'ดอกเบี้ย-ต้นทุน-หนี้ครัวเรือน' ปัจจัยเสี่ยงกดกำลังซื้อ '3สูง' ฉุดค้าปลีก

'ดอกเบี้ย-ต้นทุน-หนี้ครัวเรือน' ปัจจัยเสี่ยงกดกำลังซื้อ '3สูง' ฉุดค้าปลีก

'ค้าปลีก' ชี้กำลังซื้อ-เศรษฐกิจปี 67 ยังติดหล่ม '3 สูง' ดอกเบี้ย-ต้นทุน-หนี้ครัวเรือน ตลาดภูธรทรุดยาว จี้รัฐเร่งเครื่องท่องเที่ยว ปฏิรูปมาตรการป้องสินค้าข้ามแดน หนุนสินเชื่อเอสเอ็มอี ลุ้นใช้ “ดิจิทัล วอลเล็ต” สร้างแรงกระเพื่อมปลุกเม็ดเงินเข้าระบบ

แรงหนุนสัญญาณบวกครึ่งปีหลัง “นักวิชาการ” ชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคครึ่งปีแรกไม่โดดเด่น ประชาชนกังวลค่าครองชีพ ไร้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ตลาดต่างจังหวัดทรุดยาว เร่งรัฐอัดยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมค้าปลีก มูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท เผชิญสถานการณ์ “กำลังซื้อ” และเศรษฐกิจไทยยังคงติดหล่ม “หนี้ครัวเรือน” และปัจจัยฉุดรั้งรอบด้านไม่ว่าจะราคาพลังงานและสาธารณูปโภคที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลเกี่ยวเนื่องทั้งต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพพุ่งสูง ทั้งต้องเฝ้าระวังปัจจัยภายนอกประเทศจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในหลายพื้นที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย เพื่อรับมือความไม่แน่นอนในอนาคต 

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกสถานการณ์ยังนิ่งและเผชิญความท้าทาย “3 สูง” ที่ต่อเนื่องมาหลายปี กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยสูง ต้นทุนเชื้อเพลิงสูง และหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกที่ยังเติบโตได้ไม่มากนัก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกยิ่งชะลอตัว ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ขยายวงกว้าง ไม่เห็นจุดจบสร้างผลกระทบต่อเนื่องอีกมาก รวมถึงสถานการณ์การเลือกตั้งหลายประเทศที่อาจสร้างความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาดูใกล้ชิด

\'ดอกเบี้ย-ต้นทุน-หนี้ครัวเรือน\' ปัจจัยเสี่ยงกดกำลังซื้อ \'3สูง\' ฉุดค้าปลีก

อย่างไรก็ตามมี “ปัจจัยบวก” จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้วยนโยบายลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt ถือเป็นยาแรงช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยเฉพาะภาคค้าปลีกและบริการที่ได้รับอานิสงส์โดยตรง ผนวกกับครึ่งปีหลังการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติชัดเจนยิ่งขึ้น จากมาตรการฟรีวีซ่าและยกเลิกวีซ่า รวมถึงมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต หากเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายจะกระจายรายได้เข้าถึงทุกพื้นที่ เพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคและส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการทุกระดับ

\'ดอกเบี้ย-ต้นทุน-หนี้ครัวเรือน\' ปัจจัยเสี่ยงกดกำลังซื้อ \'3สูง\' ฉุดค้าปลีก

รวมถึงการอนุมัติงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้ามาจากปีก่อน การลงทุนเพิ่มของภาคเอกชน การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนไทยเพิ่มขึ้น เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรง มีส่วนช่วยเพิ่มการจ้างงาน

“อยากให้ภาครัฐโฟกัสการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวและทำให้เกิดขึ้นได้จริงไม่ว่าจะการเร่งเครื่องภาคการท่องเที่ยว เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทำให้อยู่ยาวขึ้น กระตุ้นยอดใช้จ่าย การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ การสร้างเมืองรอง ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเอสเอ็มอี กระตุ้น FDI และ Ease of Doing Business ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ไทยเป็นฮับการผลิตจะเกิดการจ้างงานมากขึ้น”

หวังสัญญาณบวกปลุกครึ่งปีหลัง

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า หากพิจารณาภาพรวมค้าปลีกปี 2566 ยังฟื้นตัวแบบไม่สมดุลลักษณะ K-Shaped โดยกลุ่มที่ฟื้นตัว ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า แฟชั่นความงาม ไลฟ์สไตล์ ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว คือ ค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต และกลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีกภูธร (Local Modern Store) 

ด้านกลุ่มที่ทรงตัวเป็นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง-ตกแต่งและซ่อมบำรุง สมาร์ตโฟนและไอที ซึ่งเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี ภูมิภาคอื่นยังชะลอตัว ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ซึมยาวสะท้อนถึงกำลังซื้อยังอ่อนแอ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกระยะ 3 เดือนจากนี้ (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.3 จุด เป็นผลจากมาตรการ Easy E-Receipt และเทศกาลตรุษจีน แต่ภาพรวมยังเติบโตน้อย ไม่ก้าวกระโดดเพราะความไม่ชัดเจนในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ โดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต การอนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 ที่ล่าช้า ส่งผลให้หลายโครงการของภาครัฐชะลอ เช่น ภาคท่องเที่ยว

“แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังภาพรวมค้าปลีกจะเริ่มส่งสัญญาณบวก ภายใต้แรงหนุนจากภาครัฐผลักดันมาตรการกระตุ้นทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน มุ่งเป้าตรงจุด ผลักดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในระยะยาวอย่างมีศักยภาพ”

ทั้งนี้ ประเมินภาพรวมธุรกิจค้าปลีกและบริการมูลค่า 4.4 ล้านบาท ในปี 2567 คาดเติบโต 3-5% เทียบกับจีดีพีที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4.4% โดยกลุ่มธุรกิจแบบมีหน้าร้าน (Store-based retailing) จะกลับมามีมูลค่าเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนแบบไม่มีหน้าร้าน (Non-store retailing) เช่น การขายผ่านออนไลน์ (E-commerce) การขายผ่านตู้อัตโนมัติ (Vending Machine) ยังเติบโตต่อเนื่อง

ลุ้นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

นายอัศวิน เตชะเจริญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยกระทบจากหนี้ครัวเรือนสูง 90% ของจีดีพี รวมทั้งต้องติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงเมกะโปรเจกต์ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นค้าปลีกและกำลังซื้อในประเทศ

“มีหลายปัจจัยต้องติดตามทั้งในประเทศและความขัดแย้งในโลก แต่ผู้ประกอบการไทยเชื่อมั่นกับตลาดในประเทศจะกลับมาคึกคักได้ จากแรงหนุนของนักท่องเที่ยว เห็นได้จากบิ๊กซีในสาขาเมืองท่องเที่ยวกลับมาเติบโตได้ดี บางสาขาสูงกว่าช่วงโควิดแล้ว และเชื่อว่าตรุษจีนปีนี้จะดีกว่าปีก่อน"

แรงกระตุ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง และกลยุทธ์เชิงรุกของผู้ประกอบการ มาตรการอัดฉีดจากภาครัฐ โครงการ Easy E -Receipt จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ตลาดค้าปลีกขยายตัว

ค้าปลีกโลคอลกำลังซื้อซบเซาหนัก

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหาร ตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ภาพรวมกำลังซื้อในตลาดค้าปลีก-ค้าส่งต่างจังหวัดหลายแห่งยังไม่กลับมาคึกคัก 

“กำลังซื้อต่างจังหวัดกลับมาดีขึ้นหลังช่วงเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ จากนั้นทรงตัวจนถึงเทศกาลปีใหม่กลับมาขยายตัวอีกครั้งแต่ไม่สูงมากเมื่อเทียบปีก่อนหน้านี้ จนถึงปัจจุบันยังซึมยาวต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากกลุ่มลูกค้าฐานรากที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของประเทศมีภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูงถึง 90% ของจีดีพี ลูกค้าระวังการใช้จ่ายเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ"

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกภูธรอยากให้ภาครัฐเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ทั้งเงินดิจิทัล การกระตุ้นการท่องเที่ยวให้โตต่อเนื่อ จะช่วยการเติบโตของค้าปลีกต่างจังหวัด

ผู้บริโภคไม่มั่นใจอนาคตเศรษฐกิจ

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงครึ่งปีแรก 2567 ทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นต่อเนื่องแม้บางเดือนอาจสะดุดบ้างแต่ไม่มากมาตั้งแต่ ม.ค.2566 และได้ปรับตัวขึ้นมา

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นปัจจุบันดีขึ้นมากแบบไม่โดดเด่น โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเพิ่มขึ้นอัตราน้อย เพราะผู้บริโภคไม่มั่นใจอนาคตและไม่ตัวชี้ว่าอนาคตจะดีอย่างไร จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐที่ไม่ชัดเจน เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะได้หรือไม่ รวมถึงเม็ดเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้า แม้รัฐบาลจะเร่งให้เสร็จแต่ไตรมาส 1 ไม่มีเงินลงไป

ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจึงไม่ชัดเจนแม้จะมีมาตรการ Easy E-Receipt ที่กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศแต่ก็แผ่วไม่ได้กระตุกการบริโภคเท่าไรนัก

นอกจากนี้ความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกยังมี โดยเฉพาะวิกฤตทะเลแดงแม้ว่าจะไม่กระทบรุนแรง แต่คนกังวลราคาน้ำมันที่แพงโดยเฉพาะน้ำมันเบนซินที่จะปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่จะปรับสูงขึ้นอีก 4.20 บาท ดังนั้นเป็นตัวบ่งบอกสัญญาณค่าครองชีพของประชาชนอยู่ในระดับสูง แม้อัตราเงินเฟ้อติดลบ คนก็ยังรู้สึกว่าของแพง รายได้ไม่ฟื้น อนาคตไม่ชัด ความเสี่ยงของโลกยังมี

ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาพที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฟื้นตัวอย่างไม่โดดเด่น แต่ไม่ทรุดเพราะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนจากนโยบายฟรีวีซ่า คาดว่านักท่องเที่ยวในปี2567 จะมีประมาณ 35 ล้านคนสูงขึ้นจากปี2566 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 28 ล้านคน บวกกับตัวเลขการส่งออกคาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้แน่นอน

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นครึ่งปีหลัง

ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ดีขึ้นเกือบทุกตัว ทำให้ตัวพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศไม่ทรุด ไม่ยุบ ไม่ย่อ ลงมีแรงกระตุ้นจากภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวโดยเมื่อถึงเดือน เม.ย.2567รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณปี2567ได้ เศรษฐกิจจะค่อยฟื้นตัวขึ้นและล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ประมาณการเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนและสหรัฐไม่ได้แย่

“เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่แย่ งบประมาณขับเคลื่อนได้ และอัตราดอกเบี้ยลด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเด่นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังแต่ภาพรวมก็ยังไม่อยู่ในแดนปกติ”

ส่วนการกระตุ้นกำลังซื้อนั้นในไตรมาส 1 ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณจึงต้องรอการบังคับใช้งบประมาณปี 2567 ซึ่งยังไม่มีโครงการลงทุนหรือใช้จ่ายใดๆ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใน ส่วนดิจิทัลวอลเล็ตเป็นมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าหากมีการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้จีดีพีจะโตได้ 3.8% ไอเอ็มเอฟ คาดจีดีพีโต 4.4%

ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าจีดีพีจะโต 4.2-4.5 % แต่ถ้าไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต ธปท.คาดจีดีพีจะโต 3.2 % อย่างไรก็ตามการมีดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้และประชาชนหวังให้มีดิจิทัลวอลเล็ต แต่บางกลุ่มก็บอกว่าไม่มีก็ได้เพราะไม่คุ้มค่า หากถามในมุมเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่แต่เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าหรือไม่คำตอบคือไม่ใช่