'มนพร' ย้ำโครงการแลนด์บริดจ์ ลดต้นทุนขนส่ง สร้างรายได้ให้ประชาชน

'มนพร' ย้ำโครงการแลนด์บริดจ์ ลดต้นทุนขนส่ง สร้างรายได้ให้ประชาชน

“มนพร” ตอบกระทู้สด “แลนด์บริดจ์” ย้ำหากไม่คุ้มค่าจะทบทวน แต่จากการศึกษาพบว่าสามารถประหยัดเวลาในการเดินเรือ ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 18 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ สันติภาดา รองประธานสภาฯคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เกี่ยวกับการทำโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งมีผู้ตั้งถาม จำนวน 2 กระทู้ ของ ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ นายสุรเชษฐ์ ประวิณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

โดยนายสุรเชษฐ์ ได้ถามถึงรายละเอียดของผลการศึกษาบนข้อเท็จจริง เช่น สายการเดินเรือ การลดค่าใช้จ่ายในสายการเดินเรือ ว่า จะมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนระหว่าง แลนด์บริดจ์เมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา รวมถึงประมาณการเรือขนส่งที่จะใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ ตามผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนในฐานะฝ่ายค้าน ไม่ได้ค้านไปเรื่อย แต่จากการรับฟังข้อมูลไม่พบรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง แต่พบเป็นข้อมูลเพื่ออวย และฝันใหญ่เท่านั้น

“ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าการขนส่งจะเสียเวลา 7-10 วัน ที่จะขนย้ายสินค้าขึ้นลง และสายการเดินเรือต้องเพิ่มจำนวนเรือ 7-10 ลำ ถือว่า มีค่าใช้จ่าย และเสียเวลาที่มากกว่า ช่องแคบมะละกา และช่องทางเดินเรืออื่นๆ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่จะบอกในความคุ้มค่าของการลงทุน ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ บอกว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า และเสนอให้ลดขนาดของโครงการและลงทุน รวมถึงผลกระทบชุมชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้รัฐบาลต้องการเพิ่มขนาด ข้อมูลทางธุรกิจไม่ชัดเจน แต่ไปเร่ขาย จะขายของหรือขายหน้าต้องรอดู” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อผลศึกษายังไม่ชัดเจน ทำไมถึงไปเร่ขายต่างประเทศแล้ว ขณะที่การศึกษาอื่นๆ เช่น มอเตอร์เวย์ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งการดำเนินการในโครงการที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจะยกที่ให้นายทุนกี่ไร่ และนานเท่าไร นอกจากนั้นยังมีประเด็นการชักศึกเข้าบ้านในแง่นโยบายทางการเมืองด้วย จึงควรคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่มากกว่าการขายฝันโครงการใหญ่ที่พบว่า หลายโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนเดือดร้อน แต่ผู้รับเหมารวม จึงขอให้ไตร่ตรองให้ดีว่า ควรทำหรือไม่ควรทำ มีความคุ้มค่าและโปร่งใส มากกว่าอยากทำ

ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงแทน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยระบุว่า จากการโรดโชว์ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายสุริยะ ที่ต่างประเทศ พบว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจและเข้าร่วมหารือ ซึ่งนักลงทุนสนับสนุนเพราะต้องการช่องทางขนส่งทางเรือที่สามารถขนส่งสินค้าได้สะดวก

ล่าสุดนายเศรษฐา ที่เดินทางไปยังกรุงดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ได้พูดคุยกับนักลงทุนใน กลุ่มสหภาพยุโรป ได้รับความสนใจและเสียงต่อรับ จากนักธุรกิจในเชิงบวก ได้ขยายความคิด และโครงการให้นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งประเทศไทยต้องการโอกาส ทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้ประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน

\'มนพร\' ย้ำโครงการแลนด์บริดจ์ ลดต้นทุนขนส่ง สร้างรายได้ให้ประชาชน

นางมนพร กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลมีคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ทุกโครงการต้องฟังความเห็น ออกกฎหมาย ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ได้เชิญคนที่เห็นด้วยและเห็นต่างให้ความเห็น รวมถึงศึกษาทุกมิติ อาทิ ความมั่นคง อุตสาหกรรม ต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม และให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแลนด์บริดจ์ มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความท้าทายที่ต้องวางแผนเพื่อแก้ปัญหา ผลกระทบในพื้นที่รวมถึงคำนึงถึงการเวนคืนที่ดินในราคาที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่

นอกจากนั้น กรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชน พบว่าประชาชนส่วนหนึ่งคัดค้านเพราะไม่อยากสูญเสียที่ดินทำกินดั้งเดิม สิทธิในที่อยู่อาศัย และการประมงพื้นบ้าน ซึ่งรัฐบาลไม่ละเลยเสียงคัดค้านดังกล่าวและเตรียมออกกฎหมายพิเศษในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยนำความเห็นของประชาชนมาพิจารณา ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ

นางมนพร ชี้แจงต่อว่า ตนจะผลักดันความฝันแลนด์บริดจ์ให้เป็นจริงและลงมือทำ เพื่อลดการเสียเวลาและระยะทางขนส่ง จากที่ช่องแคบมะละกามีความแออัด และมีปัญหาปล้นเรือสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การขนส่งสินค้าจากประเทศจีนไป ออสเตรเลีย ทางเรือมีเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศจีนตอนใต้หลายพื้นที่ไม่ติดทะเล หากมีโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้มีเรือตู้สินค้ามาที่แลนด์บริดจ์เพิ่มมากขึ้น เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แม้ไม่ใช่ทุกเส้นทางการเดินเรือ

แต่จากการศึกษาพบว่า เส้นทางที่ขนส่งเส้นทางเรือฟีดเดอร์ที่จะประหยัด แต่ระยะยาวหากจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เรือใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าจากท่าเรือระนอง จะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความคุ้มค่าของการทำโครงการขนาดใหญ่นั้น ยืนยันว่าบริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาทุกมิติ และบริษัทที่จะลงทุนต้องเข้ามาศึกษาในแง่ความเป็นไปได้ หากไม่คุ้มค่าเขาไม่มาลงทุน แต่เมื่อศึกษาแล้วมีประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ต้องกลับมาทบทวน

“ยอมรับว่า ทุกโครงการมีผลกระทบ จึงใช้กลไกของสภาฯ ผ่านกรรมาธิการฯ ที่ประกอบด้วยทุกพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาศึกษา ประชุมกว่า 10 ครั้ง ลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เมื่อศึกษาแล้วจะนำมาให้สภาฯ พิจารณา และส.ส.สามารถให้ความเห็นได้ เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หากพบว่า ของบสูงเกินไป สามารถอภิปรายปรับลดได้”

ทั้งนี้ก่อนทำโครงการได้มีการศึกษารายละเอียด กระทรวงฯ ไม่มีการหมกเม็ด ทั้งระบบโลจิสติกส์ การออกแบบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์รูปแบบการลงทุน การออกแบบท่าเรือ ประเมินผลเกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม ข้อกังวลของประชาชน ชาวประมง การขับเคลื่อนและการร่วมทุน ซึ่งกระบวนการแต่ละส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา และจะนำข้อห่วงใยของฝ่ายค้านไปพิจารณาประกอบการศึกษาด้วย