16 บทความเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองควรอ่าน | บัณฑิต นิจถาวร 

16 บทความเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองควรอ่าน | บัณฑิต นิจถาวร 

อาทิตย์ที่แล้ว สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความ "16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย: สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด"

โดยรวบรวมทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัย 23 คน จากสํานักวิจัยเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เกี่ยวกับ 16 มิติของปัญหาเศรษฐกิจที่สังคมไทยมีขณะนี้

(16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย: สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด) 
 

รวมทั้งนําเสนอแนวทางแก้ไข เป็นบทความที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมีเป็นอย่างดี ที่ผู้ทำนโยบายโดยเฉพาะพรรคการเมืองควรอ่านเพื่อการสร้างสรรค์นโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้อง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ประเทศเรามีปัญหามากเรื่องเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเราตํ่าต่อเนื่อง ความยากจนกลับมาเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่ดีขึ้น เทียบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี

เป็นความอ่อนแอที่ไม่ควรเกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ ต้องการเพียงแต่ความจริงใจที่จะแก้ปัญหา และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาที่ประเทศมี

บทความพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจแบ่งเป็นสี่กลุ่ม ความสามารถในการผลิตของประเทศ คุณภาพชีวิต การเปลี่ยนแปลงภายนอก และสมรรถนะภาครัฐในแก้ปัญหา

แม้หลายปัญหาเป็นเรื่องที่เราทราบดี แต่ที่ผมชอบและมองว่าเป็นจุดเด่นคือ บทความสะท้อนความเข้าใจของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ (อายุเฉลี่ยไม่ถึง 45 ปี) เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมีและแนวคิดในการแก้ปัญหา ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและข้อมูลล่าสุด นําเสนออย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเมือง

 

เริ่มจาก "สิ่งที่เป็น" คือข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ที่บทความชี้ว่า

หนึ่ง เศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีความสามารถในการผลิตต่ำ คือมีปัญหาผลิตภาพ ทําให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง เมื่อแข่งขันไม่ได้ ประเทศก็มีข้อจำกัดในการสร้างรายได้ กระทบความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

สอง ภายใต้รายได้ที่เติบโตต่ำ การกระจายรายได้ภายใต้โครงสร้างปัจจุบันทําให้ความเหลื่อมลํ้าในประเทศมีมากขึ้น คนรวยยิ่งรวยคนจนยิ่งจนและมีจำนวนมากขึ้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ขาดโอกาสที่จะก้าวหน้า ที่จะไต่เต้าและเติบโตทางเศรษฐกิจ

สาม เศรษฐกิจที่โตตํ่าและเหลื่อมล้ำมากทําให้ประเทศมีข้อจำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากภายนอก ทั้งระยะสั้น เช่น โรคระบาด มลพิษ ภูมิศาสตร์การเมือง และระยะยาว เช่น สังคมสูงวัย ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมและภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืน

สี่ ความอ่อนแอที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เป็นผลจากความบกพร่องของกลไกตลาดและการแข่งขัน นําไปสู่การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพ

เช่น เเรงงานส่วนใหญ่มีทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ สะท้อนให้เห็นทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีปัญหาและการขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

ห้า นอกจากไม่แก้ปัญหา นโยบายและมาตรการของภาครัฐมีส่วนทำให้เศรษฐกิจยิ่งบิดเบือนผ่านการแทรกแซง เพื่อหวังผลระยะสั้นด้วยนโยบายที่ผิดพลาด ขาดประสิทธิผล ทําลายกลไกตลาดและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างเงื่อนไขและโอกาสให้การทุจริตคอร์รัปชันเติบโต

นี่คือความเป็นจริงของเศรษฐกิจเราขณะนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

หลายท่านคงมีคําถามอยู่ในใจว่าแล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมเองก็สนใจว่านักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่จะเสนอทางออกให้ประเทศอย่างไร จึงได้อ่านทั้ง16 บทความช่วงวันหยุดสงกรานต์เพื่อเจาะลึกปัญหาเศรษฐกิจและแนวทางแก้ไข ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง

จึงอยากแนะนำให้ผู้ที่สนใจอ่านทั้ง 16 บทความโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจของพรรคการเมือง เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมีและการแก้ปัญหาว่ามีทางเลือกอะไรบ้างที่ควรพิจารณา

สําหรับผม ประเด็นสำคัญที่ทั้ง16 บทความชี้ให้เห็นคือ สังคมไทยเรามีความรู้ที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมี ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่เราขาดแคลน

แต่ที่การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ประเทศมีได้ เพราะการแก้ไขปัญหาติดกับดักสามเรื่องที่ทําให้การแก้ปัญหาไม่เกิดขึ้น

กับดักแรกคือความเข้าใจปัญหา ที่ผู้ทํานโยบายไม่เข้าใจปัญหาที่ประเทศมีและต้องแก้อย่างถ่องแท้ ทําให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ประเทศจึงไม่เปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างคือภาคเกษตร ซึ่งเป็นฐานรายได้หลักของคนเกือบหนึ่งในสามของประเทศ มีปัญหาผลิตภาพการผลิตตํ่าต่อเนื่องเพราะภาครัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบประชานิยมแบบราชการ ไม่ลงทุน ไม่มีการพัฒนา ไม่แก้เรื่องผลิตภาพ ภาคเกษตรจึงไม่เปลี่ยน เกษตรกรร้อยละ 40 ไม่มีที่ดิน ร้อยละ 60 เข้าไม่ถึงระบบชลประทาน ชี้ให้เห็นว่าการเข้าใจปัญหาสำคัญมาก

กับดักที่สองคือรู้แต่ไม่กล้า คือผู้ทํานโยบายรู้ปัญหาแต่ไม่แก้ เพราะไม่กล้าแตะปัญหา

ตัวอย่างคือ ปัญหาผลิตภาพต่ำในภาคธุรกิจ ที่ทําให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ภาคธุรกิจขยายตัวช้า ไม่ลงทุนเพราะผลิตภาพต่ำ กระทบศักยภาพของประเทศที่จะเติบโต

แต่รัฐไม่แก้ผลิตภาพ ไม่ปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีแต่ก็ให้แรงจูงใจผิดทําให้เอสเอ็มอีไม่โต ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่โตต่อเนื่องเพราะมีอํานาจตลาดมากและได้เปรียบเรื่องการแข่งขันและสินเชื่อ

ธุรกิจเราจึงถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่ที่มุ่งขยายบทบาทในประเทศมากกว่าเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ทำให้รายได้กระจุกอยู่กับบริษัทใหญ่และถูกแบ่งเป็นกําไรมากกว่าค่าจ้างแรงงาน ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ

กับดักที่สาม คือ รู้แต่ขาดความพร้อมที่จะแก้ปัญหาคือ ผู้ทํานโยบายรู้ปัญหาแต่ไม่พร้อมแก้ปัญหา เพราะขาดข้อมูลที่จะช่วยในการตัดสินใจ หรือไม่พร้อมที่จะคิดต่างหรือทําต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่

ตัวอย่างคือการศึกษา ที่การยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องที่ยอมรับกัน แต่ผู้ทํานโยบายไม่มีความพร้อมที่จะแก้ปัญหา เพราะขาดข้อมูลจากการวิจัยที่จะช่วยออกแบบนโยบาย หรือสิ่งที่ต้องทํา

รวมถึงไม่มีการประเมินนโยบายหรือมาตรการที่ทําไปแล้วอย่างเป็นระบบว่าควรทำต่อหรือไม่ ผลคือการแก้ปัญหาล่าช้าและไม่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ทางเลือกในการแก้ปัญหาบางเรื่อง เช่น ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างสถานศึกษาและกระจายอํานาจการตัดสินใจให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม เช่น ผู้ปกครอง ก็เป็นเรื่องที่ผู้ทํานโยบายไม่คุ้นเคย ไม่พร้อมสนับสนุน

อีกตัวอย่างคือปัญหาสวัสดิการรัฐที่ปัจจุบันทำได้ไม่ทั่วถึง มีหลายระบบ ควรมีระบบเดียวที่ทั่วถึงและง่าย แต่ไม่เกิดขึ้นเพราะหลักคิดเกี่ยวกับระบบสวัสดิการรัฐที่ประเทศควรมียังไม่ตกผลึก

เหล่านี้เป็นข้อสังเกตุจากบทความเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ เพราะช่วยให้เราตระหนักถึงอุปสรรคและข้อจำกัดที่มีในการผลักดันการแก้ปัญหา ซึ่งสำคัญเช่นกัน

16 บทความเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองควรอ่าน | บัณฑิต นิจถาวร 

ทัศนะ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]