อัปเดต 17 ทุเรียนไทย ขึ้นทะเบียน 'สินค้า GI' ปี 2567

อัปเดต 17 ทุเรียนไทย ขึ้นทะเบียน 'สินค้า GI' ปี 2567

'ทุเรียน' ผลไม้ที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยสายพันธุ์ที่หลากหลาย และพื้นที่ปลูก ทำให้มีเอกลักษณที่แตกต่างกัน ปัจจุบัน มีทุเรียนกว่า 17 รายการ ที่ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา จากสินค้า GI ทั้งหมด 203 รายการ

KEY

POINTS

  • สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว
  • ปัจจุบัน สินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อมูล ณ10 เมษายน 2567) มีอยู่ใน 77 จังหวัด 203 สินค้า ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อาหารแปรรูป พืช/ผัก/ผลไม้ ผ้า หัตถกรรม และไวน์/สุรา
  • ในจำนวน 203 รายการนี้ ข้อมูลล่าสุด 10 เมษายน 2567 มี "ทุเรียน" ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของไทย ขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้วกว่า 17 รายการ 

'ทุเรียน' ผลไม้ที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยสายพันธุ์ที่หลากหลาย และพื้นที่ปลูก ทำให้มีเอกลักษณที่แตกต่างกัน ปัจจุบัน มีทุเรียนกว่า 17 รายการ ที่ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา จากสินค้า GI ทั้งหมด 203 รายการ

“ทุเรียน” ราชาผลไม้ ที่เรียกว่าสร้างชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ ในประเทศไทยมีหลายพื้นที่ ที่ปลูกทุเรียน และมีหลายสายพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2567 มีทุเรียนไทยกว่า 17 รายการ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

สินค้า GI คืออะไร

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพ และแหล่งที่มาของสินค้า ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย คือ ตราของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้าเพื่อรับรองว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนไว้โดยต้องปฏิบัติตามคู่มือ และแผนการควบคุมนั้นแล้ว

 

ปัจจุบัน สินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อมูล ณ10 เมษายน 2567) มีอยู่ใน 77 จังหวัด 203 สินค้า แบ่งเป็น

  • ภาคเหนือ 47 สินค้า
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47 สินค้า
  • ภาคกลาง 48 สินค้า
  • ภาคตะวันออก 18 สินค้า
  • ภาคใต้ 43 สินค้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ผักผลไม้ฤดูร้อน’ เพิ่มวิตามิน 'กินคลายร้อน' มีอะไรบ้าง

วิธี "เก็บผักสด ผลไม้" ไม่ให้เน่าเร็ว ช่วง "น้ำท่วม" ไฟฟ้าดับ

การกักพืชคืออะไร | ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

 

203 สินค้า มีอะไรบ้าง

  • ข้าว 23 สินค้า
  • อาหารแปรรูป 41 สินค้า
  • พืช/ผัก/ผลไม้ 100 สินค้า
  • ผ้า 16 สินค้า
  • หัตถกรรม 21 สินค้า
  • ไวน์-สุรา 2 สินค้า

 

17 ทุเรียน ขึ้นทะเบียน GI

สำหรับทุเรียนของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ทั้ง 17 รายการ มีดังนี้

1. ทุเรียนนนท์

ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมือง มีรสชาติดี หวาน มัน หอม สีเหลือง เนื้อละเอียด ปลูกในเขตพื้นที่ จ.นนทบุรี ซึ่งในพื้นที่นนทบุรีนี้ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้สภาพดินมีแร่ธาตุที่สำคัญมารวมกัน เหมาะกับการทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะสวนทุเรียน ชาวสวนในพื้นที่จะใช้ใบทองหลางเป็นส่วนผสมที่สำคัญในปุ๋ย ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพดี รสชาติหวานอร่อย เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป

 

2. ทุเรียนป่าละอู

ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี มีลักษณะเนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เม็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในพื้นที่ป่าละอูนั้นเริ่มมีการนำทุเรียนเข้ามาทดลองปลูกเมื่อปี พ.ศ.2527 โดยนำพันธุ์ก้านยาวมาจาก จ.นนทบุรี และ พันธุ์หมอนทองมาจาก จ.ระยอง โดยการทดลองนำมาปลูกในครั้งนั้นได้ผลดีคือ มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากต้นพันธุ์ที่นนทบุรี และระยอง ทุเรียนมีรสมัน หวานน้อย เนื้อแน่น และกลิ่นไม่แรง

 

3.ทุเรียนปราจีน

ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมือง มีเนื้อแห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ์ และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยเกษตรกรได้นำพันธุ์ทุเรียนทั้งแบบตอนกิ่ง และเมล็ดมาจาก จ.นนทบุรี นำมาปลูกเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา และด้วยสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และเนื้อดิน ทำให้ทุเรียนปราจีนมีเอกลักษณ์พิเศษคือ เนื้อแห้งไม่แฉะ

 

4. ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์

ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล มีผลทรงกลม หรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ จุดกำเนิดของทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์มาจากทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีความพิเศษแตกต่างจากทุเรียนพื้นเมืองทั่วไปคือ เป็นทุเรียนขนาดเล็ก รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบ ภายหลังจากส่งเข้าประกวดทุเรียน และได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เกษตรกรจึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูก และขยายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง

 

5. ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์

ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล มีผลทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียวแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เนื้อมาก เส้นใยน้อย เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ มีเมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ พื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย หรือที่เรียกว่าเป็นดินแดงผาผุ

 

เมื่อถึงฤดูฝน จะมีน้ำไหลมาจากยอดเขา นำพาแร่ธาตุมาเติมให้พื้นที่การเกษตร ทำให้ทุเรียนหลินลับแล รสชาติหวานมัน เนื้อแห้ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งต้นกำเนิดมาจากการนำเมล็ดทุเรียนมาปลูกแล้วได้ทุเรียนต้นใหม่ที่มีผลทุเรียนแปลกกว่าทุเรียนต้นอื่นๆ จากนั้นมีการส่งเข้าประกวด และได้รับความนิยมจากนักกินทุเรียนไม่น้อยกว่าทุเรียนพันธุ์หลงลับแล

 

6. ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ

ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี ปลูกในพื้นที่ อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษณ์ และ อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษเริ่มปลูกอย่างจริงจัง เมื่อ พ.ศ.2531 มีการนำต้นพันธุ์ทุเรียนพันธุ์หมอนทองมาทดลองปลูก ปรากฏว่าได้ผลดี ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดี เนื่องจากดินบริเวณนี้เป็นดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณผุพังมาจากหินบะซอลต์ มีธาตุอาหารชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษมีคุณสมบัติพิเศษคือ เนื้อทุเรียนละเอียด แห้ง เนียนนุ่ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมปานกลาง สีเนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล

 

7. ทุเรียนสาลิกาพังงา

ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของ จ.พังงา มีลักษณะผลทรงกลม เปลือกบาง หนามสั้น และถี่ เนื้อหนาละเอียด สีเหลืองเข้ม กลิ่นหอมแต่ไม่ฉุนมาก แกนกลางเปลือกทุเรียนจะมีสีสนิมแดง เมล็ดลีบ รสชาติหวาน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.กะปง จ.พังงา เหตุที่ชื่อสายพันธุ์สาลิกา เนื่องจากคนท้องถิ่นในยุคก่อนนิยมเปรียบเปรยความอร่อยเหมือนกับจะงอยปากของนกสาลิกาที่มีเสียงไพเราะ และเรียกขานกันมาจนถึงปัจจุบัน ทุเรียนพันธุ์สาลิกาต้นดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ อ.กะปง จ.พังงา มีอายุมากกว่า 100 ปี ยังคงยืนต้น และให้ผลผลิตอยู่เป็นปกติ

 

8. ทุเรียนในวงระนอง

ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ผลทรงกลมรี มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่สีเขียว เนื้อหนาเนียนละเอียดสีเหลืองทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวานหอม มัน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน ปลูกในพื้นที่ ต.ในวงเหนือ และ ต.ในวงใต้ อ.ละอุ่น จ.ระนอง พื้นที่ในวงเป็นพื้นที่ ที่มีภูเขาล้อมรอบ แต่เดิมมีการถางป่าเพื่อปลูกกาแฟ และข้าวไร่ เมื่อราคากาแฟตกต่ำก็หันมาปลูกพืชชนิดอื่น

 

จนกระทั่งปี พ.ศ.2536 ได้นำกล้าพันธุ์ทุเรียนหมอนทองมาจาก อ.หลังสวน จ.ชุมพร จากนั้นเกษตรกรก็เริ่มปลูกทุเรียนกันมากขึ้น โดยชาวบ้านที่นี่มีขนบธรรมเนียมในการทำสวนทุเรียน โดยจะมีการไหว้สวน (ไหว้เจ้าที่) ประจำปี หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว และมีความเชื่อว่าปลูกทุเรียนไว้ถือว่าเป็นไม้มงคลเพื่อป้องกันอุปสรรคขวากหนาม

 

9. ทุเรียนชะนีเกาะช้าง

ทุเรียนพันธุ์ชะนี มีลักษณะผลค่อนข้างรี ยาว หนามใหญ่ และห่าง เปลือกบาง สีผิวออกสีน้ำตาลปนแดง ส่วนใหญ่มีหนามแดง เห็นร่องพูชัดเจน เนื้อทุเรียนหนา ผิวสัมผัสละเอียด แห้ง เหนียว มีสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีเหลืองอมส้ม ส่วนใหญ่เมล็ดจะมีขนาดเล็กหรือลีบ รสชาติหวานมัน และมีกลิ่นหอม ปลูกเฉพาะในพื้นที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด มีการคาดการว่าทุเรียนถูกนำมาปลูกในพื้นที่อำเภอเกาะช้าง ตั้งแต่เมื่อประมาณ 70 ปีมาแล้ว

 

โดยดั้งเดิมเป็นทุเรียนป่าหรือทุเรียนโบราณที่มีต้นสูงใหญ่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “ทุเรียนเม็ด” เนื่องจากมีมีเม็ดใหญ่ เนื้ออ่อน รสชาติไม่ดี ต่อมามีผู้นำทุเรียนเข้ามาปลูกในพื้นที่โดยคาดว่านำต้นพันธุ์มาจาก จ.จันทบุรี ซึ่งทุเรียนพันธุ์ชะนีสามารถเจริญเติบโตได้ดี และถูกนำมาจัดแสดงในงานวันผลไม้ และของดีอำเภอเกาะช้าง ทำให้ชื่อเสียงของ ทุเรียนชะนีเกาะช้าง เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

 

10. ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่

ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน มัน ปลูกในอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งจัดอยู่ในพื้นที่ทุ่งหญ้าเขตร้อน มีมรสุมหลักพัดผ่าน ทำให้อากาศชุ่มชื้น มีฝนตกชุก สภาพอากาศกลางวันร้อนกลางคืนเย็น ส่งผลให้ทุเรียนในพื้นที่ดังกล่าวรสชาติดี

 

และเนื่องจากอากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน ทำให้ธาตุอาหารโพแทสเซียมที่สะสมอยู่ในเวลากลางคืนทำงานได้ดี ส่งผลให้เกิดเส้นใยในทุเรียนน้อยลง และยังมีโครงสร้างดินที่มีคุณสมบัติระบายน้ำที่ดี ดินดูดซับน้ำไว้ในปริมาณที่เป็นประโยชน์กับพืช ทำให้ทุเรียนดูดน้ำไปใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ

 

11. ทุเรียนจันท์

ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์พวงมณี พันธุ์นกหยิบ พันธุ์ทองลินจง พันธุ์นวลทองจันทร์ พันธุ์กบสุวรรณ และพันธุ์ทางการค้า ได้แก่ พันธุ์จันทบุรี 1 ถึงพันธุ์จันทบุรี 10 ที่มีเนื้อละเอียด สีเหลือง หรือเหลืองเข้ม หรือเหลืองอมส้ม เนื้อหนาละเอียด มีเส้นใยน้อย หรือไม่มีเส้นใย รสชาติหวานมันหรือหวานแหลม ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี

 

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปดินเกิดจากการสลายตัวของหินปูน มีการระบายน้ำได้ดี มีอุณหภูมิที่เหมาะสม เกิดการสะสมพลังงานในรูปของสารคาร์โบไฮเดรตมาก ทำให้กิ่งก้านสาขาของต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกได้เร็ว และสมบูรณ์ ทุเรียนจันท์ จึงมีคุณภาพเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของ จ.จันทบุรี

 

12.ทุเรียนทรายขาว

ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่ ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รูปร่างทรงกลมรี เปลือกค่อนข้างบาง สีน้ำตาลอ่อน หนามเล็กและยาว เนื้อสีเหลือง แห้ง ไม่เละ เนื้อละเอียดเหมือนเนื้อครีม ไม่เป็นเส้น รสชาติหวานมัน กลมกล่อม กลิ่นหอม ไม่ฉุน เมล็ดลีบ มีเอกลักษณ์เฉพาะจนเป็นที่กล่าวขานว่า “ทุเรียนทรายขาว ทุเรียนแห่งเทือกเขาสันกาลาคีรี”

 

13. ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา

เป็นการนำทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ของจังหวัดยะลาไปปลูกในพื้นที่ตามไหล่เขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะทุเรียนคุณภาพ ปลอดสารเคมี ทำให้ทุเรียนมีความโดดเด่นด้วยรสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว เนื้อเเห้งละเอียด เส้นใยน้อย และเนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำ หรือ “โอฉี่” โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือน ก.ค.- ก.ย.ของทุกปี

 

14. ทุเรียนทะเลหอย กระบี่

เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนี ที่มีรสชาติหวานมัน เข้มข้น เนื้อหนาละเอียด เนียน ผิวสัมผัสแห้ง ไส้แห้ง แม้จะเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกชุก กลิ่นหอมอ่อน ปลูกและผลิตในพื้นที่ตำบลปลายพระยา และตำบลเขาเขน อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ทุเรียนทะเลหอย กระบี่

 

จะมีลักษณะโดดเด่นกว่าที่อื่นตรงเนื้อทุเรียนที่มีสีเหลืองสวยเมล็ดสีแดง ไส้ไม่แฉะ รสชาติหวาน เนื้อกรอบ อร่อย เนื่องจากปลูกบนพื้นที่ดินดี มีแหล่งน้ำดี และสภาพอากาศที่ดีมากๆ ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพดี รสอร่อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็น 1 ในของดีจังหวัดกระบี่

 

15. ทุเรียนทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในพื้นที่แนวเทือกเขาตะนาวศรี มีลำน้ำสำคัญมากมาย มีสภาพอากาศกลางวันร้อนกลางคืนเย็น ทำให้ลักษณะดินบริเวณนั้นเป็นดินศิลาแลง เนื้อดินร่วนปนทราย สามารถระบายน้ำได้ง่าย ทำให้รากทุเรียนสามารถชอนไชหาอาหารได้ดี และได้รับสารอาหารจากดินเต็มที่

 

ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ทำให้ทุเรียนทองผาภูมิเติบโตได้ดี มีอัตลักษณ์ชัดเจน ผลทรงรีสวย เปลือกบาง รสชาติหวานมัน เนื้อหนาสีครีมเหลือง ผิวมันวาว กรอบ เส้นใยน้อย และไม่มีกลิ่นฉุน ปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ จ.กาญจนบุรี และเกษตรกรในพื้นที่ ได้อย่างยั่งยืน

 

16. ทุเรียนหมอนทองระยอง

เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีลักษณะเปลือกบาง แยกเป็นพูชัดเจน เนื้อหนาละเอียด แห้ง เหนียว เส้นใยน้อย กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวานมัน ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง รูปทรงผลกลมรี ก้นผลค่อนข้างแหลม เมล็ดสีน้ำตาล เล็ก ลีบ

 

สามารถปลูกได้บนพื้นที่ราบ หรือโดยวิธีการยกโคกคือ การขุดดินขึ้นมากอง หรือการนำดินมากองให้สูงจากพื้นดินเดิม แล้วจึงปลูกโดยขุดดินบนโคกให้ลึกพอดีกับปากถุงของต้นพันธุ์ จากนั้นขุดดินกลบ หรือโดยวิธีการยกร่องคือ การทำให้เกิดเนินดินสองฝั่ง เพื่อช่วยให้มีการระบายน้ำที่ดีไม่ท่วมขัง ฤดูที่เหมาะสมกับการปลูก คือ ก่อนฤดูฝน (มีนาคม-เมษายน) แต่หากเกษตรกรสามารถบริหารจัดการระบบน้ำได้ดี และสม่ำเสมอ สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

 

17. ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด

ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เปลือกผิวสีเขียวปนน้ำตาล ปลายหนามแข็ง และแหลมคม เนื้อทุเรียนสีเหลืองอ่อน หนา รสชาติหวาน มัน ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดตราด ได้แก่ อำเภอเมืองตราด อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ และอำเภอเขาสมิง รูปทางผลยาว เมล็ดส่วนใหญ่ลีบ มีสีน้ำตาลไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม

 

สำหรับการปลูก กิ่งพันธุ์ต้องเป็นพันธุ์หมอนทอง ที่ได้จากการขยายพันธุ์โดยวิธีทาบกิ่ง หรือเสียบยอด เพื่อให้ได้กิ่งพันธุ์ตรงตามสายพันธุ์ โดยเกษตรกรสามารถขยายพันธุ์เอง หรือ ซื้อกิ่งพันธุ์จากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน และน่าเชื่อถือ กิ่งพันธุ์ทุเรียนต้องมีระบบรากที่ดี ไม่คดงอ และแข็งแรง โดยฤดูที่เหมาะสมต่อการปลูกอยู่ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พื้นที่เหมาะสมในการปลูกทุเรียนคือ ตามแนวเชิงเขา ที่ลาดชัน และที่ราบ

 

อ้างอิง : กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)เรื่องเล่า ข่าวเกษตร 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์