3 ซีอีโอชี้หนังสือ 'สินค้าจำเป็น' ชี้‘ฮาวทู-ภาษาอังกฤษ-นิยายวาย’มาแรง

3 ซีอีโอชี้หนังสือ 'สินค้าจำเป็น' ชี้‘ฮาวทู-ภาษาอังกฤษ-นิยายวาย’มาแรง

เจาะ 3 ซีโออุตสาหกรรมหนังสือจากไทย-มาเลเซีย ชี้หนังสือ กลายเป็นสินค้าจำเป็น เทรนด์กลุ่มมาแรง ฮาวทู หนังสือภาษาอังกฤษ เด็ก กลุ่มผู้ปกครองยังเป็นตลาดสำคัญ ประเมินอุตสาหกรรมหนังสือมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ขยายตัวมากกว่าจีดีพี

KEY

POINTS

  • เปิดมุมมอง 3 ซีอีโอหนังสือไทย-มาเลเซีย ต่อตลาดรวมในปีนี้
  • ชี้อุตสาหกรรมหนังสือมูลค่ารวม 1.4 หมื่นล้านบาท ขยายตัวมากกว่าจีดีพี
  • สินค้า "หนังสือ" เป็นสินค้าจำเป็น มีความสำคัญต่อกลุ่มผู้ปกครองสูง 
  • กลุ่มหนังสือมาแรง ฮาวทู ภาษาอังกฤษ นิยายวาย
  • รุกจัด "Big Bad Wolf Books” เทศกาลหนังสือภาษาอังกฤษใหญ่สุดในไทย 
  • ชี้การอ่านของคนไทยเกินวันละสองชั่วโมง กระตุ้นคนในประเทศอย่าหยุดอ่านหนังสือ อย่างน้อย 20 นาทีก่อนนอน เพิ่มทักษะ 

“ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวาทกรรมที่บอกว่า คนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัดได้แล้ว เพราะการมาของโลก ดิจิทัล เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมหนังสือครั้งใหญ่ ทำให้คนไทยอ่านหนังสือได้ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ  ผลสำรวจสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยคนไทย อ่านเกินวันละ 2 ชั่วโมงแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องตั้งคำถามคือ คนไทยอ่านหนังสือกลุ่มใดมากที่สุด” 

ริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด  ผู้ผลิตหนังสือเด็กรายใหญ่ของไทย ฉายภาพอุตสาหกรรมหนังสือไทยในปัจจุบันถูกพลิกโฉมจากการเข้ามาของโลกดิจิทัลทำให้คนมีทางเลือกอ่านหนังสือผ่านออนไลน์มากขึ้น แม้การซื้อหนังสือที่ตีพิมพ์แบบกระดาษลดลง แต่ท่ามกลางการชะลอตัวของการตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ที่อาจน้อยลง ซีอีโอบริษัทหนังสือกลับมองเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญในการรุกตลาด!

 

อุตสาหกรรมหนังสือของประเทศไทยปี 2567 มีมูลค่ารวม 1.4 หมื่นล้านบาท คาดขยายตัวมากกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากแรงหนุนของกลุ่มผู้ปกครองที่ยังต้องการเลือกซื้อหนังสือให้แก่ลูก รวมถึงกลุ่มหนังสือประเภทนิยาย และนิยายวายต่างๆ ที่ได้รับความสนใจสูงอย่างต่อเนื่อง

“ในไตรมาสแรกตลาดได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่คึกคักนัก แต่อีกด้านเป็นโอกาสสำคัญทำให้ผู้ผลิตหนังสือหันมาใช้เวลาเลือกตีพิมพ์หนังสือมากขึ้น เน้นหนังสือคุณภาพสูงแทนแตกต่างจากในอดีตที่ผู้ผลิตหนังสืออาจไม่ได้ใช้เวลาพิจารณานานนัก อาจมีหนังสือคุณภาพไม่ดีออกมาสู่กลุ่มนักอ่านได้”

3 ซีอีโอชี้หนังสือ \'สินค้าจำเป็น\' ชี้‘ฮาวทู-ภาษาอังกฤษ-นิยายวาย’มาแรง

ขณะที่จำนวนสำนักพิมพ์ในประเทศมีประมาณ 400 แห่ง แต่ละปีมีทั้งการเปิดตัวของผู้ผลิตใหม่ และการปิดตัวไปเช่นกัน ซึ่งเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจและชื่นชอบในตลาดหนังสือ เข้ามาลงทุนและเปิดสำนักพิมพ์ ทำให้จำนวนสำนักพิมพ์อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน

ส่วนกลุ่มหนังสือหลักมี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มหนังสือนิยาย กลุ่มหนังสือเด็กและเยาวชน และกลุ่มฮาวทู ในการพัฒนาตัวเอง จากช่วงที่ผ่านมา หนังสือจะแบ่งหลากหลายประเภทมากกว่านี้ แต่เมื่อโควิดทำให้ตลาดหนังสือจะมีสามกลุ่มนี้เป็นหลัก ตามทิศทางการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับ แปลน ฟอร์ คิดส์ ดำเนินธุรกิจมากว่า 27 ปีแล้ว ปีนี้มีแผนตีพิมพ์หนังสือใหม่ 100 รายการใกล้เคียงกับปีก่อน เน้นหนังสือเด็กตามจุดแข็งและความเชี่ยวชาญในด้านนี้มายาวนาน สอดรับการเทรนด์ตลาดหนังสือเด็กที่กำลังเติบโต

 

3 ซีอีโอชี้หนังสือ \'สินค้าจำเป็น\' ชี้‘ฮาวทู-ภาษาอังกฤษ-นิยายวาย’มาแรง

ชี้เทรนด์หนังสือภาษาอังกฤษมาแรงในอาเซียน

แจ็คเกอลีน อึ๊ง ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Big Bad Wolf Books จากประเทศมาเลเซีย ประเมินทิศทางตลาดหนังสือในภูมิภาคอาเซียนขยายตัวต่อเนื่องทุกปี สะท้อนจากการจัดงาน Big Bad Wolf Books ตลอด 15 ปีในหลายประเทศมีผลตอบรับดีเนื่องจากผู้ปกครองสนใจเลือกซื้อหนังสือให้ลูก เพื่อพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพด้านภาษา มองว่าการใช้จ่ายกับหนังสือเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าสูง

ในปี 2567 จึงเดินหน้าจัดงานต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย กับ “Big Bad Wolf Books” เทศกาลหนังสือภาษาอังกฤษใหญ่สุดในไทย วันที่ 23 พ.ค.- 4 มิ.ย. ที่ เดอะมาร์เก็ต แบงคอก ราชประสงค์ ระดมหนังสือภาษาอังกฤษนำเสนอในงานกว่า 2 ล้านเล่ม

“งานนี้เริ่มต้นจากในประเทศมาเลเซียมาตั้งปี 2552 ท่ามกลางเสียงที่พูดว่าคนมาเลเซียไม่อ่านหนังสือ แต่เมื่อจัดงานกลับได้รับการตอบรับที่ดีมาก ปี 2554 การจัดงานในมาเลเซีย ยอดขายสูงถึง 1.5 ล้านเล่ม เพราะทุกคนมีความเชื่อมั่นว่า การอ่านหนังสือช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตและโลกของคนได้เลย”

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การจัดงานที่ผ่านมา จะเลือกในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เนื่องจากมีความต้องการหนังสือภาษาอังกฤษในระดับสูง พร้อมเข้ามาแก้ปัญหาที่คนคิดว่า หนังสือภาษาอังกฤษมีราคาแพง แต่การจัดงานสามารถดีลหนังสือภาษาอังกฤษเข้ามาจำหน่ายราคาถูกพิเศษและมีหนังสือหลากหลาย เพื่อขยายฐานนักอ่าน ซึ่งมีแผนจัดงานต่อไปในประเทศต่างๆ ของทวีปแอฟริกา

3 ซีอีโอชี้หนังสือ \'สินค้าจำเป็น\' ชี้‘ฮาวทู-ภาษาอังกฤษ-นิยายวาย’มาแรง

ลุยขยายจัดงานต่างจังหวัดเพิ่มฐานนักอ่าน

ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ เลขาธิการสมาคมผู้พิมพ์หนังสือแห่งอาเซียนและผู้อำนวยการ Silkworm Books กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจหนังสือในภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญในการอ่านหนังสือ รวมถึงกลุ่มคนทำงานสนใจรีสกิล-อัพสกิล เพิ่มทักษะด้านต่างๆ

เพื่อขยายตลาดกลุ่มนักอ่านหนังสือในไทย สมาคมฯ ร่วมมือกับผู้ผลิตหนังสือในประเทศไทย จัดโรดโชว์ในต่างจังหวัดมากขึ้น 

“อยากให้การอ่านเป็นเรื่องจำเป็นสำคัญทุกคน มีผลวิจัยออกมาว่า การอ่านจากหนังสือมีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาของสมองและสร้างการจดจำที่ดีมากกว่าการอ่านจากช่องทางออนไลน์ ที่ต้องใช้เวลาในการจดจำสูงกว่า ดังนั้น ไม่อยากให้คนไทยหยุดการอ่าน เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพของสมอง อย่างน้อยวันละ 20 นาทีก่อนนอนจะดีที่สุด”