ศก.ไทยจ่อปิดปี 66 แบบ ‘จมกองหนี้’ หลัง หนี้ครัวเรือน-หนี้เอกชน-หนี้สาธารณะพุ่ง

ศก.ไทยจ่อปิดปี 66 แบบ ‘จมกองหนี้’ หลัง หนี้ครัวเรือน-หนี้เอกชน-หนี้สาธารณะพุ่ง

“สถาบันการเงินระหว่างประเทศ” เผยทั่วโลกเผชิญกับภาระหนี้สูงขึ้น 10 ล้านล้านดอลลาร์โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 แตะระดับ 307 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ “ข้อมูล” เผย หนี้ครัวเรือน-หนี้ภาคเอกชน-หนี้สาธารณะไทย พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในกองหนี้มหาศาลรวมทั้งประเทศไทยด้วย จาก “สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น” ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว และแม้รายงานของคณะกรรมการทางการเงินของสหรัฐจะระบุชัดเจนว่าพร้อมหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสามครั้งรวม 0.75% ในปีหน้าซึ่งถือเป็นถ้อยแถลงที่ทำให้ “สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น” จบลงอย่างสิ้นเชิง

ทว่ายังมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์อีกจำนวนหนึ่งเชื่อว่าสัญญาณของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นยังไม่จบ หรืออย่างน้อยก็น่าจะยังทรงตัวในระดับสูงอีกยาวนาน  โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ว่า คริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานธนาคารกลางยุโรปและแอนดรูว์ เบลีย์ (Andrew Bailey) ประธานธนาคารกลางอังกฤษชี้จัดว่าหน้าที่ในการจัดการกับเงินเฟ้อยังไม่จบ 

ดังนั้นก็ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ประชาชนทั่วโลกอาจจะต้องรับมือกับ “ต้นทุนการกู้ยืม” ที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาระหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะกระทบต่อหนี้ของทุกภาคส่วนที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว 

หนี้สาธารณะโลกพุ่ง

โดยเวิลก์แบงก์ (World Bank) ออกรายงานในช่วงกลางเดือนก.ย. ว่าแม้ว่าภาระหนี้ทั่วโลกจะอยู่ในเทรนด์ที่ปรับตัวลดลง 2 ปีติดต่อกัน แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในปีที่แล้วหนี้รวมของทั้งโลกอยู่ที่ 238% ของจีดีพีทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าปี 2562 ที่ประมาณ 9% หรืออยู่ที่ประมาณ 235 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่าปี 2564 อยู่ 2 แสนล้านดอลลาร์

เทรนด์หนี้สาธารณะทั่วโลก

ตัดภาพมาที่ปีนี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เมื่อช่วงปลายเดือนก.ย.ว่า  มูลหนี้ทั่วโลกปรับตัวขึ้น 10 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ไปอยู่ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

โดยกว่า 80% ของการสะสมหนี้มาจากตลาดของประเทศที่พัฒนาสูงสุด (Mature Markets) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 โดยสหรัฐ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนในตลาดเกิดใหม่การเพิ่มขึ้นนั้นเด่นชัดมากขึ้นในจีนอินเดียและบราซิล

‘หนี้ครัวเรือน’ ปัญหาที่น่ากังวลของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ขณะที่หนี้ครัวเรือน (Consumer Debt) ต่อจีดีพีในตลาดเกิดใหม่ยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด ส่วนใหญ่เกิดจากจีน เกาหลี และไทย ส่วนอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนในตลาดที่เติบโตเต็มที่ (Mature Markets) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองทศวรรษในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566

สัดส่วนที่มาของมูลหนี้ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น

 

หนี้สาธารณะ-หนี้ครัวเรือน-หนี้เอกชนไทยพุ่ง 

สำหรับประเทศไทย ปริมาณหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เริ่มที่หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนต.ค. 2566 มากที่สุดคือหนี้จากรัฐบาลประมาณ 9.7 ล้านล้านบาท รองลงมาคือหนี้จากรัฐวิสาหกิจ 1.07 ล้านล้านบาท หนี้จากรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน 2.04 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 6.16 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 61.30% ในขณะที่กฎหมายระบุไว้ไม่ให้เกิน 70%

ที่สำคัญหนี้เวิลด์แบงก์เปิดเผยเมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค.ว่าหนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นถึง65-66% ต่อจีดีพี

หากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน สามารถผ่านกฎหมายและดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้สำเร็จ ซึ่งก็จะเป็นภาระของคนรุ่นใหม่ในการแบกรับภาระด้านภาษีต่อไปในอนาคต ซึ่งยังไม่รวมภาษีที่อาจต้องเสียเพิ่มทะลุ 20% เพื่อดูแลผู้สูงอายุของไทยในอนาคตตามทัศนะของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ต่อมาคือหนี้ครัวเรือน โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าในไตรมาส 2 ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีมีสัดส่วนมากถึง 90.7% ซึ่งคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยสินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวขึ้น และเป็นการขยายตัวจากหนี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลักที่ไม่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งในอนาคต

ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่าหนี้เสียคงค้าง 3.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 22.0% จากไตรมาสก่อน ซึ่งต้องปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลับมาชำระคืนหนี้ได้เป็นปกติ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของ IFF ที่ระบุว่าหนี้ครัวเรือนประเทศไทยเป็น 5 ประเทศแรกๆ ที่มีหนี้ในภาคส่วนดังกล่าวมากที่สุดในโลก  

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ยังชี้ข้อมูลหนี้จากเครดิตบูโรว่าน่าห่วง โดยเอสเอ็มอีกว่า 2.8 แสนรายเป็นหนี้เสียแล้ว 2.8 หมื่นราย คิดเป็น 2.9 แสนล้านบาท และมีหนี้กำลังจะเสียอีก 1.3 แสนล้านบาท กระจุก 5 อุตสาหกรรม ก่อสร้าง ที่พักแรม อสังหาฯ การผลิต ค้าปลีกค้าส่ง

นอกจากนั้น รายงานจากสศช. ยังระบุถึงหนี้สินภาคของเอกชนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 ว่าปรับขึ้นจนไปอยู่ที่ 171.2% โดยแม้สัดส่วนจะลดลงจาก 178.6% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังคงสูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาค 131.5% และประเทศที่พัฒนาแล้ว 126% และอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ 153.8% ต่อจีดีพีในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2562

ประกอบกับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้สินของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิม 70.3% ต่อจีดีพีไปอยู่ที่ 79.6% ต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

ท้ายที่สุดจากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถึงแม้นักลงทุนบางส่วนจะเริ่มเดิมพันกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงของเฟด แต่ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งที่ยังเห็นต่างในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐก็ยังอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 22 ปี ซึ่งก็ส่งผลกดดัน “ต้นทุนการกู้ยืม” ของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่เผชิญกับภาระหนี้ที่สูงอยู่แล้ว ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน รวมทั้งหนี้ภาคเอกชน