ชะตากรรมปูตินหลังเริ่มสงคราม | เรือรบ เมืองมั่น

ชะตากรรมปูตินหลังเริ่มสงคราม | เรือรบ เมืองมั่น

ขณะที่โลกกำลังเป็นห่วงในชะตากรรมของยูเครน ผมกลับจับตามองประธานาธิบดี Vladimir Putin มากกว่าจะเอาจะตัวรอดได้นานเท่าไหร่หลังจากที่เริ่มสงครามที่ไม่ชอบธรรมจนโดนต่อต้านจากทั่วโลกไปแล้วแบบนี้

เวลาที่เขียนบทความนี้สงครามในเคียฟและเมืองใหญ่อื่นๆ ยังคงรุนแรงและเชื่อว่าจะยังไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ เพราะชาวยูเครนสู้ยิบตา ต่อให้รัสเซียยึดครองยูเครนได้ ก็จะต้องเจอกับการต่อสู้บนถนน มุมตึกและใต้ดิน เหมือนที่เคยเจอในเชชเนียไปอีกนาน  

แต่สถานการณ์ในวันที่โลกเปลี่ยน การต่อต้านปูตินหลากหลายรูปแบบที่ทรงพลัง ผสานกำลังและรวดเร็วมากอย่างยุคนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในมอสโคว์หรือเครมลินเอง  ฝันสุดท้ายของชายชราถึง Greater Russia อาจไปไม่สุด และรัสเซียอาจมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง

การพยายามทวงคืนสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแผ่นดินของรัสเซียกลับมา โดยปูตินในวันนี้นั้นเป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกไม่ประหลาดใจเท่าใดนัก เพราะบุรุษเหล็กผู้นี้ถูกมองว่าเขาต้องทำอย่างนั้นมาตั้งแต่ที่ได้ครองอำนาจในรัสเซียเมื่อปลายศตวรรษก่อนแล้ว  และเขาก็ดำเนินการมาโดยตลอด 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

ม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงเพื่อนบ้านอดีตรัฐบริวาร   ใช้กำปั้นเหล็กกับแคว้นต่าง ๆ ในประเทศ และท้าทายชาติตะวันตกในทุกด้าน  แต่การข้ามเส้นของการอดกลั้นได้ด้วยการรุกรานทางทหารนั้นดันมาเกิดตอนที่เขาแก่แล้ว 

สวนทางกับกระแสรักสันติภาพที่กำลังเบ่งบานผ่านทางโลกอินเทอร์เน็ต  ไอเดียของเขาจึงไม่มีการตอบรับอย่างกว้างขวาง ขนาดจีนกับอินเดีย มิตรใกล้ชิดยังอ้อมแอ้ม งดออกเสียงในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเลย

ข้ออ้างที่ปูตินใช้เพื่อแสดงให้โลกยอมรับในความชอบธรรมของเขา ไม่สมเหตุสมผลในโลกปัจจุบัน เช่น การอ้างว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั้นจริงไม่หมด  เคียฟอาจเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมชาวรัสเมื่อศตวรรษที่ 10 และแคว้นยูเครนไม่เคยเป็นรัฐเอกราชเลย จนกระทั่งแยกตัวออกจากโซเวียตเมื่อปี 1991 นั้นจริง

แต่ชาวยูเครนที่มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเองต้องตกเป็นเมืองขึ้นของหลายต่อหลายอาณาจักรไม่ใช่แค่จักรวรรดิรัสเซีย  พวกคอมมิวนิสต์ยูเครนเท่านั้นที่พาแคว้นนี้ไปรวมกับโซเวียตเมื่อปี 1922  ชาวยูเครนปลดแอกออกจากโซเวียตด้วยคะแนนประชามติท่วมท้น 92.3 %

การที่ปูติดพยายามอ้างถึงภารกิจของรัสเซียต่อยูเครนก็ไม่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์  รัสเซียไม่ใช่โซเวียตอีกแล้ว  และแท้ที่จริงโซเวียตก็ล่มไปเพราะรัสเซียนั่นแหล่ะ โดย Boris Yeltsin ประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซียปัจจุบันเป็นคนที่ไม่เอาโซเวียต  เอาแต่แคว้นรัสเซียเท่านั้น 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

โซเวียตจึงต้องล่มสลาย แต่ละแคว้นต้องแยกตัวออกทั้งที่บางแคว้นยังเตรียมตัวไม่ทัน เมื่อกลายเป็นประเทศ บางรัฐจึงต้องตกอยู่ใต้อำนาจผู้นำเผด็จการซึ่งก็สมประโยชน์กับเครมลิน  แต่เมื่อผ่านไป 30 ปี คนรุ่นใหม่มีจำนวนมากและเข้มแข็งขึ้น กระแสเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นแม้แต่ในรัสเซีย  

ไม่แน่ใจว่าปูตินเตรียมพร้อมรับมือการประท้วงสงครามในรัสเซียได้ขนาดไหน  กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คนที่อยากเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพกลัว  เมื่อปีกลายเขาอาจสยบประชาชนจำนวนมหาศาลที่เดินขบวนสนับสนุนนาย Alexei Navalny ฝ่ายค้านคนสำคัญได้ แต่เขาจะเอาชนะได้ทุกคลื่นการชุมนุมล่ะหรือ

อาจมีผู้เห็นใจปูติน โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มชมชอบอัตตาธิปไตยเช่นกัน ว่าปูตินถูกบีบจากชาติตะวันตกก่อนว่าจะรับยูเครนเข้าเป็นนาโต้แล้วจะจ่ออาวุธหนักเล็งเป้ารัสเซีย  จึงต้องชิงโจมตียูเครนก่อน  แต่คนส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกมองว่าปูตินมโนไปเองถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ที่เกิดขึ้นเจ็บจริงตายจริงคือการบุกยูเครนของรัสเซียตั้งแต่ 24 ก.พ.65  

ในสายตาของประเทศที่ทรงพลังทางเศรษฐกิจเหล่านี้ การใช้กำลังรุกรานเพื่อนบ้าน "ไม่ใช่" ข้ออ้างของการป้องกันตัว  ประเทศเหล่านี้อาจไม่กล้าปะทะกับรัสเซียทางตรงด้วยกำลังทหาร แต่การประสานเสียงร่วมมือกันต่อต้านรัสเซียทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการคว่ำบาตรทางการค้าและการเงินจะทำให้การส่งกำลังบำรุงภายในรัสเซียมีปัญหา เช่นเดียวกับโซเวียตเมื่อปลายยุค  

ขณะที่ปูตินหวังจะเห็นคนยูเครนออกมาโค่นล้มรัฐบาลยูเครน  เขาก็อาจถูกคนในประเทศที่ประสบภาวะลำบากสาหัสทางเศรษฐกิจโค่นล้มระบอบกำปั้นเหล็กเช่นกัน โดยเฉพาะจากพวกคนรวยที่ต้องพึ่งพาระบบทุนนิยมในโลกตะวันตก

ต่อให้รัสเซียยึดยูเครนได้ ปูตินก็ไม่สามารถได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตกและพันธมิตรอีกแล้ว  รัสเซียไม่น่าที่จะมีมิตรมากพอที่ช่วยประคองสายป่านเศรษฐกิจรัสเซียได้  การบ่อนทำลายของชาติตะวันตกเพื่อมุ่งไปที่การเปลี่ยนตัวผู้นำในเครมลินได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง  และหากปูตินจนตรอกถึงขั้นใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือกล้าบุกบอลติค เขาอาจจะจบเร็วกว่าที่คาด  

ทางรอดของเขาไม่ใช่การประนีประนอมกับนาโต้ด้วยการคายยูเครนเพราะเป็นเรื่องที่ย้อนกลับไปไม่ได้  แต่ควรเป็นการพยายามหาทางลงจากอำนาจและโลว์โปรไฟล์อย่างที่สุด ซึ่งเชื่อว่าปูตินก็ไม่เลือกทางนี้เหมือนกัน.