‘งูเหลือม’ แหล่งอาหารโปรตีนสูง ตัวเลือกใหม่ ‘ความยั่งยืนทางอาหาร’

‘งูเหลือม’ แหล่งอาหารโปรตีนสูง ตัวเลือกใหม่ ‘ความยั่งยืนทางอาหาร’

งานวิจัยชี้ “งูเหลือม” เป็นอาหารที่มี “โปรตีน” สูง เหมาะสำหรับเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต และเป็นการทำปศุสัตว์ที่ยั่งยืนกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ถือเป็นการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” อย่างมีประสิทธิภาพ

KEY

POINTS

  • นักวิจัยพบว่า “งูเหลือม” เป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูงและมีไขมันอิ่มตัวน้อย อีกทั้งยังเจริญเติบโตได้เร็ว เพียงแค่ปีเดียวก็สามารถจับส่งขายได้แล้ว
  • งูเหลือมจึงสามารถเปลี่ยนแปลงสารอาหารที่พวกมันกินให้เป็นเนื้อและเนื้อเยื่อร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าสิ่งมีชีวิตเลือดอุ่นทุกชนิด เพราะงูเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการรักษาอุณหภูมิ
  • งูเหลือมอดอาหารได้นานกว่า 4 เดือน โดยที่น้ำหนักแทบจะไม่ลดลงเลย  และกลับมาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทันทีที่ได้กินอาหาร ดังนั้นการเลี้ยงดูงูเหลือมจึงสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาหารจะขาดแคลนก็ตาม

งานวิจัยชี้ “งูเหลือม” เป็นอาหารที่มี “โปรตีน” สูง เหมาะสำหรับเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต และเป็นการทำปศุสัตว์ที่ยั่งยืนกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ถือเป็นการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” อย่างมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยชี้ “งูเหลือม” เป็นอาหารที่มี “โปรตีน” สูง เหมาะสำหรับเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต และเป็นการทำปศุสัตว์ที่ยั่งยืนกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ถือเป็นการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” อย่างมีประสิทธิภาพ

การวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมกควอรี ในออสเตรเลีย นำทีมโดยนักวิจัยกิตติมศักดิ์ ดร. แดเนียล นาทัสช์ ที่การศึกษาฟาร์มงูเหลือมเชิงพาณิชย์ 2 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า “งูเหลือมสามารถเปลี่ยนอาหารเป็นการเพิ่มน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่ง เมื่อเทียบกับปศุสัตว์ทั่วไป เช่น ไก่และโคเนื้อ

“งูเหลือมมีประสิทธิภาพในการแปลงอาหารให้เป็นโปรตีนและน้ำหนักตัวมากกว่าสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคทุกชนิด งูเหลือมโตเร็วมาก เพียงแค่ปีเดียวหลังจากฟักออกจากไข่ ก็สามารถจับส่งขายได้แล้ว” ดร.นาทัสช์ กล่าว

นักวิจัยได้เก็บข้อมูลงูเหลือมร่างแห (Malayopython reticulatus) และงูเหลือมพม่า (Python bivittatus) ที่เลี้ยงในฟาร์มของประเทศไทยและเวียดนามเกือบ 5,000 ตัวเป็นเวลาหนึ่งปี พร้อมด้วยอาหารพวกมันที่ได้รับอาหาร รวมถึงน้ำหนักเนื้องู โดยไม่รวมผิวหนัง อวัยวะภายใน ศีรษะและหาง จากนั้นจึงนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่ในสัตว์อื่นๆ 

“งูเหลือม” ตัวเลือกใหม่สร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคภัยไข้เจ็บ และปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง ล้วนสร้างปัญหาให้กับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนจำนวนมาก ในกลุ่มประเทศยากจน ที่อยู่ในสภาวะขาดโปรตีนเฉียบพลันอยู่แล้ว จนเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารในวงกว้าง ทำให้ผู้คนต้องแสวงหาแหล่งอาหารทางเลือก

เนื้องู” ถือเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูงและมีไขมันอิ่มตัวน้อยและเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยมีการบริโภคอย่างแพร่หลายทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศจีน

ถึงแม้ว่าจะมีการเลี้ยงงูเหลือมขนาดใหญ่มากมายในเอเชีย ถึงขั้นเปิดเป็นฟาร์มเชิงพาณิชย์ได้ แต่งูกลับไม่ได้รับความสนใจจากวงการวิทยาศาสตร์การเกษตรกระแสหลักมากนัก ทั้ง ๆ ที่งูไม่ต้องการดูแลและอาหารมากเท่ากับสัตว์ชนิดอื่น

ปรกติแล้ว นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญเสียพลังงานจากอาหารที่กินประมาณ 90% เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ แต่สัตว์เลื้อยคลานที่เป็นสัตว์เลือดเย็นไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการรักษาอุณหภูมิ พวกมันแค่ต้องการแสงแดดเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นเท่านั้น

ดังนั้นงูเหลือมจึงสามารถเปลี่ยนแปลงสารอาหารที่พวกมันกินให้เป็นเนื้อและเนื้อเยื่อร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าสิ่งมีชีวิตเลือดอุ่นทุกชนิด

ดร.นาทัสช์ กล่าวว่า งูสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยน้ำค้างที่ตกลงบนเกล็ดของมันในตอนเช้า และกินสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์อื่น ๆ ที่ทำลายพืชอาหารของมนุษย์ พร้อมระบุว่า การศึกษาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการทำฟาร์มงูเหลือมด้วยระบบปศุสัตว์ อาจให้การตอบสนองต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลกได้อย่างและมีประสิทธิภาพ

ศ.ริค ชายน์ ผู้ศึกษาวิจัยร่วม กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่เจาะลึกถึงต้นทุน และประโยชน์ของฟาร์มงูเชิงพาณิชย์ โดยผลการศึกษาชี้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงงูเหลือมสามารถปรับตัวทางเศรษฐกิจและได้กำไรมากกว่าการทำฟาร์มสุกร

 

กิน “งูเหลือม” ลดโลกร้อน

จากการศึกษาพบว่า มวลอาหารแห้งที่งูเหลือมเลี้ยงคือ 1.2 เท่าของมวลเนื้องู ซึ่งต่ำกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาแซลมอน (1.5) จิ้งหรีด (2.1) สัตว์ปีก (2.8) หมู (6) และ วัว (10) 

เช่นเดียวกับน้ำหนักของโปรตีนที่ให้เป็นอาหารงูอยู่ที่ 2.4 เท่าของมวลน้ำหนักงู ต่ำกว่าสัตว์ชนิด ๆ ได้แก่ ปลาแซลมอน (3) จิ้งหรีด (10) สัตว์ปีก (10) หมู (38) และ วัว (83)

งูเหลือมหนึ่งตัว สามารถนำมาใช้บริโภคได้ถึง 82% ของน้ำหนักตัว ซึ่งนอกจากเนื้อสัตว์ที่นำมาบริโภคแล้ว ยังสามารถนำหนังไปใช้ทำเครื่องประดับหรือเฟอร์นิเจอร์ได้ ขณะที่ไขมัน หรือที่เรียกว่า “น้ำมันงู” และ ดีงู (น้ำดีงู) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อีกด้วย

สัตว์เลื้อยคลานผลิตก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก ระบบย่อยอาหารที่แข็งแรงของพวกมัน สามารถสลายกระดูกได้ ทำให้แทบไม่มีการสูญเสียน้ำและสร้างของเสียน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก

อีกทั้งงูยังให้กำเนิดลูกได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น โดยงูเหลือมผลิตไข่ได้ระหว่าง 50-100 ฟองในหนึ่งปี ตรงกันข้ามกับวัวซึ่งให้กำเนิดลูกโดยเฉลี่ยเพียง 0.8 ตัวต่อปี ส่วนสุกรซึ่งสามารถตกลูกได้ประมาณ 22-27 ตัว 

ดร.นาทัสช์ กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกษตรกรไม่สามารถขายสุกรได้ และมีต้นทุนมากเกินไปที่จะเลี้ยงต่อ สุดท้ายเกษตรกรจำเป็นต้องการุณยฆาตและฝังกลบ หรือเอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก แต่ถ้าเลี้ยงงูก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะงูเหลือมสามารถอดอาหารได้นานกว่า 4 เดือน โดยที่น้ำหนักแทบจะไม่ลดลงเลย  และกลับมาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทันทีที่ได้กินอาหาร ดังนั้นการเลี้ยงดูงูเหลือมจึงสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาหารจะขาดแคลนก็ตาม

นอกจากนี้การเลี้ยงงูยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้อีกด้วย “ฟาร์มบางแห่งมีนำลูกงูเหลือมไปให้ชาวบ้านช่วยเลี้ยง และจะรับซื้อคืนเมื่องูอายุครบหนึ่งปี ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านวัยเกษียณ โดยพวกเขาจะมีต้นทุนเพียงแค่ค่าอาหารงู อาจจะเป็นสัตว์ฟันแทะหรือเศษอาหารต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น” ดร.นาทัสช์ กล่าว

ขณะที่ ศ.ชายน์ กล่าวว่าการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอันน่าทึ่งของสัตว์เลื้อยคลานในการเปลี่ยนของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ และแสดงให้ถึงโอกาสในการผลักดันให้งูกลายเป็นแหล่งอาหารทางเลือก แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้ที่ชาวยุโรปและออสเตรเลียจะทดลองทำฟาร์มงู และนำงูมาบริโภค

“ผมคิดว่าคงอีกนานกว่าที่คุณจะได้เห็นเบอร์เกอร์งูเหลือมเสิร์ฟที่ร้านอาหาร”

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยงูเหลือมนั้นเป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 โดยมีงูจำนวน 14 ชนิด ได้แก่

1. งูเขียวกาบหมาก (Gonyosoma oxycephalum)

2. งูจงอาง (Ophiophagus Hannah)

3. งูทางมะพร้าวเขียว (Gonyosoma prasina)

4. งูทางมะพร้าวดำ หรือ งูทางมะพร้าวมลายู หรือ งูหลุนชุน (Elaphe flavolineata)

5. งูทางมะพร้าวแดง (Elaphe porphyracea)

6. งูทางมะพร้าวลายขีด (Elaphe radiata)

7. งูทางมะพร้าวหางดํา หรืองูใบ้ หรืองูทางมะพร้าวถํ้า (Elaphe taeniura)

8. งูสิง (Ptyas korros)

9. งูสิงหางดํา (Ptyas carinatus)

10. งูสิงหางลาย หรืองูสิงลาย (Ptyas mucosus)

11. งูแสงอาทิตย์ (Xenopeltis unicolor)

12. งูหลาม (Python molurus bivittatus)

13. งูหลามปากเป็ด (Python curtus)

14. งูเหลือม (Python reticulatus)

ทั้งนี้สามารถขออนุญาตเพื่อเพาะพันธุ์จำหน่าย เพื่อความสวยงาม แปรรูปผลิตภัณฑ์หนัง แต่ไม่อนุญาตให้นำไปกินเป็นอาหาร


ที่มา: BBCForbesNew ScientistPhys