มารู้จัก "ไมโคพลาสมา" เชื้อแบคทีเรียขนาดเล็กก่อเกิดโรค ไม่มีวัคซีนป้องกัน

มารู้จัก "ไมโคพลาสมา" เชื้อแบคทีเรียขนาดเล็กก่อเกิดโรค ไม่มีวัคซีนป้องกัน

เชื้อแบคทีเรีย  ไวรัส ย่อมส่งผลต่อการเกิดโรคต่างๆ ในร่างกายของมนุษย์  “โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียขนาดเล็กในกลุ่ม  Myco plasma ซึ่งจะติดต่อจากคนสู่คน และปัจจุบันยังไร้วัคซีนป้องกัน

โรคติดเชื้อ ไมโคพลาสมา หรือ โรคไมโคพลาสมา ( Mycoplasma Infection) เป็นเชื้อแบคทีเรียขนาดที่เล็กที่สุด เป็นแบคทีเรียที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย เนื่องจากเป็นแบคทีเรียขนาดเล็ก โดยปกติแบคทีเรียกลุ่มนี้จะมีอยู่ในร่างกายหลายชนิด มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ก่อให้เกิดโรค

โดยแบ่งโรคติดเชื้อไมโคพลาสมาออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามตำแหน่งของการเกิดโรค คือ

  1. การติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจ
  2. การติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์

โรคทั้งสองกลุ่มนี้ มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษา แต่ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ผู้ที่เคยติดเชื้อเป็นโรคมาแล้ว มีโอกาสติดเชื้อและเป็นโรคซ้ำได้อีก

นอกจากนั้น ไมโคพลาสมา ยังเป็นสาเหตุหนึ่งในเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปอดอักเสบอีกด้วย ทว่าหากเป็นปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ อาการมักจะไม่ค่อยรุนแรง และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ติดเชื้อ “ไมโคพลาสมา” ได้อย่างไร?

ว่ากันว่า เชื้อในกลุ่มไมโคพลาสมา เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีขนาดเล็กที่สุดในแบคทีเรียกลุ่มที่สามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายคนและสัตว์ได้ และเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะพิเศษคือ ไม่มีผนังเซลล์เหมือนแบคทีเรียชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด

การแยกเชื้อในกลุ่มนี้จากร่างกายของคน พบมีอยู่ 17 ชนิด (Species) แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราโดยไม่ทำให้เกิดโรค โดยมีอยู่เพียง 5 ชนิดที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ เชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia ซึ่งทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งรวมทั้งปอดบวม และ อีก 4 ชนิด คือ เชื้อชนิด Mycoplasma genitalium, Mycoplasma hominis, Ureaplas ma urealyticum และ Ureaplasma parvum ทำให้เกิดโรคของ ระบบทางเดินปัสสาวะ และระ บบสืบพันธุ์ (ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และระบบอวัยวะสืบพันธุ์ชาย)

การติดต่อของเชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia เกิดจากการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยที่ ไอ จาม ออกมา เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ ส่วนเชื้อชนิดอื่นๆที่เหลือ การติดเชื้อเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์

การติดเชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 5-20 ปี เพศหญิงและเพศชายพบได้เท่าๆกัน พบได้ทั่วโลก เกิดขึ้นได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่พบมากในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูหนาว การระบาดเป็นกลุ่มๆมักเกิดในที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นและใกล้ชิดกัน เช่น ในโรงเรียน ค่ายทหาร เป็นต้น ส่วนการระบาดเป็นบริเวณกว้าง (Epidemics) มักเกิดขึ้นเป็นรอบ ๆ ทุกๆ 2-3 ปี

 

เชื้อไมโคพลาสมาก่อโรคได้อย่างไร?

สำหรับเชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia ที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อจะอาศัยกลุ่มของโปรตีนที่มีอยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์ ไปเกาะติดกับเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนหรือส่วนล่าง แล้วแบ่งตัวเพิ่มจำนวน เซลล์แบคทีเรียจะผลิตสารก่ออนุมูลอิสระชนิด Hydrogen peroxide ออกมา ซึ่งทำให้เซลล์เยื่อบุตายได้

เมื่อเซลล์ตาย เม็ดเลือดขาวก็จะเข้ามาเก็บกิน และปล่อยสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและทำให้เกิดอาการตามมา นอกจากนี้มีการค้นพบว่าเชื้อชนิดนี้อาจมีการปล่อยสารพิษชนิด Exotoxin ชื่อว่า Com munity-acquired respiratory disease toxin (CARDS) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายสารพิษของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคไอกรน

ส่วนใหญ่จะพบการระบาดของเชื้อไมโคพลาสมาในชุมชนปิด เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ หรือฟาร์มสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากมีการแออัดของคนหรือสัตว์จำนวนมาก เอื้ออำนวยให้เกิดการระบาดของเชื้อไมโคพลาสมาได้ง่าย

 

เช็กอาการเบื้องต้น โรคติดเชื้อ ไมโคพลาสมา เสี่ยงติดเชื้อ  

เชื้อไมโคพลาสมา สามารถติดต่อได้ทางระบบทางเดินหายใจ ติดเชื้อกันได้ง่ายแค่เพียงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อ หรือได้รับละอองเชื้อจากการไอหรือการจามของผู้มีเชื้อไมโคพลาสมาอยู่ก่อน

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยที่ไมโคพลาสมาจะระบาดมากในที่ที่เป็นแหล่งชุมชนแบบปิด หรือแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม  เมื่อเชื้อไมโคพลาสมาเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-4 สัปดาห์ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าไมโคพลาสมาจะใช้เวลาฟักเชื้อนานกว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อไวรัสโรคปอดอักเสบชนิดอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเชื้อไมโคพลาสมาฟักตัวแล้ว อาจมีอาการเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส อาจมีอาการหนาวสั่น
  • ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะขาว อาการค่อย ๆ เป็นมากขึ้น อาจไอเรื้อรังจนทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย
  • เจ็บคอ คันคอ อาการเจ็บคอจะไม่มาก คอแดงเล็กน้อยไม่มีหนอง
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก (พบได้น้อย)
  • อาจพบผื่นแดงตามร่างกาย ลักษณะคล้ายไข้ออกผื่น (ส่าไข้)
  • ถ้าอาการรุนแรงขึ้นจะทำให้หายใจเหนื่อย หายใจเร็ว แต่ยังคงดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติ
  • มีอาการติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ โดยอาการไข้อาจหายก่อน แต่ยังมีอาการไออยู่มากกว่า 3 สัปดาห์ จากนั้นอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา
  • หากมีอาการนานและหนักกว่าที่ได้กล่าวไป อาจมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดการติดเชื้อนอกระบบทางเดินหายใจ เช่น ติดเชื้อไมโคพลาสมาที่สมองและไขสันหลัง หรืออาจเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้

พบว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไมโคพลาสมาส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากจะมีอาการคล้ายไข้หวัดและหายเป็นปกติเองได้ โดยมีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่จะเกิดอาการปอดอักเสบ

 

รักษาโรคติดเชื้อ ไมโคพลาสมา ด้วยวิธีไหนได้บ้าง? 

การรักษา เชื้อไมโคพลาสมา สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides หรือ doxycycline ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลถ้ามีอาการหายใจหอบเหนื่อยมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ อาการไอประมาณ 2-4 สัปดาห์ บางรายอาการอาจเป็นนานถึง 6 สัปดาห์ ทว่าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะหายเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว ยกเว้นรายที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยสามารถดูอาการบ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนได้ดังต่อไปนี้

อาการบ่งชี้ที่ควรไปพบแพทย์

1. ไข้สูง

2. อาการไอแห้ง ๆ บ่อยครั้งและเป็นระยะเวลานาน หรือไอเป็นเลือด

3. อาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว

4. อาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก

5. อาการแน่นหน้าอกด้านซ้าย หรือรู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการแขนหรือขาอ่อนแรง หรือชักเกร็ง ซึมลง อาการซีด ปาก-ลิ้นสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม (สีน้ำปลาหรือสีโค้ก) หรือมีจุดเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไมโคพลาสมาได้

6. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ง่ายกว่าปกติ

ป้องกันก่อนติดเชื้อไมโคพลาสมา

ปัจจุบันโรคไมโคพลาสมายังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สิ่งที่ง่าย และดีที่สุดในการป้องกัน คือ

  • พยายามอย่าพาตัวเอง หรือบุตรหลานเข้าไปอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก
  • หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย และควรล้างมือบ่อยๆ
  • ก่อนปรุง หรือรับประทานอาหารควรล้างมือ  และใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่สำส่อนทางเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อผ่านระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์

แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไมโคพลาสมาจะมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก แต่หากเจ็บป่วยคล้าย ๆ อาการโรคไมโคพลาสมาไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อห่างไกลจากโรค ไม่ต้องเจ็บป่วย 

 

 

อ้างอิง: ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค กระทรวงสาธารณสุข ,โรงพยาบาลเปาโล ,