ปลุกเทคโนแครตพูดความจริง เบิกงบไม่ได้ต้องกู้ เสนอวัดผลดิจิทัลวอลเล็ต 3 ปี

ปลุกเทคโนแครตพูดความจริง เบิกงบไม่ได้ต้องกู้ เสนอวัดผลดิจิทัลวอลเล็ต 3 ปี

อัปเดต กรณีแจกเงินดิจิทัล หรือ เงินดิจิตอล 10000 บาท ล่าสุด "นิพนธ์ พัวพงศกร" ปลุกเหล่าเทคโนแครตพูดความจริง เบิกงบไม่ได้ก็ต้องกู้ เสนอวัดผลดิจิทัลวอลเล็ต 3 ปี

ยังอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชน กรณีโครงการรัฐบาล แจกเงินดิจิทัล หรือ เงินดิจิตอล 10000 บาท ล่าสุด "นิพนธ์ พัวพงศกร" ปลุกเหล่าเทคโนแครตพูดความจริง เบิกงบไม่ได้ก็ต้องกู้ เสนอวัดผลดิจิทัลวอลเล็ต 3 ปี

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการอีคอนพลัส ทางคลื่นความคิด FM96.5 ถึงโครงการแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบราชการกับความคุ้มค่าของโครงการ แสดงความกังวลว่า จะเกิดปัญหาทางข้อกฎหมายหลายด้าน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลทำมากกว่าที่แถลง และให้หน่วยราชการออกมาพูดความจริงว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

“ตอนแรกที่ฟังรัฐบาลแถลงข่าวว่าทำตามขั้นตอนทางกฎหมายก็ไม่ติดใจอะไร แต่เมื่อได้ฟังบทสัมภาษณ์ของอดีต รมว.คลัง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะที่ท่านเข้าใจเงื่อนไขการเบิกจ่ายเป็นอย่างดี ทำให้ต้องไปเปิดพรบ.หลายฉบับจึงพบว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย”
 

  • ปัญหาแรก แหล่งเงินจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ง่ายที่สุดในการนำออกมาใช้ แต่ต้องอย่าลืมว่าเงินทุกบาททุกสตางค์มีเจ้ากระทรวงคอยดูแล เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ตามพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 35 ระบุว่า “งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณที่กําหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วย งบประมาณรายจ่าย จะโอนหรือนําไปใช้สําหรับหน่วยรับงบประมาณอื่นมิได้ เว้นแต่มีพระราชบัญญัติให้โอนหรือนําไปใช้ได้”

แสดงว่า หากจะนำเงินออกมา ต้องมีการออกกกฎหมายใหม่ใช่หรือไม่ และจะทันไตรมาส 4 ได้อย่างไร

  • ปัญหาที่สอง แหล่งเงินที่มาจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีเงินเลย มั่นใจได้อย่างไรว่าจะจัดเก็บภาษีเพียงพอ หากนำเงินมาจากกองทุนต่าง ๆ ก็มีเจ้าของอยู่เช่นกัน และกองทุนใหญ่ ๆ ในประเทศไทย เช่น ประกันสังคม กอช. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎหมายไม่ให้แตะเด็ดขาด
  • ปัญหาที่สาม การใช้เงินนอกงบประมาณจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท หากใช้เงินตรงนี้รัฐบาลต้องจ่ายคืนทั้งต้นและดอกเบี้ย

อีกทั้งพรบ. ธ.ก.ส. กำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ เพื่อการประกอบอาชีพ หากเป็นเงินเพื่อการบริโภคจะถือว่าผิดหรือไม่ 

ประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังตามที่นายกฯมอบหมาย ซึ่งอาจมีอำนาจในการผลักดันเรื่องนี้ได้ ในขณะที่ไม่มีรัฐหวิสาหกิจอื่นใดมีประธานกรรมการเป็นนักการเมือง จึงอยากเตือนไปถึงกรรมการธนาคารว่า หากมีประชาชนมาฟ้องเอาผิดเรื่องนี้ อาจโดนเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ที่สำคัญ ต้องระวังเรื่องใหญ่ของเกษตรกรในยามนี้ หากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำแล้ง น้ำท่วม ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำขึ้นมา ธ.ก.ส. จะไม่มีเงินมาช่วยเหลือต่อได้อีกเพราะใช้เงินเต็มวงเงินแล้ว


รศ.ดร.นิพนธ์ เรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาว่า เทคโนแครตหรือกลุ่มข้าราชการ นักวิชาการที่ใช้ความรู้สมัยใหม่มาร่วมบริหารประเทศให้ออกมาพูดความจริง ด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยมี 4 หน่วยงานที่เข้มแข็งมาก ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานประมาณ และสภาพัฒน์

ซึ่งทุกหน่วยงานมีหน้าที่ดูและเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เหล่าเทคโนแครตมีบทบาทสำคัญมากในการสนับสนุนนักการเมืองเมื่อทำถูกต้อง แต่คอยคัดง้างนโยบายที่อันตราย

“ถ้าเทคโนแครตเกรงใจการเมือง แสดงความอ่อนแอ แล้วไม่ทำตามกติกา จะเกิดอะไรขึ้นต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทย อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พูดเสมอว่า หากทำงานกันแบบไม่หวงเก้าอี้ การตัดสินใจจะถูกต้องตลอดเวลา และผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เทคโนแครตของเราต้องออกมาพูด ติดตรงไหนก็บอกนายกฯไปตามตรง อย่าลืมว่าการเมืองมาแล้วก็ไป”

นอกจากนี้ จะต้องมีการประเมินโครงการนี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง 3 ปี โดยองค์กรวิจัยที่เป็นอิสระและมีความน่าเชื่อถือ ควรเริ่มหานักวิจัยมาติดตามผลเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะต้องดูผลกระทบระยะกลางถึงยาวด้วยว่า ไปเบียดงบประมาณในอนาคตแล้วส่งผลเสียต่อประเทศมากน้อยเพียงใด ให้เป็นบทเรียนในการดำเนินนโยบาย  ในต่างประเทศมีตัวอย่างมากมายที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงแล้วกระทบในระยะยาวจนเศรษฐกิจล้มเหลว เช่น อังกฤษ ตุรกี 

รศ.ดร.นิพนธ์ เสนอแนะว่า การลดขนาดของโครงการเป็นทางออกที่ดีที่สุด และไม่ต้องกลัวที่จะกู้เงินแบบตรงไปตรงมา การนำเงินจากหน่วยงานอื่นมา ทำให้แต่ละหน่วยงานสูญเสียเม็ดเงินที่จะไปสร้างรายได้เพิ่ม รัฐบาลควรมีการชดเชย ซึ่งไม่ต่างจากการจ่ายดอกเบี้ยทางอ้อม ดังนั้น การกู้เงินในตลาดการเงิน เช่น ออกพันธบัตรรัฐบาล จะเป็นทางเลือกที่โปร่งใสที่สุด ไม่ต้องกลัวตามข้อท้วงติงของปปช.

รศ.ดร.นิพนธ์ มองว่า เหตุผลที่แท้จริงของการโครงการนี้ชัดเจนว่าทำเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ให้ได้ฐานเสียงในการชนะการเลือกตั้งครั้งถัดไป และไม่มีอะไรดีไปกว่าการแจกเงิน จากทั้งปริมาณที่แจกเป็นวงกว้างถึง 50 ล้านคนและมุ่งเป้าที่คนอายุ 16 ปีขึ้นไป การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเพียงผลพลอยได้ระยะสั้น แม้รัฐบาลจะบอกว่ามีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ที่จะเพิ่มวงเงินให้ถึง 1 แสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ 5 แสนล้านบาท สะท้อนว่าเป้าหมายทางการเมืองชัดเจนกว่าเป้าหมายการทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งในระยะยาว