ส่อง ‘เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น’ เวียดนาม ปี 2567 ในวันที่พร้อม ‘เขี่ย’ พี่ไทย ตกกระป๋อง (?)

ส่อง ‘เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น’ เวียดนาม ปี 2567 ในวันที่พร้อม ‘เขี่ย’ พี่ไทย  ตกกระป๋อง (?)

“รัฐศรัณย์” ผอ.อาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล. บัวหลวง เผย เศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยฟิตช์เรทติ้งส์จ่อยกระดับเป็นเกรดลงทุนปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ฟันธงจีดีพีแซงหน้าไทยในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า

“เศรษฐกิจเวียดนาม” เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เนื้อหอมมากที่สุดอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ทว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้เวียดนามเผชิญกับวิกฤติความเชื่อมั่นในระบบการเงินเนื่องจากการฉ้อโกงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้วยเม็ดเงินกว่า 4% ของจีดีพี กับธนาคารไซ่ง่อน คอมเมอร์เชียล

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเผชิญกับความปั่นป่วนดังกล่าว นักวิเคราะห์หลายสำนักรวมทั้ง คุณรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ (ผอ.) อาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ก็ยังมองว่ารัฐบาลเวียดนามจะสามารถจัดการกับวิกฤติดังกล่าวได้อย่างทันท่วงทีและเชื่อว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังแข็งเเกร่งอย่างมาก

ส่อง ‘เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น’ เวียดนาม ปี 2567 ในวันที่พร้อม ‘เขี่ย’ พี่ไทย  ตกกระป๋อง (?)  

คุณรัฐศรัณย์เริ่มต้นอธิบายภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามว่าอยู่ในระดับดี โดยหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 37% ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 62-63% ของจีดีพี โดยประเทศไทยขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ไปเป็น 70% ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

ขณะที่มิติที่สองคืออันดับเครดิตของประเทศ เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ฟิตช์เรทติ้งส์ ปรับอันดับเครดิตของเวียดนามไปเป็น BB+ ซึ่งอีกขั้นเดียวกันจะได้เป็น BBB- หรือเรียกว่าระดับการลงทุน (Investment Grade) โดยอันดับเครดิตของประเทศไทยสูงกว่าเวียดนามเพียง 3 ขั้นเท่านั้น

รวมทั้งเวียดนามยังเป็นประเทศที่ปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศสอดคล้องกับเกณฑ์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตั้งไว้ที่คือทุนสำรองมากกว่าตัวเลขการนำเข้า 3.3 เท่า แม้จะน้อยกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 8 เท่าก็ตาม ทว่าทุนสำรองของเวียดนามก็ยังอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นคือเพิ่มขึ้นจาก 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 มาอยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2566

คุณรัฐศรัณย์กล่าวต่อว่า หากพิจารณาในแง่ของงบดุลจะเห็นว่าตัวเลขของเวียดนามนั้นถือว่า “สอบผ่าน” แม้จะไม่แข็งแรงมากนัก โดยรัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 6-6.5% ของจีดีพี โดยส่วนใหญ่คาดหวังมาจากการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น และการบริโภคภายในประเทศที่จ่อขยายตัวจากนโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ส่อง ‘เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น’ เวียดนาม ปี 2567 ในวันที่พร้อม ‘เขี่ย’ พี่ไทย  ตกกระป๋อง (?)  

ประกอบกับทิศทางของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแม้จะมีคดีฉ้อโกงจากธนาคารที่ขนาดใหญ่อันดับ 8 ของประเทศก็ตาม ทว่าทิศทางของ FDI ก็ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยหน่วยงานด้านการค้าต่างประเทศของเวียดนามรายงาน ว่ากระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนม.ค.และก.พ.ปี 2024 โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 4.29 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

รวมทั้ง ล่าสุดสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของแอปเปิล (Apple) เดินทางเยือนเวียดนามเมื่อกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเพื่อเจรจาด้านการลงทุน

ขณะที่เงินเฟ้อในเวียดนามก็อยู่ในแนวโน้มขาลงโดยล่าสุดอยู่ที่ 4% ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ขยับลงเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่าความต้องการใช้จ่ายของประชาชนนั้นก็จะปรับตัวสูงขึ้นในเวลาเดียวกัน

สำหรับในมิติตลาดหุ้น แม้เวียดนามจะยังเป็นตลาดหุ้นชายขอบ (Frointier Market) หรือตลาดที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยมากกว่านักลงทุนสถาบันซึ่งจะทำให้ตลาดผันผวนได้ง่าย ทว่าหากย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ปริมาณการซื้อขายหุ้น (Volume) อยู่ที่เพียงหลักพันล้านบาท

ส่อง ‘เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น’ เวียดนาม ปี 2567 ในวันที่พร้อม ‘เขี่ย’ พี่ไทย  ตกกระป๋อง (?)

แต่ปัจจุบันปริมาณการซื้อขายหุ้นเวียดนามโตสิบๆ เท่าขยับขึ้นมาเป็นสามหมื่นกว่าล้านบาทภายในไม่กี่ปี บางวันไปถึงสี่ถึงห้าหมื่นล้านบาท ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยเคยซื้อขายกันเป็นแสนล้าน ตอนนี้บางวัน สองสามหมื่นล้านหรือบางวันก็เทรดน้อยกว่าเวียดนามไปแล้ว​ ซึ่งทั้งหมดก็นับเป็นทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 ท้ายที่สุด คุณรัฐศรัณย์ สรุปว่าหากท้ายที่สุดเวียดนามยังเติบโตได้ด้วยอัตราเร่งเท่าเดิมก็มีโอกาสที่จีดีพีจะโตแซงหน้าประเทศได้ในอีกไม่เกิน 10 กว่าปีข้างหน้า แม้ว่าเวียดนามจะยังคงมีความท้าทายเฉพาะตัวก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคงทางด้านพลังงาน สถานะตลาดหุ้นที่ยังเป็นตลาดชายขอบ หรือปัญหาการฉ้อโกงของทั้งภาครัฐและเอกชน