ผลงานรัฐบาล 2 ปี ยังไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ผลงานรัฐบาล 2 ปี ยังไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

จากเอกสารรายงานผลงานรัฐบาล 2 ปีเมื่อ 15ก.ย.59 วิเคราะห์สถานการณ์ประเทศด้านสังคมว่า 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไม่สงบสุข

เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในสังคม ประชาชนจำนวนมากมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การกระจุกตัวของความมั่งคั่งและโอกาส ขณะที่ปัญหาระดับโลกก็มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ การอพยพลี้ภัย ความอดอยาก ความไม่เท่าเทียม ภัยธรรมชาติและโรคระบาด 

นายกรัฐมนตรีรายงานผลงานรัฐบาลด้านสังคมว่ามีการปราบปรามผู้มิอิทธิพล ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกระดับโดยการตั้งกลไกในแต่ละหน่วยงาน การจัดระเบียบสังคม จัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะ การจัดการปัญหาการบุกรุกคูคลองพื้นที่สาธารณะ ผลักดันสวัสดิการสังคมเพื่อดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้มีรายได้น้อย กำหนดให้เรียนดีมีคุณภาพ 15 ปี ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ทุกคนมีความสุขร่วมกันคนมีมากก็ควรแบ่งปันมากด้วยภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคมรายงานว่า สิ่งที่เป็นผลงานรัฐบาลดำเนินการด้านสังคม2ปี คือ ยกระดับคุณภาพและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยการสร้างทีมหมอครอบครัว การพัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน การเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดอุบัติใหม่ การนำวัคซีนมะเร็งปากมดลูกเข้าสู่ระบบ การจัดหาที่อยู่ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดระเบียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองลาดพร้าว ฯลฯ

ทั้งหมดที่รายงานผลงานมายังไม่ตอบปัญหาลดความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะเรื่องการกระจายรายได้ การยกระดับรายได้ของประชาชนที่เป็นแรงงานโดยเฉพาะแรงงานที่ได้ค่าแรงรายวันต่ำกว่า 300 บาท แม้เครือข่ายแรงงานจะเสนอให้เพิ่มก็ไม่ได้รับการใส่ใจจากรัฐ ส่วนเรื่องการสร้างความเป็นธรรมยิ่งไม่ได้ใส่ใจดำเนินการอย่างจริงจัง การจัดหาที่อยู่อาศัยที่รายงานผลก็เกี่ยวโยงกับการรื้อย้ายออกจากพื้นที่เดิมซึ่งจำเป็นต้องจัดหาที่อยู่ใหม่ให้คนเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ได้มีนโยบายจัดหาที่พักราคาประหยัดให้ประชาชนที่ไม่มีที่อยู่ได้เช่าพักอาศัยระยะยาว รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ออกหางานทำในเมืองซึ่งต้องการที่พักเช่นเดียวกัน 

กรณีโครงการบ้านประชารัฐที่คนลงทะเบียนจองกว่าครึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ รัฐควรจัดสวัสดิการที่พักให้ทุกคน ส่วนคนที่ไม่ต้องการเช่าระยะยาวก็สามารถไปเช่าซื้อในราถูกได้ ควรมีทั้งโครงการเช่าระยะยาวและขายราคาไม่สูงแต่มีคุณภาพ ในส่วนการสร้างหลักประกันในชีวิตไม่ได้มีการกล่าวถึงและยกระดับให้ดีขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการรักษาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นระบบที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการใช้งบประมาณอย่างเสมอภาคกันของประชาชน ข้าราชการ และคนงานในประกันสังคม ที่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐในจำนวนที่ไม่เท่าเทียมกัน และระบบบำนาญสำหรับผู้สูงอายุที่รัฐลงทุนให้กับประชาชนในจำนวนงบที่ต่างกัน คือการจ่ายบำนาญข้าราชการปีละกว่าสองแสนล้านบาท การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปีละหกหมื่นล้านบาท 

สิ่งที่รัฐบาลรายงานว่าจะดำเนินการต่อไปในช่วงที่ยังมีวาระอยู่อีกปีกว่าๆ คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งควรมุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำด้วยการทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบเดียว และใช้จ่ายงบค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนอย่างเสมอภาคกัน ไม่กีดกันกลุ่มคนจนด้วยการให้ร่วมจ่ายมากขึ้น การจัดระบบบำนาญแห่งชาติ การจ่ายบำนาญพื้นฐาน (Social pension)ให้ประชาชนทุกคน นำเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่ายให้ทุกคนนั้นเปลี่ยนเป็นบำนาญพื้นฐานสำหรับทุกคน ก่อนที่จะสนับสนุนโครงการการออมเพื่อบำนาญต่อไป เพราะประชาชนมีรายได้แตกต่างกัน กำลังความสามารถในการออมต่างกัน คนมีมากออมได้มากได้บำนาญมาก คนมีน้อยออมได้น้อยได้บำนาญน้อย ดังนั้น เพื่อมีฐานการคุ้มครองทางสังคม (social protection floor) รัฐต้องจัดบำนาญพื้นฐาน(social pension) ให้ทุกคนก่อน แล้วประชาชนได้บำนาญเพิ่มเติมจากกำลังความสามารถในการออมเป็นส่วนสมทบต่อยอดขึ้นไป 

รัฐควรจริงใจที่จะไม่นำผลการลงทะเบียนคนจนมาเปลี่ยนแปลงการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้เฉพาะกลุ่ม เพราะยังไม่สามารถรับประกันว่าข้อมูลการขึ้นทะเบียนนั้นเป็นจริงและครอบคลุมคนทุกคนที่จำเป็นได้จริงๆ

-------------------

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ