองว่าที่ผ่านมา เราเปิดจังหวะความคิดยังไง เทคนิคง่ายๆ เช่น การที่เราเล่าเรื่องตัวเองให้คนที่เราไว้วางใจได้ฟัง ก็เป็นทบทวนพฤติกรรมของเราผ่านการเล่าให้คนอื่นฟัง เพราะต้องกลับไปทบทวนเรื่องราวต่างๆ เราต้องเรียบเรียงเพื่อถ่ายทอดออกมา แล้วมีคนตอบสนองเชิงบวกในการฟังเรา เรื่องนี้แค่ 15 นาที ก็ทำได้แล้ว" อรุณฉัตร กล่าว

\'จิตวิทยาเชิงบวก\' โซลูชันเติมความสตรอง ในวันที่ใจไม่ไหว

Mindset Maker Hackathon 2023

สำหรับกิจกรรม Mindset Maker Hackathon 2023 ครั้งนี้ "อรุณฉัตร" กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเชื่อมโยงเครือข่าย และไอเดียที่หลากหลายเพื่อต่อยอดร่วมกันพัฒนาชุดเครื่องมือจิตวิทยาเชิงบวก โดยหัวข้อที่ชวนให้ทุกคนมาร่วมระดมสมองคิดค้นไอเดียและนวัตกรรมใหม่ 6 หัวข้อ ได้แก่

  1. อารมณ์ดี พัฒนาเครื่องมือที่สามารถช่วยฝึกทักษะอารมณ์เชิงบวกของตนเอง เพิ่มพลังงานที่ดีในการดำเนินชีวิตประจำวัน
  2. จิตใจแข็งแรงดี พัฒนาเครื่องมือฝึกจัดการกับความคิดของตัวเอง
  3. ความสัมพันธ์ดี พัฒนากิจกรรม และการสนทนาในชีวิตประจำวันที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก
  4. รู้จักตัวเองดี พัฒนาเครื่องมือ กิจกรรมฝึกสะท้อนความคิดและสร้างความหมายต่อประสบการณ์ต่างๆ ที่เจอในชีวิต
  5. สำเร็จดี พัฒนาเครื่องมือสำรวจความก้าวหน้า ความเติบโต และความงอกงามของตนเอง
  6. หลับดี การพัฒนากิจกรรม เครื่องมือ การจัดสภาพแวดล้อมให้มีสุขภาพกายที่ดีขึ้น เริ่มจากการนอนหลับให้เพียงพอ 

"การจัดประกวดเราอยากเปิดกว้าง เราอยากได้ไอเดียที่หลากหลาย เราเชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน หากเรามาทบทวนความคิดให้ละเอียดขึ้นว่า เรามีวิธีปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับการทั้ง 6 ธีม เราก็จะได้เห็นความแตกต่างในแต่ละเฉดที่สวยงามแตกต่างกัน มันอาจจะมีโอกาสไปตอบโจทย์กับบางคนได้มากยิ่งขึ้น" อรุณฉัตร เผยถึงแนวคิด

อรุณฉัตร กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนนวัตกรรมนั้น อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีหรืออะไรที่ล้ำมาก แค่กระดาษแผ่นเดียวก็ได้ ชุดคำถามไกด์ไลน์ก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่เอามาต่อยอดแล้วเกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งเราอยากให้สิ่งเหล่านี้มาใช้ในวงกว้างมากขึ้น แน่นอนเราคงไม่ได้ตัดแปะสิ่งที่มีอยู่มาใส่เลย แต่อย่างน้อยต้องมีการประยุกต์ให้ใช้ง่ายขึ้น โดยหลังจาก Hackathon แล้ว Mindset Maker จะร่วมกันพัฒนาชุดการสื่อสารรูปแบบอื่น ทั้งคลิปสำหรับการสื่อสารผ่าน Social Media และ Animation ต่างๆ ที่จะทยอยเปิดตัวตลอดปีนี้ สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก themindsetmaker