‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก  แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

รู้หรือไม่ สัตว์เลี้ยง ไม่ใช่แค่น่ารัก หรือเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน เป็นครอบครัวเท่านั้น แต่สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะน้องหมา น้องแมว ยังสามารถช่วยบำบัดจิตใจ ร่างกาย ได้ ในบางประเทศมีกฎหมายรองรับในเรื่องของสุนัขบำบัด รวมถึง มาตรฐาน หลักสูตรสำหรับสุนัขบำบัดอีกด้วย

Key Point :

  • ตลาดสัตว์เลี้ยง 5 ปีย้อนหลังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10-11% แนวโน้มอนาคตยังขยายตัวต่อเนื่อง จากการที่คนยุคใหม่หันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น และนิยมมีลูกกันน้อยลง
  • สัตว์เลี้ยงนอกจากมีไว้คลายเหงา ยังช่วยบำบัดได้อีกด้วย ที่ผ่านมา มีการนำ สัตว์เลี้ยงมาบำบัด ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมากพอสมควรว่าได้ผลดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถช่วยเยียวยาด้านจิตใจเป็นอย่างดี
  • ในบางประเทศมีกฎหมายรองรับในเรื่องของ สุนัขบำบัด กำหนดประเภท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยภาครัฐ มีการกำหนดมาตรฐานและหลักสูตรสำหรับสุนัขบำบัด

 

เมื่อคนรุ่นใหม่นิยมมีลูกกันน้อยลง และเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เป็นลูก เสมือนคนในครอบครัว หรือ 'Pet Parent' กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโต โดย ตลาดสัตว์เลี้ยง 5 ปีย้อนหลังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10-11% แนวโน้มอนาคตยังขยายตัวต่อเนื่อง

 

ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่า ในปี 2021 ธุรกิจสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่ากว่า 60,691 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 156,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง คาดการณ์ว่า ในปี 2026 ตลาดสัตว์เลี้ยงของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 217,615 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% โดยธุรกิจสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าราว 60,691 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 156,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก  แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

การบำบัดด้วยสัตว์

ข้อมูลจาก นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เผยแพร่ใน ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม อธิบายว่า 'การบำบัดด้วยสัตว์' มาจากคำว่า 'Animal Assisted Therapy' หรือ 'Animal Therapy' คือ การนำสัตว์มาร่วมในโปรแกรมการบำบัดรักษาผู้ป่วย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพิ่มความสามารถในการปรับตัว หรือช่วยเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น เป็นการบำบัดที่นำมาเสริมเข้ากับการรักษาวิธีการหลัก ซึ่งมีการนำมาใช้อยู่หลากหลายวัตถุประสงค์ และหลากหลายรูปแบบ โดยต้องมีการคัดเลือกและฝึกฝนสัตว์มาเป็นอย่างดี พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

 

สัตว์ที่นิยมนำมาใช้บำบัด

  • สุนัข
  • แมว
  • ม้า
  • โลมา เป็นต้น

 

สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy)

สัตว์เลี้ยงบำบัด นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการบำบัดด้วยสัตว์ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมากพอสมควรว่าได้ผลดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถช่วยเยียวยาด้านจิตใจเป็นอย่างดี สำหรับในเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือทารุณกรรม ก็พบว่าสัตว์เลี้ยงสามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้ดีมากเช่นเดียวกัน ให้ทั้งความรู้สึกที่ปลอดภัยขึ้น ได้รับความรักโดยไม่มีเงื่อนไข และเด็กยังสามารถสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย

 

‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก  แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

 

 

ประโยชน์ของการบำบัดด้วยสัตว์

สัตว์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติและเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการนำมาบำบัดรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะต้องพิจารณาตามสภาพปัญหา และความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน พบว่าสามารถนำสัตว์มาใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาทางการแพทย์ได้หลากหลาย ดังนี้

  • ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ การบำบัดด้วยสัตว์ช่วยนำกลับมาสู่ปัจจุบันขณะได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักหลงพะวงและระแวงเป็นส่วนใหญ่ ลูกสุนัขที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี สามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลุดออกมาจากภาวะเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดอาการกระสับกระส่าย (agitated behavior) และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
  • ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร หรือผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มหัดพูดใหม่อีกครั้งหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง สัตว์เลี้ยงสามารถช่วยกระตุ้นการสื่อสารพูดคุยได้เป็นอย่างดี
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ก็สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และเสริมสร้างความผูกพันที่ดีได้ ช่วยให้ลดมุมมองในเชิงลบหรือเลวร้ายที่มีต่อโลกหรือคนรอบข้าง
  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีอาการดีขึ้นได้ด้วยสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน เนื่องจากช่วยลดความซ้ำซากจำเจในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเพิ่มความสนใจ ใส่ใจ ในโลกนอกตัวที่กว้างขึ้น
  • สัตว์เลี้ยงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของความหวังอีกครั้ง จากการได้เรียกหาแล้วได้รับการสนองตอบ จากการรอคอยเวลาแล้วได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เป็นการสร้างความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
  • สัตว์เลี้ยงสามารถให้สัมผัสที่อบอุ่นได้เป็นอย่างดี จากการลูบ กอด ซึ่งเป็นเสมือนสัมผัสแห่งรักมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป
  • สัตว์เลี้ยงช่วยเสริมสร้างปฎิสัมพันธ์ทางสังคมได้เป็นอย่างดี กระตุ้นให้ออกมาจากห้อง และมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกับสัตว์และผู้อื่นมากขึ้น
  • ในเด็กสมาธิสั้น พบว่า สามารถจดจ่ออยู่กับสัตว์เลี้ยงได้นานขึ้น ซึ่งช่วยให้เรียนรู้สภาวะที่มีสมาธิดี และในเด็กออทิสติก พบว่า ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพิ่มขึ้น จากการนำสุนัขมาช่วยในการบำบัด
  • การนำสัตว์มาใช้ร่วมในการบำบัดเด็กพิเศษ หรือเด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรัง อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ชีวิตดูง่ายขึ้น และมีสีสัน ความสนุกสนานมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดรักษาในแนวทางหลักได้ดียิ่งขึ้น

 

โดยสรุปแล้วการบำบัดด้วยสัตว์มีประโยชน์มากมาย ถ้าสามารถเลือกนำมาใช้ได้เหมาะสม อย่างน้อย 3 ประการ คือ

1) ผลทางด้านจิตวิทยา คือ ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย สร้างเสริมแรงจูงใจ

2) ผลทางด้านสังคม คือ กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล

3) ผลทางด้านชีววิทยา คือ การช่วยให้สัญญาณชีพดีขึ้น เช่น การเต้นของหัวใจ ชีพจร ความดันโลหิต

 

‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก  แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

 

ตัวอย่างการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยง

แมว นักบำบัด

แมวบำบัด หรือการนำแมวมาช่วยในการบำบัด (cat therapy/ feline-assisted therapy) ดูเหมือนจะไม่คุ้นหูมากนัก แต่ก็มีการนำมาใช้ในโปรแกรมการบำบัดเช่นเดียวกัน สามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี นำมาใช้เป็นทางเลือกในผู้ที่กลัวสุนัข หรือไม่สามารถไปบำบัดด้วยสัตว์ใหญ่ได้ และที่สำคัญคือ เป็นการบำบัดที่เหมาะสมกับเหล่าทาสแมวเป็นอย่างดี

 

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความอยากรู้อยากเห็นสูงมาก และยังเป็นสัตว์ที่มีจิตวิทยาสูงอีกด้วย รับรู้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ดี รู้ว่าเจ้าของต้องการขอความช่วยเหลือเมื่อไหร่ สามารถเตือนภัยแผนดินไหวและภัยธรรมชาติต่าง ๆ และกล่าวกันว่าสามารถเตือนภัยให้กับเจ้าของได้อีกด้วย

 

แมวที่นำมาใช้บำบัดต้องคัดเลือกกันพอสมควร นอกจากความน่ารัก ขนสวย มีเสน่ห์ดึงดูดได้ดีแล้ว ควรเป็นแมวที่มีลักษณะ ดังนี้

  • ท่าทีเป็นมิตร เข้ากับคนแปลกหน้าได้ง่าย ยอมให้อุ้มกอดได้
  • ทนต่อสิ่งกระตุ้นที่ผิดแปลกได้ดีทั้งสิ่งที่มองเห็นและเสียงที่ได้ยิน
  • เชื่อง เลี้ยงง่าย มีลักษณะนิสัยที่สงบ ไม่ตกใจง่าย
  • ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีในบ้าน
  • ไม่มีประวัติดุร้าย ทำร้ายคนอื่น หรือสัตว์ตัวอื่น
  • ยอมให้สวมใส่ปลอกคอ กระพรวน หรือสายจูงได้
  • มีการทำความสะอาดและดูแลสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ
  • ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

 

แมว ช่วยบำบัดผู้ป่วยกลุ่มใด

  • กลุ่มผู้ป่วยที่สามารถใช้แมวบำบัด มีหลายกลุ่ม ได้แก่ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล กลัว โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความบกพร่องทางการเห็นหรือการได้ยิน ความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก สมาธิสั้น และผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ
  • แมวบำบัดสามารถนำไปใช้ได้ในหลายบริบท ทั้งในโรงพยาบาล และที่อื่น ๆ เช่น บ้าน โรงเรียน เนอซเชอรี่ ศูนย์ฟื้นฟูฯ สถานบริบาล และเรือนจำ เป็นต้น
  • กลุ่มเด็กออทิสติก พบว่า สัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กกับแมวที่เลี้ยงไว้ จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมทางสังคมของเด็กมากชึ้น เพิ่มความผูกพัน เพิ่มความสนใจ ช่วยให้สงบอารมณ์ได้ นอกจากนี้แมวยังช่วยเรื่องระบบรับสัมผัสให้สมดุลขึ้น
  • กลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อ และข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการ มีการนำแมวมาช่วยนวดเช่นกัน แต่ยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนในเรื่องนี้ชัดเจน

 

‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก  แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

 

สุนัขบำบัด

‘สุนัขบำบัด’ หรือ การนำสุนัขมาช่วยในการบำบัด (dog therapy / canine assisted therapy) คือ การบำบัดรักษาทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนำสุนัขเข้ามาช่วยในกระบวนการบำบัด สามารถช่วยได้ทั้งเรื่องของร่างกายและจิตใจ นำไปใช้ได้ในหลายบริบท เช่น บ้าน โรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ บ้านพักผู้สูงอายุ โรงเรียน เป็นต้น

 

การบำบัดทางร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยหลักการทั่วไปของกายภาพบำบัด จำเป็นต้องมีการบริหารกล้ามเนื้อ ซึ่งการมีสุนัขร่วมทำกิจกรรมด้วย จะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย และสามารถออกกำลังได้นานขึ้น สุนัขสามารถเข้ามาช่วยให้มีการขยับแขนหรือขาเพิ่มขึ้น โดยการโยนของไปแล้วให้สุนัขวิ่งไปคาบกลับมา การลูบคลำ หรือการแปรงขนสุนัขก็เป็นการออกกำลังกายแขนอย่างหนึ่ง

 

การบำบัดทางจิตใจ โดยการนำสุนัขไปแสดงโชว์ความน่ารักให้ผู้สูงอายุหรือเด็กดู เพื่อช่วยให้คลายความเหงาลงได้ การเลี้ยงสุนัขยังช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถจัดเป็นโปรแกรมการบำบัดโดยตรง โดยมีเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีต่อตนเอง และคนรอบข้าง ให้เป็นเชิงบวกมากขึ้น

 

สุนัขที่จะนำมาช่วยในการบำบัดควรผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ไม่ได้กำหนดสายพันธุ์หรือขนาด คุณสมบัติขั้นต้นของสุนัขที่เหมาะสมกับการบำบัด คือ มีอายุ 2-7 ปี เชื่อฟังคำสั่ง เข้าใจคำสั่งพื้นฐานได้ ชอบเข้าสังคม สามารถอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าหรือสุนัขตัวอื่นได้ ไม่ดุร้าย ไม่มีประวัติกัดหรือทำร้ายใคร ไม่มีโรคติดต่อ ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ

 

สุนัขที่นิยมนำมาบำบัดในต่างประเทศมักเป็นสายพันธุ์ที่มีความคล่องตัว มีการตอบสนองต่อคนค่อนข้างดี เช่น สุนัขพันธุ์ “ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์” หรือ “โกลเด้นท์ รีทรีฟเวอร์”

 

‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก  แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

 

สุนัขบำบัดผู้ป่วย

การนำสุนัขมาช่วยในการบำบัด มีหลากหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์ และกลุ่มผู้ป่วยที่นำไปใช้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) สุนัขบริการ (service dog) คือ สุนัขที่ได้รับการฝึกเป็นพิเศษ เพื่อทำงานเฉพาะกิจในการดูแลเจ้าของเพียงคนเดียว ซึ่งมักเป็นผู้พิการหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ลมชัก ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยนำทางคนตาบอด ช่วยเปิดประตูผู้พิการนั่งรถเข็น กดรับโทรศัพท์ เห่าแจ้งเหตุอาการป่วย ฯลฯ

 

2) สุนัขให้กำลังใจ (emotional support dog) คือ สุนัขที่ดูแลและอยู่เคียงข้างเจ้าของ ซึ่งเป็นผู้ป่วยทางด้านอารมณ์และจิตใจ คอยให้ความรัก ความอุ่นใจ เป็นเพื่อนข้างกาย

 

3) สุนัขบำบัด (therapy dog) คือ สุนัขที่ได้รับการฝึกเป็นพิเศษพร้อมกับเจ้าของ จนได้รับประกาศนียบัตรเป็นสุนัขบำบัด เพื่อสร้างความผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้อื่น ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล บ้านพักผู้สูงอายุ และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ

 

ในบางประเทศมีกฎหมายรองรับในเรื่องของสุนัขบำบัด กำหนดประเภท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยภาครัฐ มีการกำหนดมาตรฐานและหลักสูตรสำหรับสุนัขบำบัด แต่ในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เริ่มมีสถาบันที่รับฝึกสุนัขเพื่อการบำบัดตามมาตรฐานสากล และมีสถานพยาบาลบางแห่งนำเอาสุนัขมาช่วยในการบำบัดผู้ป่วย อาทิ การบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต และคนชรา

 

‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก  แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

 

สุนัขบำบัด ประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทย มีการจัดตั้งองค์กร สุนัขบำบัดแห่งประเทศไทย Therapy Dog Thailand ที่รวบรวม 'นักบำบัดที่น่ารักที่สุดในโลก' ด้วย 'หลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย' ตามแนวทางการฝึก 'สุนัขนักบำบัด' ของ Therapy Dog Association Switzerland ที่ได้มาตรฐานระดับโลก

 

มุ่งฝึกสอน 'สุนัข' และ 'เจ้าของ' เพื่อให้เป็นทีมนักบำบัด ออกไปสร้างความสุข กระจายความรักสู่ผู้คนที่ต้องการในโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา คลินิกพักฟื้นผู้ป่วยและสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความต้องการ โดยสุนัขและเจ้าของออกปฏิบัติหน้าที่ในแบบจิตอาสาตามความสมัครใจ เพื่อให้ผู้คนรู้สึกดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

ทั้งนี้ กว่าจะได้เป็น Therapy Dog นั้น สุนัขจะต้องผ่านการทดสอบ ตั้งแต่การทดสอบคุณสมบัติเพื่อเข้ารับการฝึก ไปจนกระทั่งการฝึกเสร็จสิ้น เพื่อผ่านเกณฑ์และได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเป็น Therapy Dog และสามารถออกไปบำบัดดูแลผู้อื่นได้อย่างเป็นทางการ

 

โดยทั่วไป สุนัขที่จะฝึกเพื่อเป็นสุนัขนักบำบัดได้นั้น จะไม่กำหนดสายพันธุ์ หรือขนาด แต่จะมีการกำหนดคุณสมบัติขั้นต้นของสุนัขที่เหมาะสมกับการฝึก อาทิ มีอายุระหว่าง 1.5-7 ปี การเข้าใจคำสั่งพื้นฐานได้ สามารถอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าหรือสุนัขตัวอื่นได้ ว่าง่ายๆคือ เป็นสุนัขที่ชอบเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้สามารถนำมาฝึกเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น 'สุนัขนักบำบัด' หรือ 'Therapy Dog' ได้

 

‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ใช่แค่น่ารัก  แต่ยังช่วยบำบัดจิตใจและร่างกาย

 

อ้างอิง : ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การบำบัดด้วยสัตว์. จาก ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม , Therapy Dog Thailand