IRC กำไร 4Q64 ต่ำสุดในรอบปีจากต้นทุนกดดัน พร้อมปรับลดประมาณการปี 65

IRC กำไร 4Q64 ต่ำสุดในรอบปีจากต้นทุนกดดัน พร้อมปรับลดประมาณการปี 65

รายงานกำไร 4Q64 ที่ 29 ลบ. หดตัว 49%QoQ และหดตัว 64%YoY จากต้นทุนที่ปรับตัวขึ้น : รายงานกำไร 4Q64 (ก.ค.-ก.ย. 64) ที่ 29 ลบ. ต่ำกว่าที่เราประมาณการไว้ เนื่องจากรายได้ลดลงสู่ 1.27 พันลบ. หดตัว 3%QoQ แต่เพิ่มขึ้น 13%YoY

เนื่องจากยอดการผลิตรถยนต์ปรับตัวลง 3%QoQ แต่เพิ่มขึ้น 3%YoY สู่ 367,345 คัน ขณะที่ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์หดตัว 44%QoQ และหดตัว 37%YoY สู่ 274,181 คัน เนื่องจากโรงงานโตโยตาและฮอนด้าหยุดการผลิตเป็นเวลา 16 วันและ 3 วันตามลำดับในช่วง ก.ค.-ส.ค.64 ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวลงจาก 11.7% ใน 3Q64 สู่ 8.5% ใน  4Q64 เนื่องจากใช้กำลังการผลิตลดลงและต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ Synthetic Rubber และ Nylon ปรับตัวขึ้น ด้านอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายปรับตัวลง 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าสู่ 6.5% เนื่องจากรายได้ที่ชะลอตัวแต่หากพิจารณาเป็นตัวเงินอ่อนตัวลงจาก 91 ลบ.สู่ 81 ลบ. ทั้งนี้ บริษัทรายงานกำไร 2564 ที่ 340 ลบ. ต่ำกว่าที่เราประมาณการไว้ 8%แต่ยังคงเติบโต 55%YoY 
 

- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มยอดการผลิตรถยนต์จาก 1.57 ล้านคันสู่ 1.65 ล้านคัน : ยอดการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์เดือน ม.ค.-ต.ค. 64 อยู่ที่ 1.37 ล้านคัน และ 1.42 ล้านคันเติบโต 22.9% และ 11.2% ตามลำดับ ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ปรับเพิ่มยอดการผลิตรถยนต์จาก 1.57 ล้านคันสู่ 1.65 ล้านคัน (ณ เดือน พ.ย.) หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย หลังภาครัฐได้ดำเนินการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 57.6% หรือคิดเป็น 40.2 ล้านคนแล้ว อีกทั้งการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมีโอกาสฟื้นตัวตั้งแต่ 4Q64 (ต.ค.-ธ.ค. 64) เป็นปัจจัยหนุนต่ออุปสงค์ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศให้ฟื้นตัว ขณะที่ในปี 65 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท IRC ศูนย์วิจัยกรุงศรี และธนาคารทหารไทยธนชาตคาดว่ายอดการผลิตรถยนต์จะปรับเพิ่มขึ้นราว 1.73-2.0 ล้านคันเติบโตอย่างน้อย 10% จากปี 64
 

-  ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 65 ลง 21% จาก 385 ลบ.สู่ 307 ลบ. จากการปรับลดสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้น : ฝ่ายวิจัยคงคาดการณ์รายได้รวมปี 65 ราว 5.65 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 64 เนื่องจากคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 65 จะปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 10% จากปี 64 อย่างไรก็ตามเราปรับลดอัตรากำไรขั้นต้นลงจาก 14.5% สู่ 13.6% อ่อนตัวลงจากปี 64 เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ค่าขนส่งทางเรือที่ปรับตัวขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้นเป็นปัจจัยกดดันต่อต้นทุนการผลิต เราคาดว่า 1H65 (ต.ค.64-มี.ค.65) อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทยังถูกกดดันจากราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตามเราคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้นใน 2H65 (เม.ย.65-ก.ย.65) หลังสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ทั่วโลกคลี่คลาย ส่งผลให้ปรับลดประมาณกำไรปี 65 ลง 21% จาก 385 ลบ.สู่ 306 ลบ. หดตัว 10%YoY 

- ปรับคำแนะนำลงเหลือ “ถือ” พร้อมปรับลดราคาเหมาะสมเหลือ 18.40 บาทสำหรับปี 65 : เราประเมินมูลค่าด้วยวิธี Price to Earnings Ratio (P/E Ratio) โดยอิงค่าเฉลี่ย P/E Ratio ย้อนหลัง 1 ปีที่ 12.0 เท่า พร้อมปรับใช้ราคาเหมาะสมปี 65 โดยปรับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 65 จาก 1.93 บาทต่อหุ้นเหลือ 1.53 บาทต่อหุ้น ได้ราคาเหมาะสมใหม่ลดลงจาก 23.20 บาทต่อหุ้นเหลือ 18.40 บาทต่อหุ้น โดยคาดหวัง Yield ที่ 5.3% ทั้งนี้ IRC มีจุดเด่นจาก 1) D/E ต่ำเพียง 0.3 เท่า 2) มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ (เงินสดราว 1.7 พันลบ.) และ3) ราคาหุ้นในปัจจุบันซื้อขายที่ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่ด้วยราคาเหมาะสมที่ประเมินได้ใกล้เคียงราคาปิดล่าสุดเราจึงปรับลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เหลือ “ถือ”
 

ปัจจัยเสี่ยง

i)    อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ในปี 2565 
ii)    ราคาน้ำมันดิบและราคายางพาราปรับตัวขึ้น
 

 

 

ตารางแสดงผลประกอบการรายไตรมาส

IRC กำไร 4Q64 ต่ำสุดในรอบปีจากต้นทุนกดดัน พร้อมปรับลดประมาณการปี 65