WHA ปั้นหุ้น WHAUP โกย 'ความมั่งคั่ง' ครั้งใหม่

WHA ปั้นหุ้น WHAUP  โกย 'ความมั่งคั่ง' ครั้งใหม่

ขยายพลังงานและสาธารณูปโภคทั้งในและนอกประเทศ 'จุดขาย' หุ้นไอพีโอน้องใหม่ ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ 'วิเศษ จูงวัฒนา' มือปืนรับจ้างบริหาร ส่งซิก 'เจ้าของตัวจริง' เล็งพัฒนา 'น้ำประปา' เพิ่มยอดเงินในกระเป๋า

ตลอดสองปีที่ผ่านมา บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับทัพองค์กร หลังตั้งบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อ 'ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง' ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เทคโอเวอร์ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน หรือ HEMRAJ จาก 'กลุ่มสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง' ในราคาหุ้นละ 4.50 บาท

ทว่าการเข้าซื้อกิจการในครั้งนั้น อาจสร้างทั้งความถูกใจและไม่สบายใจให้ขาใหญ่บางราย สะท้อนผ่านการถอนหุ้น WHA ของนักลงทุนรายหนึ่งที่ถือหุ้น WHA หลักร้อยกว่าล้านหุ้น แม้จะครองหุ้นไม่ถึงครึ่งของ 'เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' แต่ดูเหมือนสองหุ้นใหญ่จะไม่ค่อยอยากพูดถึงดีลนี้เท่าไหร่นัก

ปัจจุบัน 'เสี่ยปู่' ถือหุ้น WHA จำนวน 184.50 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.29% ขณะเดียวกันยังถือหุ้นในนาม 'สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' โดย บลจ.แอสเซทพลัส จำกัด 145.50 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.02% (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน ณ วันที่ 10 มี.ค.2560)

ล่าสุดสองผู้ก่อตั้ง WHA 'นพ.สมยศ อนันตประยูร' และ 'จรีพร จารุกรสกุล' เดินหน้าสร้างความมั่งคั่งครั้งใหม่ ด้วยการผลักดัน บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ WHAUP ซึ่งบมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน ในฐานะบริษัทในเครือ WHA ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 70% เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) ด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอ ราคาหุ้นละ 26.25 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้กว่า 6,000 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ 1.ธุรกิจสาธารณูปโภค ด้วยการจำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และบริหารจัดการน้ำเสีย ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ 2.ธุรกิจพลังงาน โดยลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 59.43% และ 36.58% ตามลำดับ

ในฝั่งของ ธุรกิจสาธารณูปโภค บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง และเขตประกอบการอุตสาหกรรม 2 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการรวม 24,000 ไร่ และยังได้รับสิทธิในการเข้าลงทุนก่อน (First Right to Invest) ในธุรกิจท่อส่งก๊าซ และธุรกิจกำจัดขยะ ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรมของกลุ่มเหมราชฯ ในกรณีที่กลุ่มเหมราชฯ ไม่ประสงค์ประกอบกิจการดังกล่าว

ส่วน ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัทร่วมลงทุนกับเหล่าพันธมิตร เพื่อก่อสร้างและผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 13 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 1,772.40 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 349.55 เมกะวัตต์

ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าร่วมทุนกับกลุ่มโกลว์ 3 แห่ง โครงการโรงไฟฟ้าร่วมทุนกับกลุ่มกัลฟ์ 5 แห่ง โครงการโรงไฟฟ้าร่วมทุนกับกลุ่มกันกุล 4 แห่ง และโครงการโรงไฟฟ้าร่วมทุนกับกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ 1แห่ง

นอกจากนั้นยังดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าร่วมทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มพี จำกัด 6 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 760 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 190.07 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นพลังความร้อนร่วมโคเจนเนอเรชั่นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

'วิเศษ จูงวัฒนา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ ถือโอกาสแจกแจงแผนธุรกิจทันที หลัง 'จรีพร จารุกรสกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น แนะนำตัวผู้บริหารใหม่ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' รู้จัก

เป้าหมายสำคัญของ ธุรกิจสาธารณูปโภค คงหนีไม่พ้นขยายการลงทุนในสาธารณูปโภค ควบคู่กับขยายขอบข่ายการให้บริการสาธารณูปโภค ด้วยการเพิ่มความหลาก หลายของผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการน้ำเพื่ออุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ หรือขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการขยายการให้บริการในลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรม เช่น การให้บริการน้ำประปาชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในและนอกประเทศ

นอกจากนั้นยังมีแผนลงทุน ธุรกิจท่อส่งก๊าซ และบริหารจัดการขยะ หลังบริษัทได้รับสิทธิในการเข้าลงทุนก่อน (First Right to Invest) ในธุรกิจท่อส่งก๊าซ และธุรกิจกำจัดขยะในบริเวณนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรมของ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน

'ธุรกิจที่ใช้น้ำมากที่สุด คือ ปิโตรเคมี และโรงฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้า SPP 1 แห่ง จะใช้น้ำประมาณ 3,000-4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ปัจจุบันบริษัทขายน้ำดิบอยู่เพียง 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี' 

วิเศษ เล่าต่อว่า การมีเทคโนโลยีผลิตน้ำที่ทันสมัย ทำให้เรามองข้ามไปถึงการผลิต 'น้ำประปา' เนื่องจากน้ำประปายังคงมีความต้องการในหลากหลายพื้นที่ของประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่การออกไปทำธุรกิจบำบัดน้ำเสียนอกนิคมอุตสาหกรรม เขาย้ำ

ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจน้ำ 3 ประเภท คือ 1.การจัดหาและจำหน่ายน้ำดิบ (Raw Water) ลูกค้าหลัก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) เป็นต้น ตอนนี้ไม่มีแผนจะขยายการจำหน่ายน้ำดิบเพิ่มเติม

2.การผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Water) การจำหน่ายน้ำประเภทดังกล่าว ถือว่าสร้างกำไรขั้นต้นได้ค่อนข้างดีมาก ทำให้เล็งจะขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และ 3.การบริหารจัดการน้ำเสีย (Wastewater Treatment) รายได้ส่วนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังฐานลูกค้าขยายตัว จากการเข้ามาเช่าโรงงานมากขึ้น

'ธุรกิจน้ำ ถือเป็นกิจการที่มีความมั่นคงมาก สะท้อนผ่านผลประกอบการที่ขยายตัวทุกปี' 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แจกแจงแผน ธุรกิจไฟฟ้า ต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการผลิตโรงไฟฟ้าประเภท IPP SPP และ VSPP ไปแล้วประมาณ 350 เมกะวัตต์ (ตามสัดส่วนการลงทุน) โดยในปี 2560 จะมีโครงการแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 4 โครงการ คิดเป็น 130 เมกกะวัตต์

ส่วนในปี 2561 จะมีไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มเติม 1 โครงการ ปี 2562 อีก 1 โครงการ รวมเป็น 190 เมกกะวัตต์ เท่ากับว่าสิ้นปี 2562 บริษัทจะมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 540 เมกกะวัตต์ (ตามสัดส่วนการลงทุน)

ปัจจุบันบริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทอื่น เช่น พลังงานลม และพลังงานขยะ เป็นต้น หลังเข้าไปชิมลางลงทุนร่วมกับพันธมิตร เพื่อก่อสร้าง โครงการไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมประเภท VSPP กำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 8.63 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562

โครงการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ดับบลิวเอชเอ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ในฐานะบริษัทย่อย WHAUP และบริษัท โกลว์ และบริษัท สุเอซ ที่ได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท อีสเทิร์นซีบอร์ด คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (สัดส่วนการลงทุน 33.33%) เพื่อลงทุนในบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
หลังได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เมื่อเดือนต.ค.2559 ให้เข้าดำเนินโครงการไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมประเภท VSPP เพื่อขายไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี

นอกจากนั้นที่ผ่านมายังได้จับมือกับ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL เพื่อร่วมกันพัฒนา โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) กำลังการผลิต 3.299 เมกกะวัตต์ จำนวน 4 โครงการ ซึ่งกระแสไฟฟ้าดังกล่าวบริษัทร่วมทุนได้จำหน่ายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียบร้อยแล้ว

'พลังงานโซลาร์รูฟ ยังมีโอกาสสร้างกำไรอีกมาก สะท้อนผ่านจำนวนพื้นที่บนหลังคาโรงงานของเราที่มีมากกว่า 2 ล้านตารางเมตร ที่สำคัญแหล่งผลิตไฟฟ้ายังอยู่ใกล้ความต้องการใช้ด้วย'

เมื่อถามถึงแผนลงทุนในปี 2560 นายใหญ่ ตอบว่า อาจใช้เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP 6 แห่ง โดยโรงไฟฟ้า 4 แห่ง กำลังการผลิต 130 เมกะวัตต์ จะก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งจะทำให้สิ้นปี 2560 บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวม 480 เมกะวัตต์ จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 350 เมกะวัตต์

'ผลประกอบการปี 2560 เติบโตมากกว่าปีก่อนแน่นอน หลังเตรียมรับรู้รายได้จาก 4 โครงการใหม่' 

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' ทิ้งท้ายว่า WHAUP เป็นลูกของ WHA ทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมากในช่วงเดินสายโรดโชว์ ที่สำคัญ WHAUPยังได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และบริหารจัดการน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบอุตสาหกรรมของเหมราชในประเทศไทยเป็นเวลา 50 ปี

สำหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2559) บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1,448 ล้านบาท 1,552 ล้านบาท และ 1,600 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 1,562 ล้านบาท 1,220 ล้านบาท และ 967 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะเดียวกันยังมีอัตรากำไรขั้นต้น 21.88% 24.17% และ 26.62% ตามลำดับ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กำไรสุทธิปี 2559 ปรับตัวลดลงจากปีก่อน เป็นเพราะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ลดลง 14.93% หลังมีการหยุดซ่อมนอกแผน (unplanned outage) เนื่องจากเหตุภัยธรรมชาติและเหตุขัดข้องของอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า
ขณะเดียวกันยังมีส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นแอลแอล จำกัด จำนวน 0.73 ล้านบาท เนื่องจากมีการซ่อมแซมโรงไฟฟ้านอกแผน (unplanned outage) และมีส่วนแบ่งขาดทุนจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ในช่วงก่อสร้างและพัฒนาจำนวน 7 โรง คิดเป็น 62.66 ล้านบาท