"ธุรกิจไทย"พับแผนลงทุนเมียนมา เหตุการณ์ไม่สงบฉุดเศรษฐกิจ

"ธุรกิจไทย"พับแผนลงทุนเมียนมา เหตุการณ์ไม่สงบฉุดเศรษฐกิจ

สภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผย สถานการณ์ความไม่สงบกระทบเศรษฐกิจซบเซา ไร้ลงทุนใหม่ มีข้อจำกัดจำนวนเงินที่ขออนุญาตชำระนำเข้าส่งออก  "แบงก์กรุงเทพ” รับกระทบธุรกิจลงทุนยากขึ้น ยืนยันเปิดสาขาย่างกุ้ง แต่ระวังปล่อยกู้ ยอมรับดีมานด์ปล่อยกู้สินเชื่อใหม่หดตัว รอสถานการณ์ปกติ

สถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาชะลอตัวมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รายงานว่าเศรษฐกิจเมียนมาปี 2563 ขยายตัว 3.2% แต่ในปี 2564 ที่เกิดรัฐประหารและความวุ่นวายในประเทศ เศรษฐกิจติดลบ 17.9% ส่วนปี 2565 เศรษฐกิจ 0.06%

ในขณะที่ปี 2566 ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะ 2.49% แต่เป็นประมาณการณ์ก่อนเกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและหลายฝ่ายกังวลว่าจะนำมาสู่สถานการณ์ “รัฐล้มเหลว”

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์  ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า นักธุรกิจไทยได้ติดตามสถานการณ์ในเมียมาอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดสถานการณ์ตามชายแดนฝั่งเหนือของเมียนมา ที่ติดระหว่างรัฐฉาน รัฐกระฉิ่นกับมณฑลยูนนานของจีน โดยเฉพาะเขตอิทธิพลของกองกำลังโกก้าง ยังคงคุกรุ่นอยู่ตลอดนับตั้งยุทธการ 1027 ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 1 ธ.ค.2566 

ด้านชายแดนฝั่งเมืองเมียววดี-เกาะกะเร็ก ได้สู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กองกำลังติดอาวุธของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกลุ่มต่อต้านอื่นๆ โจมตีฐานทัพทหารในเมืองของรัฐบาลได้ทำการโจมตีทางอากาศ

ขณะที่กลุ่มต่อต้านพยายามยึดเมืองเกาะกะเร็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบต่อเนื่อง และจะกระทบการขนส่งสินค้าจากชายแดนแม่สอดสู่กรุงย่างกุ้งสะดุดหยุดลงได้ เหตุการณ์ดังกล่าวน่ากังวลว่าจะบานปลายออกไปนานแค่ไหนยังคาดการณ์ไม่ได้

\"ธุรกิจไทย\"พับแผนลงทุนเมียนมา เหตุการณ์ไม่สงบฉุดเศรษฐกิจ

นายกริช กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบภายในทำให้การค้าในประเทศเมียนมา ยังคงมีปัญหากระแสเงินสด อีกทั้งการขาดแคลนเงินดอลลาร์ยังไม่ดีขึ้น แต่การค้าระหว่างไทย-เมียนมา โชคดีกว่าประเทศอื่นเพราะใช้เงินบาท-จ๊าดได้ แม้แก้ไขไม่ได้ทั้งหมด

สำหรับปัญหาใหญ่ของการค้าเป็นปัญหาการจำกัดจำนวนเงินในการขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกไปเมียนมา ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้แต่ละบริษัทขออนุญาตนำเข้าได้จำกัด เพื่อปกป้องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ ดังนั้นอุปสรรคดังกล่าวทูตพานิชย์รับทราบและกำลังหาช่องทางเจรจากับทางรัฐบาลเมียนมาอยู่ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานคงจะทราบผล

“เอฟดีไอ”เมียนมาชะลอยาว

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ใหม่ได้ลดลงตามความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในประเทศ จึงไม่ค่อยเกิดการลงทุนใหม่ อย่างไรก็ตามทางการเมียนมาได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนออกมาต่อเนื่องเช่นกัน

สำหรับผลกระทบทางตรงต่อธุรกิจไทยในเมียนมายังเป็นผลกระทบทางอ้อมเพราะทำให้บรรยากาศของการค้า-การลงทุน ที่ซบเซาแล้วได้รับผลกระทบมากขึ้น การลงทุนในเมียนมา ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั้งหลังการปกครองพบการลงทุนใหม่หายไปเกือบหมดโดยเหลือเพียงนักลงทุนเก่าที่ตกค้างอยู่ส่วนรายใหม่ต่างกังวลความไม่แน่นอน จนกระทั่งหยุดชะงักหมดสิ้น

ส่วนการค้าแม้จะมีปัญหาแต่ประชาชนยังต้องบริโภคเพียงแต่กระแสเงินสดในท้องตลาดได้หดหายไปบ้าง ตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาถูกแซงชั่นจากรัฐบาลประเทศตะวันตก จึงทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำลงเร็ว

\"ธุรกิจไทย\"พับแผนลงทุนเมียนมา เหตุการณ์ไม่สงบฉุดเศรษฐกิจ

อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่อ่อนค่าลงมาก ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงมาก รัฐบาลเมียนมาพยายามแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการเพื่อยับยั้งการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่เป็นผลเท่าที่ควร อีกการค้าขายในท้องตลาดยังจับจ่ายใช้สอยลดลงมาก ด้วยสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง จึงได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า

หารือทูตไทยเตรียมแผนสำรอง

ด้านสถานการณ์การสู้รบทางภาคเหนือ ยังห่างไกลกับหัวเมืองหลักอย่างกรุงย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์อยู่มาก จะมีเพียงการกระทบทางอ้อมต่อภาคเศรษฐกิจประเทศแต่ถ้าเวลายืดยาวไปกว่านี้จะไม่เกิดผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน สิ่งที่จะต้องจับตามองน่าจะเป็นการสู้รบทางฝั่งรัฐกระเหรี่ยงมากกว่า

ทั้งนี้ สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้รับการประสานงานจากนายเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ทูตพาณิชย์ไทยประจำกรุงย่างกุ้ง เพื่อหาช่องเตรียมแผนสำรองในกรณีเกิดเหตุการณ์บานปลายออกไป 

รวมทั้งกำลังศึกษาช่องทางชายแดนอื่น ซึ่งอาจเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่จะทำให้สินค้าไทยไม่หายไปจากตลาด อีกทั้งนายเอกวัฒน์ ได้นำเรื่องดังกล่าวหารือกับนายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชฑูตไทยในเมียนมา เพื่อหาช่องทางช่วยผู้ประกอบการไทยในเมียนมา

ปตท.ชะลอลงทุนใหม่ในเมียนมา

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมา 2 ด้านหลัก คือ 

1.ธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ของ บริษัท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งยังคงจัดส่งก๊าซได้ตามปกติเพื่อความมั่นคงของประเทศ

2.ธุรกิจน้ำมันของ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งปัจจุบันเปิดสาขาร้านกาแฟอเมซอนและสร้างคลังน้ำมันและคลังก๊าซ LPG แต่ต้องชะลอการลงทุน โดยไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม แต่ยังไม่ถึงกับถอนการลงทุน

ทั้งนี้ ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาตั้งแต่ปี 2541 ในปัจจุบันนำเข้า 965 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยรับจากแหล่งยาดานา 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 10% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในไทย ซึ่งนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ใช้ในอุตสาหกรรมและภาคขนส่งในรูปของ NGV เช่นเดียวกับก๊าซจากอ่าวไทย และ LNG

“โออาร์”ไม่ใส่เงินลงทุนเพิ่ม

นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  สถานการณ์ในเมียนมาทำให้สหรัฐและประเทศพันธมิตรยังคงมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  โดย OR ไม่เพิ่มเงินลงทุนในโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วในเมียนมา 2 โครงการ ได้แก่

1.โครงการร่วมทุนบริษัท Brighter Energy (BE) ตั้งแต่ปี 2562 โดยถือหุ้นสัดส่วน 35% เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นคลังน้ำมันใหญ่สุดของเมียนมา ความจุ 1 ล้านบาร์เรล และมีความจุ LPG 4,500 เมตริกตัน 

2.โครงการร่วมทุนบริษัท Brighter Energy Retail โดยนำแบรนด์ของ OR มาทำตลาด ได้แก่ สถานีบริการน้ำมันและก๊าซแอลพีจี , ร้านคาเฟ่ อเมซอน

“OR ไม่มีการชำระทุนเพิ่มเติมในโครงการ BE โดยยังคงสนับสนุนพันธมิตรในด้านการให้ความรู้ การฝึกบุคคลากรและให้ผู้ถือหุ้นดำเนินการต่อเอง ขณะที่การเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอนในเมียนมา ยังเปิดที่สำนักงาน ปตท.สผ.ซึ่งย้ายมาจากโลเคชั่นเดิมที่เกิดเหตุปะทะขึ้น  ทั้งนี้เพื่อเป็นการคงความรับรู้ถึงแบรนด์”

รวมทั้งระหว่างนี้เป็นช่วงที่ OR นิ่งและรอ (wait and see) เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยยังไม่มีแผนถอนการลงทุน แต่จะรอจนกว่าจะปลดแซงชั่น

“หากไม่มีการรัฐประหารและสงครามภายในเมียนมาถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการลงทุน เพราะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่บริโภคน้ำมันสูง อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เมียนมายังมีความเสี่ยงสูงสำหรับนักลงทุน”

แบงก์กรุงเทพระวังปล่อยสินเชื่อ

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า การให้บริการของธนาคารกรุงเทพ สาขาย่างกุ้ง ยังเปิดบริการตามปกติทั้งให้บริการผ่านธุรกรรมปกติ ฝาก-ถอน และให้บริการสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจรายใหญ่

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในเมียนมาทำให้ธนาคารกรุงเทพให้บริการระมัดระวังขึ้น โดยแทบไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่สำหรับการลงทุนใหม่เลยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนรายใหม่ไม่ต้องการลงทุนจนกว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะดีขึ้น ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อเน้นประคอง และให้บริการสำหรับลูกค้าเก่าเป็นหลัก ทั้งลูกค้าคนไทยที่ไปลงทุนธุรกิจในเมียนมาและลูกค้าเมียนมาที่เป็นลูกค้าธนาคารกรุงเทพ

อย่างไรก็ตามลูกค้าของธนาคารกรุงเทพทั้งลูกค้าไทยและลูกค้าในเมียนมาบางส่วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่แน่นอนในเมียนมาทำให้บางส่วนชะลอลงทุน แต่โดยรวมลูกค้าเดิมยังมีผลประกอบการดีและชำระหนี้ได้ตามปกติ

“ปัจจุบันธนาคารระมัดระวังให้บริการ และยังไม่ปิดสาขา ยังให้บริการปกติ แต่หลักๆ ในมุมสินเชื่อเป็นการให้สินเชื่อลูกค้าเก่าที่ยังประคอง แต่ลูกค้าใหม่แทบไม่มีเพราะที่ผ่านมาไม่มีดีมานด์การลงทุนใหม่ในเมียนมา ดังนั้นกลยุทธ์ธนาคารยังไม่เร่งปล่อยสินเชื่อ แต่เน้นดูแลความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งยอมรับว่าลูกค้าเราได้รับผลกระทบบ้าง เพราะทำธุรกิจยากขึ้น แต่โชคดีทีธุรกิจยังมีผลประกอบการดี”

อย่างไรก็ตาม ก่อนมีเหตุการณ์การปฏิวัติ ธนาคารกรุงเทพเป็นแบงก์เดียวที่ได้รับอนุมัติยกระดับธนาคารต่างประเทศเป็นธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา โดยเมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชะลอ แต่อนาคตหลังสถานการณ์ดีขึ้น ธนาคารมีแผนขอยกระดับธนาคารเป็นธนาคารท้องถิ่นอีกครั้ง เพราะเมียนมาเป็นตลาดมีศักยภาพเติบโตสูง

“กสิกร-ไทยพาณิชย์”รอสถานการณ์

ทั้งนี้ที่ผ่านมาไม่เฉพาะธนาคารกรุงเทพที่ลงทุนในเมียนมา แต่มีแบงก์ใหญ่เข้าไปลงทุน เช่น ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทยประกาศชะลอลงทุนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

จากก่อนหน้าธนาคารกสิกรไทยขยายธุรกิจเพื่อเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 ด้วยกลยุทธ์ Asset Light and Digital Expansion โดยรุกตลาดเมียนมาผ่านการร่วมลงทุนสัดส่วน 35% ในธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ (เอแบงก์)

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ต้องการปักหมุดเมียนมา โดยได้รับอนุมัติตั้งธนาคารลูก (Subsidiary Bank) ในเมียนมา และมีแผนบริการการเงินลูกค้ารายใหญ่กลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยครบวงจร ซึ่งพร้อมเป็นสะพานเชื่อมการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เมียนมา และต่อยอดสู่เครือข่าย CLMV+2 คาดว่าตั้งธุรกิจแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้

รวมทั้งตั้งเป้า 5 ปีแรกอัดฉีดสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 และมองว่าเมียนมาเป็นประเทศมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจอันดับต้นของภูมิภาคที่นักลงทุนจากทั่วโลกสนใจ

โดยการได้รับการอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมาให้ตั้งธุรกิจแบบจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายเมียนมา (Subsidiary Bank) ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา โดยภายใต้ Subsidiary License ทำให้เปิดสาขาในแหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ 10 สาขา

แม้ในมุมของการ “ขยายสาขา” หรือการเข้าไปถือหุ้นในแบงก์เมียนมาจะถูกพับแผนหรือชะลอไม่มีกำหนด แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินไทยยังสนใจเมียนมา โดยเฉพาะผ่านการให้บริการในด้านการโอนเงินระหว่างประเทศที่จับมือพันธมิตรเข้าไปให้บริการ