‘กอบศักดิ์’ หนุน ’แลนด์บริดจ์’ ชู ‘ท่าเรือระนอง’ เจาะตลาดอินเดีย

‘กอบศักดิ์’ หนุน ’แลนด์บริดจ์’  ชู ‘ท่าเรือระนอง’ เจาะตลาดอินเดีย

“กอบศักดิ์” หนุนแลนด์บริดจ์ เปิดตลาดการค้าไทยด้านตะวันตก ตามเทรนด์การค้า-อุตสาหกรรมโลก ตลาดอินเดียเติบโตจาก GDP ที่เติบโตกว่าปีละ 6 -7% แนะพัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นท่าเรือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญก่อน แนะรัฐบาลเร่ง FTA ไทย-บังคลาเทศ เจาะตลาด 160 ล้านคน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจไทย (แลนด์บริดจ์) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังผลักดันและมีการโรดโชว์โครงการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งใช้ประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ระหว่างสองมหาสมุทรคืออินเดียและแปซิฟิกซึ่งหากมีการออกแบบโครงการให้ดีจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เราแข่งขันกับเวียดนามได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ในโครงการแลนด์บริดจ์ประกอบไปด้วยโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยโครงการที่สำคัญในระยะแรกที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นคือโครงการท่าเรือระนองซึ่งมีที่ตั้งและทำเลที่เหมาะสมจะก่อสร้างและพัฒนาให้เป็นท่าเรือน้ำลึก และเป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งท่าเรือระนองนั้นจะเป็นท่าเรือสำคัญเพราะจะเปิดประตูการค้าด้านตะวันตก ไปยังด้านตะวันตกของประเทศ

ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีประชากรมาก เช่น อินเดีย และบังคลาเทศ ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 7 – 8 % ทำให้เป็นโอกาสในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆเหล่านี้ได้

นอกจากนั้นในแง่ของการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือแหลมฉบับในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้นรัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้มีการอนุมัติแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไว้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งในภาพใหญ่จะสามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากทางตอนใต้ของจีนมายังท่าเรือทั้งสองแห่งคือท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือระนองเพื่อส่งสินค้าไปยังด้านตะวันตกได้ซึ่งถือว่าเป็นเกตเวย์การขนส่งที่สำคัญ ซึ่งระยะเวลาจากการขนส่งสินค้าจากท่าเรือระนองไปถึงอินเดียใช้เวลา 4-7 วันเท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลาขนส่งที่ไปอ้อมช่องแคบมะละกาไปยังประเทศจีนใช้เวลากว่า 20 วัน แต่เส้นทางต่อไปจะสามารถส่งสินค้ามายังท่าเรือระนองแล้วขนส่งทางรถไฟต่อไปยังจีนได้ หรือในทางกลับกันก็ส่งสินค้าจากจีนไปอินเดียโดยผ่านท่าเรือระนองได้เช่นกันจะช่วยย่นระยะเวลามาก

“ท่าเรือระนองนั้นเป็นท่าเรือที่ใช่ ที่จะพัฒนาให้เป็นท่าเรือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เป็นเกตเวย์ในการเปิดประตูการค้าไปยังอีกหลายประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง และมีประชากรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บังกลาเทศ อินเดีย และเมื่อดูจากแผนที่จะเห็นว่าท่าเรือระนองนั้นอยู่ในระดับเดียวกับการเดินเรือ จากศรีลังกา และแอฟริกา ขณะที่ท่าเรือปากบารานั้นอยู่ต่ำเกินไป และท่าเรือทวายนั้นก็อยู่สูงเกินไปต้องเสียเวลาเดินเรือขึ้นไปด้านบน โครงการแลนด์บริดจ์จึงต้องเน้นในเรื่องของการพัฒนาท่าเรือระนองก่อนแล้วจึงขยายไปยังส่วนอื่นๆที่ความคุ้มค่าในการคืนทุนใช้เวลานานกว่า” นาย กอบศักดิ์ กล่าว

แนะเจรจา FTA ไทย - อินเดีย - บังกลาเทศ 

นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อไปด้วยว่าโอกาสของประเทศไทยในการเปิดตลาดการค้าในเอเชียใต้ ประเทศไทยควรเร่งการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับอินเดีย และบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูง โดยเฉพาะบังกลาเทศที่ได้เคยมีการพูดคุยกันเบื้องต้นในระดับรัฐบาลแล้วมีความต้องการที่จะทำ FTA กับไทยมาก โดยบังกลาเทศมีประชากรมากถึง 160 ล้านคน เป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และประชาชนของบังกลาเทศมีความชื่นชอบสินค้าไทยมาก 

โดยหากไทยสามารถทำ FTA กับบังกลาเทศได้จะเพิ่มบทบาทของไทยในกลุ่มประเทศ “CLMVB” ที่มีประชากรมากถึง 400 ล้านคน ซึ่งมากกว่าตลาดในอินโดนิเซีย และบังกลาเทศเองยังมีความต้องการที่จะเข้ามาตั้งสำนักงานในการทำธุรกิจในประเทศไทยเพื่อขยายการทำธุรกิจไปยังภูมิภาคนี้ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่จะร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศนี้ได้