‘Starbucks’ ขึ้นราคา ไม่สะเทือนยอดขาย เตรียมเปิดอีก 40 แห่งภายในสิ้นปีนี้

‘Starbucks’ ขึ้นราคา ไม่สะเทือนยอดขาย เตรียมเปิดอีก 40 แห่งภายในสิ้นปีนี้

“สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” มองตลาดกาแฟยังโตได้อีก แม้ขึ้นราคาก็ไม่กระทบยอดขาย ลุยผุดสาขาใหม่อีก 40 แห่งภายในสิ้นปี จากนี้มุ่งหน้าสู่ “Greener Store” หนุนลูกค้านำแก้วส่วนตัวมาใช้เอง-แจก “กากกาแฟ” กลับบ้านฟรีๆ วางเป้าอนาคตต้องเป็นร้านกาแฟสีเขียว 100%

ปัจจุบัน “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” มีจำนวนสาขาทั่วประเทศไทยทั้งสิ้น 490 แห่ง (ตัวเลข ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567) กาแฟเงือกเขียวแห่งนี้ยังคงเป็นร้านกาแฟ “Top of mind” ของใครหลายคน เพราะนอกจากความอร่อยแล้ว “สตาร์บัคส์” ยังโดดเด่นในฐานะ “Third place” และการวางจุดยืนบนความพรีเมียม ที่ทำให้ลูกค้ายอมจ่ายเพื่อซื้อคุณค่าที่แบรนด์ส่งมอบให้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “กาแฟ” จะได้ชื่อว่า เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวราคาเมล็ดกาแฟพุ่งสูงขึ้น จนทำให้ร้านค้าหลายแห่งตัดสินใจประกาศขึ้นราคา รวมทั้ง “สตาร์บัคส์” ที่มีการปรับราคาในหมวดเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอีก 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2567

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สอบถามถึงกระแสตอบรับภายหลังการปรับเพิ่มราคามาแล้วร่วมสองเดือนเศษๆ “เนตรนภา ศรีสมัย” กรรมการผู้จัดการสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา ทั้งนี้ “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” ยังมีแผนขยายสาขาออกไปเพิ่มเติมอีก 30 ถึง 40 แห่งภายในปี 2567 ด้วย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการเตรียมแผนงานแล้ว 

‘Starbucks’ ขึ้นราคา ไม่สะเทือนยอดขาย เตรียมเปิดอีก 40 แห่งภายในสิ้นปีนี้

“เนตรนภา” ระบุว่า ปีนี้สิ่งที่แบรนด์ให้ความสำคัญที่สุด คือมุ่งหน้าสู่การเป็น “Greener Store” หรือร้านกาแฟสีเขียว โดยที่ผ่านมา “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” ริเริ่มนโยบายสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วส่วนตัวมาใช้ที่ร้านเพื่อเป็นการลดขยะตั้งแต่ปี 2541 พบว่า ช่วยลดขยะแก้วใช้แล้วทิ้งไปได้มากถึง “29 ล้านใบ” ทั้งยังมีโปรแกรม “Grounds for your Garden” ให้ลูกค้านำ “กากกาแฟ” ที่ร้านกลับไปผสมดินปลูกต้นไม้ได้ฟรีๆ โดยในปี 2566 ร้านแจกกากกาแฟไปแล้ว 4,000 กิโลกรัม 

สำหรับโมเดล “Greener Store” สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ตั้งเป้า 20 สาขาภายในสิ้นปี 2567 และในอนาคตตั้งใจให้ทุกแห่งเป็นร้านกาแฟสีเขียวให้ได้ 100% ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผน เรียนรู้ ปรับตัวกันต่อไป โดยร้าน “Greener Store” เหล่านี้ จะใช้พลังงานไฟฟ้า ควบคุมการบริหารจัดการพลังงานที่จัดเก็บแบบเรียลไทม์ เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป