ลงทุนในยานวัตกรรม ลงทุนกับสังคมไทย

ลงทุนในยานวัตกรรม ลงทุนกับสังคมไทย

สัมภาษณ์พิเศษ "โรมัน รามอส" นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) "สุขภาพไม่ใช่ภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการดูแลสังคม แต่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป"

เราได้ยินคำเตือนเรื่องการเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กันมานับสิบปีแล้ว แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่จะกระตุกต่อมคนไทยได้เท่ากับข้อมูลเมื่อช่วงปลายปี 2566 ว่า ประเทศไทยกำลังมีจำนวนคนเสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่ นับว่า "เป็นครั้งแรก" และเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ทำให้หันมาฉุกคิดถึงอนาคตกันมากขึ้น โดยเฉพาะ "การดูแลรักษาสุขภาพ" ที่ในอีกไม่นาน อาจจะต้องรับมือกับคลื่นมหาชนคนสูงวัยครั้งใหญ่ 

นายโรมัน รามอส (Roman Ramos) นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) และประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ Frontier Markets ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" โดยมองว่า การลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่วันนี้ คือสิ่งที่ภาครัฐสามารถทำการพิจารณา ก่อนที่ต้นทุนการจัดการจะสูงขึ้น

ลงทุนในยานวัตกรรม ลงทุนกับสังคมไทย

นายโรมัน ในฐานะนายกสมาคมพรีม่า กล่าวต่อว่า จากการประเมินภาพรวมประชากรโลกเมื่อปี 2022 เรากำลังจะมีประชากรวัย 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 16% ภายในปี 2050 และคนอายุ 80 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า แต่สำหรับประเทศไทย อาจไม่ต้องรอนานขนาดนั้น เพราะทุกวันนี้ก็มีผู้สูงวัยที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนถึง 20% ของคนทั้งประเทศ หรือเรียกได้ว่าเรามีผู้สูงอายุทุกๆ 1 ใน 5 คน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว

"การที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้เกิดความต้องการด้านการรักษาพยาบาลในสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นตามมา การดูแลสุขภาพเพิ่มเติมจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และยังมีการให้ความสำคัญถึงการเตรียมตัวรับมือกับความต้องการของคนในประเทศที่กำลังสูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็ว"

แน่นอนว่า ภาวะเช่นนี้จะเพิ่มแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขตามไปด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยไม่สามารถหยุดการพัฒนาในด้านนี้ได้ โดยเฉพาะการลงทุนด้าน "ยานวัตกรรม" (innovative drugs) ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการรองรับความต้องการที่สูงขึ้นตามสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 ไปจนถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

R&D คือหัวใจสำคัญของยานวัตกรรม

เราเริ่มรู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของ "ยานวัตกรรม" กันมากขึ้น หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ 3 ปีก่อน หากไม่มีวัคซีนในวันนั้นเราอาจจะยังไม่ได้มาคุยแบบเจอหน้ากันเหมือนในวันนี้ แต่วัคซีนไม่ใช่สิ่งที่จะพัฒนาขึ้นมาได้ทันที หากโลกหยุดการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราคงไม่สามารถพัฒนาวัคซีนออกมาได้อย่างรวดเร็วในปี 2563 และ 2564 จึงต้องมีความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยานวัตกรรมยังมีความเกี่ยวข้องสูงกับกลุ่ม โรค NCDs ที่มักพบในผู้สูงวัยที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย

ลงทุนในยานวัตกรรม ลงทุนกับสังคมไทย

สำหรับการให้ความสำคัญต่อการลงทุนในด้านยานวัตกรรมของประเทศไทยนั้น "นายโรมัน" มองว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเพิ่มบทบาทในเวทีสาธารณสุขระดับโลกด้าน "การทดลองทางคลินิก" (clinical trial) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนายาและเวชภัณฑ์ ประเทศไทยมีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์ และการทดลองทางคลินิกของไทยก็มีศักยภาพสูงและยังสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก 

การทดลองทางคลินิกถือว่ามีความสำคัญมากในประเทศหนึ่งๆ เพื่อให้บรรลุความมั่นคงด้านระบบสุขภาพของชาติ บางประเทศสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของอุตสาหกรรมยาเพื่อเพิ่มการทดลองทางคลินิก ในขณะที่อีกหลายประเทศมองข้ามในจุดนี้ การทดลองอย่างต่อเนื่องนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงโมเลกุล และยาใหม่ๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งนับเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วย ส่วนในมุมของแพทย์และนักวิจัยพวกเขาก็มองเห็นความเป็นไปได้ และอนาคตจากการทดลองใช้ยาเหล่านั้น จากข้อมูลการศึกษาผลกระทบการวิจัยทางคลีนิคของดีลอยท์เมื่อปี 2015 พบว่า ในประเทศไทยเงินทุกๆ บาทที่ลงทุนไปกับการวิจัยทางคลินิคจะได้รับมูลค่าทางเศรษฐกิจตอบแทนกลับมาเป็นจำนวน 2.9 บาท 

"ไต้หวัน" และ "เกาหลีใต้" ถือเป็นตัวอย่างผู้นำตลาดในเอเชียในด้านการทดลองทางคลินิก โดยไต้หวันนั้นมีระบบฟาสต์แทร็กที่ช่วยให้การขออนุมัติเป็นไปได้ภายในเวลาเพียง 15 วัน และทำให้ภาพรวมการขออนุมัติการทดลองทางคลินิกมีความรวดเร็วและใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ในขณะที่บางประเทศอาจต้องรอนานถึง 12 - 18 เดือน ซึ่งกระบวนการทั้งหมด มีผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น หากประเทศไทยมีการพัฒนาในด้านนี้ เช่น การพิจารณากรอบระยะเวลาหรือฟาสต์แทร็ก ก็จะช่วยทำให้ประเทศมีการพัฒนาไปอีกขั้น และนี่ก็เป็นเพียงด้านหนึ่งของการแข่งขันในเรื่องระบบนิเวศ เมื่อเทียบเคียงกับการพัฒนาในต่างประเทศ 

ลงทุนในยานวัตกรรม ลงทุนกับสังคมไทย

พัฒนาระบบนิเวศ กระตุ้นการลงทุนพัฒนายานวัตกรรม

นายโรมัน มองว่า การที่นวัตกรรมจะเติบโตได้นั้นจำเป็นต้องมี "ระบบนิเวศ" ที่เหมาะสม คือมีองค์ประกอบหลายด้านควบคู่ไปด้วยกันเพื่อสร้างความสนใจให้บริษัทที่มีนวัตกรรมเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในไทยให้มากขึ้น การมีมาตรการการจูงใจที่เหมาะสม มีการมอบโอกาสในการลงทุนที่ชัดเจนให้กับบริษัทต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ

การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากบริษัทที่มีนวัตกรรมสามารถทำได้ด้วยการปรับปรุงนโยบาย ขั้นตอน และระเบียบทางราชการ ให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้น เช่น การพิจารณาอนุมัติที่ใช้เวลากระชับขึ้นสำหรับการทดลองทางคลินิกที่ดำเนินการอยู่ การพิจารณานำยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และการอนุมัติการรับรองยาใหม่ๆ โดยเฉพาะยาที่ได้รับการอนุมัติมาแล้วในสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศอ้างอิงอื่นๆ รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IP)

นายโรมัน มองว่า กฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรยายังมีความท้าทายในแง่ของระยะเวลา และอยากเห็นการย่นระยะเวลาในการพิจารณา เพื่อป้องกันการเกิดช่องโหว่เรื่องความคุ้มครองก่อนที่จะได้รับสิทธิบัตร ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของการลงทุนด้านยาและเภสัชภัณฑ์ในประเทศไทย

โมเดล PPP เปิดทางรัฐร่วมลงทุนเอกชน

ยานวัตกรรม ถือเป็นยาราคาแพงและการลงทุนในยานวัตกรรมก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก ในแง่ของ "การหาทุน/ระดมทุน" นั้น นายโรมัน กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความน่าจะเป็นไปได้ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และระดมทุนด้วยเหตุผลหลายข้อด้วยกัน 

อย่างไรก็ตาม พรีม่า ได้มีการพูดคุยในเรื่องการใช้รูปแบบ "การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน" (PPP) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยานวัตกรรม ที่เป็นการสร้างโมเดลราคาในการแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน หากยาที่เลือก ประเมินแล้วไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ หรือไม่เป็นไปตามที่มีความเห็นร่วมกันไว้ ภาครัฐก็ไม่ควรต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ซึ่งนี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐและภาคเอกชนสามารถประสานความร่วมมือกัน เพื่อลดแรงกดดันด้านภาระงบประมาณ ทั้งนี้สมาชิกพรีม่าแต่ละบริษัทต่างก็มีความร่วมมือกับภาครัฐในแต่ละด้านที่ต่างกันออกไป 

อีกตัวอย่างที่สำคัญก็คือ ความร่วมมือกับรัฐบาลในการจัดตั้งกองทุนรับมือกับโรคร้ายที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา เช่น "กองทุนมะเร็ง" เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงยานวัตกรรมสำหรับการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงทว่าราคาแพงได้ 

"ผมไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ แต่เท่าที่ผมทราบ นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีแผนการจัดตั้งกองทุนมะเร็งขึ้น ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ เพราะรัฐบาลจะมีงบประมาณเฉพาะเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายที่มีค่าใช้จ่ายสูงและประชาชนต่างก็ต้องการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ" 

วิธีนี้จะช่วยให้รัฐบาลซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณรายปี สามารถร่วมลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงยานวัตกรรมของประชาชนได้มากขึ้น ซึ่งวิธีนี้ยังสามารถครอบคลุมถึงโรคร้ายอื่นๆ โดยในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้และสหราชอาณาจักร ต่างก็มีการใช้โมเดลตั้งกองทุนร่วมลงทุนในโรคเฉพาะทาง เพื่อไม่ให้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของภาครัฐเป็นอุปสรรคต่อการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง  

"เราจะร่วมมือกับภาครัฐเพื่อทำให้คนไทยเข้าถึง ยานวัตกรรม ได้อย่างไร ผมเข้าใจดีว่ารัฐบาลทั่วโลกไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทย ต่างก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการลงทุนกับยาตัวใหม่ แต่สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักก็คือ การลงทุนในยานวัตกรรมไม่ใช่ภาระค่าใช้จ่าย เพราะสุขภาพ คือการลงทุนเพื่ออนาคต Health is Wealth สุขภาพของประชาชนที่แข็งแรง สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องและยั่งยืน" นายโรมัน กล่าวทิ้งท้าย