ปัญหาของนโยบายการเงิน : ดอกเบี้ยสูงและต่ำเกินไป

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 19-20 มี.ค. คณะกรรมการมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% ถึง 5.5% ตามคาด

แต่มติสำคัญคือการประมาณการค่ามัธยฐานสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ (Dot plot) ที่ยังจะมีการปรับลดสามครั้งในปีนี้ แต่คณะกรรมการเสียงส่วนน้อยคาดว่าจะมีการปรับลดน้อยลงกว่า 3 ครั้ง 

นอกจากนั้น ในการประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป เจ้าหน้าที่ Fed คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวดีขึ้นมากจากประมาณการครั้งก่อน เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงยาวนานขึ้น แต่ยังคงมุมมองการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ที่ประมาณ 0.75% เช่นเดิม คำถามคือ แนวคิดเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่

เพราะในภาพใหญ่ เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังดีเหมือนจะดีมาก การจ้างงานสูงเกินกว่าเดือนละ 2 แสนตำแหน่ง อัตราว่างงานก็อยู่ในระดับแทบจะต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสล่าสุด (3.2%) ก็ยังดูสูงกว่าศักยภาพเศรษฐกิจ (1.8%) ค่อนข้างมาก 

แต่ในทางกลับกัน การผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสูงขึ้นมาก ท่ามกลางดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงต้นทุนทางการเงินของบริษัทขนาดเล็ก และจำนวนการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นปีที่สูงสุดเป็นอันดับรองจากช่วงเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

เหล่านี้บ่งชี้ว่า สำหรับคนบางกลุ่ม อัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษนี้กำลังทำร้ายพวกเขา

โดยปกติแล้ว การขึ้นหรือลงดอกเบี้ยนโยบาย จะมีผลกระทบอย่างมากต่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและกองทุนตลาดเงิน แต่อิทธิพลที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยในหุ้นกู้ของบริษัท อาจน้อยกว่า

แนวคิดที่ว่าอัตราดอกเบี้ยของ Fed สูงเกินไป และควรจะลดลงได้แล้วนั้นได้รับแรงหนุนจากแบบจำลองต่างๆ โดยเฉพาะ Taylor Rule ที่นำเสนอโดย John Taylor นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ระบุว่า ดอกเบี้ยที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับ

(1) ดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นในระยะยาว

(2) ส่วนต่างของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันกับเป้าหมาย และ

(3) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจว่าต่ำกว่าศักยภาพ (Output gap) มากน้อยเพียงใด 

ปัญหาของนโยบายการเงิน : ดอกเบี้ยสูงและต่ำเกินไป

ทั้งนี้ ดอกเบี้ย Taylor rule ที่คำนวณโดย Atlanta Fed ระบุว่าอัตราเป้าหมายของ Fed ตอนนี้ควรอยู่ที่ 3.9% ถึง 4.7% ขณะที่การคำนวณ Taylor rule อย่างง่ายของผู้เขียนพบว่าดอกเบี้ยปัจจุบันควรจะอยู่ที่ 3.7% (นั้นหมายความว่าดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ 5.4% นั้นสามารถลดได้ถึง 7 ครั้ง ถึงจะไปอยู่ที่ระดับที่ควรจะเป็น)

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวอเมริกันบางส่วน อาจรู้สึกว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นตึงตัวมาก โดยดอกเบี้ยที่บัญชีบัตรเครดิตที่ถูกเรียกเก็บในไตรมาส 4/2023 นั้นสูงถึง 21.5%  สูงที่สุดในรอบ 30 ปี และสูงมากเมื่อเทียบกับ 14.9% ในไตรมาส 4/2019 ก่อน Covid  

นอกจากนั้น ธุรกิจขนาดเล็กก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะมักใช้บัตรเครดิตของเจ้าของกิจการในการแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยการสำรวจของ Fed พบว่า 56% ของเจ้าของธุรกิจมักใช้บัตรในการจัดหาเงินทุนเป็นประจำ มากกว่าแหล่งสินเชื่ออื่นๆ นอกจากนั้น ดอกเบี้ยสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กก็เชื่อมโยงกับดอกเบี้ยระยะสั้น (ที่ปรับสูงขึ้นมากตามดอกเบี้ยนโยบาย) เช่นกัน 

ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจขนาดเล็กที่สูงขึ้นมากเช่นนี้ อาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และลามสู่เศรษฐกิจผ่านตลาดแรงงาน เนื่องจากในปัจจุบัน บริษัทในสหรัฐที่มีพนักงานน้อยกว่า 100 คนคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของการจ้างงาน

ในขณะที่การวิจัยแสดงให้เห็นว่าธุรกิจขนาดเล็ก (Start-up) ที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นธุรกิจขนาดกลางนั้น เป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตของตลาดแรงงานสหรัฐ 

ในอีกด้านหนึ่ง ดอกเบี้ยระยะยาวกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด Covid เท่ากับดอกเบี้ยนโยบาย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4.2-4.3% แม้ว่าจะสูงกว่าก่อนเกิด Covid แต่ก็ไม่ได้สูงมาก และต่ำกว่า 5% ในปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ 

ปัญหาของนโยบายการเงิน : ดอกเบี้ยสูงและต่ำเกินไป

อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ค่อนข้างต่ำส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังของนักลงทุนว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลงบ้าง รวมถึงสะท้อนความเชื่อในหมู่นักลงทุนว่า Fed จะสามารถลดเงินเฟ้อลงได้ โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (หรือที่เรียกว่า Soft landing) สะท้อนให้เห็นจากอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ (Corporate bond) ที่ต่ำ

ขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรบริษัท (Corporate bond spread) นั้นแทบจะต่ำที่สุดในรอบกว่า 40 ปี รวมถึง สะท้อนผ่านดัชนีหุ้นตลาดหลักต่าง ๆ ที่ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย S&P500 เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% จากปีที่แล้ว 

ในทางกลับกัน ดอกเบี้ยระยะยาวที่ยังสูงสำหรับหลายครัวเรือนคือ ดอกเบี้ยจำนองเงินกู้ซื้อบ้าน 30 ปี (Mortgage rate) ที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดมาก และส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยนี้กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็กว้างขึ้น ซึ่ง Mortgage rate ที่สูงทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเป็นเจ้าของบ้านได้

ภาพเหล่านี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการเงินมากขึ้น ท่ามกลางคนตัวเล็กและบริษัทขนาดเล็กที่กำลังประสบปัญหาการเงิน บริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถออกหุ้นกู้ได้ กลับสามารถระดมทุนง่ายกว่าธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนจำนวนมาก

ขณะที่ดัชนีความตึงตัวทางการเงิน (Financial condition index)  ที่ Goldman Sachs คำนวณแสดงให้เห็นว่าสภาวะทางการเงินโดยรวมของสหรัฐผ่อนคลายขึ้น  ขณะที่ดัชนีของ Chicago Fed แสดงให้เห็นว่าความตึงตัวทางการเงินล่าสุดผ่อนคลายที่สุดในรอบกว่า 2 ปี

ปัญหาของนโยบายการเงิน : ดอกเบี้ยสูงและต่ำเกินไป

ในส่วนของผู้เขียนนั้น เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงนี้จะกระทบต่อแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจไม่เท่ากัน โดยภาคที่จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไปได้แก่

(1) ภาคการบริโภคส่วนบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มรายได้น้อย

(2) กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เข้าถึงสภาพคล่องทางการเงินได้ยากกว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และ

(3) กลุ่มธุรกิจที่กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น อสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งจะกระทบกับภาคธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ในอีกด้านหนึ่ง ภาคการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็จะมีความเสี่ยงจากการปรับตัวลดลงของราคาในระยะต่อไปเช่นเดียวกัน เนื่องจากราคาของบางสินทรัพย์ขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก

ดอกเบี้ยที่สูงส่งผลต่อคนและธุรกิจแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน คนที่รวยอยู่แล้วและบริษัทขนาดใหญ่ ต่างไม่ยี่หระกับดอกเบี้ยที่สูงกว่า 2 ทศวรรษ แต่กลับคนตัวเล็กและบริษัท SMEs แล้วนั้น ต้นทุนการเงินที่สูงลิ่วนี้กระทบต่อพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย 

คำถามคือ ธนาคารกลางจะจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางการเงินเหล่านี้อย่างไร.