เจาะตลาด'ไฮโซขแมร์'โอกาสธุรกิจ'คนรวย'ในกัมพูชา

เจาะตลาด'ไฮโซขแมร์'โอกาสธุรกิจ'คนรวย'ในกัมพูชา

ประเทศเล็กๆขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าไทย30เท่าทว่ากลับมีขุมทรัพย์ใหญ่ซ่อนอยู่จับตาตลาด'ไฮโซขแมร์'ที่กำลังหอมหวานสุดๆ

รถหรูทั้งจากยุโรปและเอเชีย เรียงรายอยู่ในเต็นท์รถ “บ้านๆ” ตลอดเส้นทางชมเมืองพนมเปญ นครหลวงของกัมพูชา

ไม่ต้องแปลกใจถ้าจะเห็นรถหรูอย่าง โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) จอดทิ้ง จอดขว้าง กระทั่งวางขายกันง่ายๆ ที่ริมถนน

สื่อโฆษณาดิจิทัล (Digital Signage) จอใหญ่ยักษ์ เด่นตระหง่านอยู่หน้าอาคาร Canadia Bank กับป้ายโฆษณาสินค้าและบริการแบรนด์ชั้นนำ ที่เรียงรายอยู่รอบเมืองพนมเปญ สลับกับร้านหรู โรงแรมระดับ 5-6 ดาว คอนโดหรู กับช็อป “ลักชัวรี แบรนด์” ที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

ตัวอย่างเบาะๆ ที่บ่งบอกความคึกคักของตลาด “คนมีอันจะกิน" ซึ่งกำลังส่งกลิ่นหอมเย้ายวนนักลงทุนจากทั่วโลก

“มีธุรกิจหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ซึ่งมองไม่ออกเลยว่า กำไรจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น ร้านอาหารที่ใช้เงินลงทุนอย่างน้อย 2 แสนดอลลาร์ กับค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 3 พันดอลลาร์ต่อเดือน ร้านสวยชนิด ‘คาดไม่ถึง’ แต่ขายกันแค่รอบเดียว และมีคนกินอยู่รอบเดียวเช่นกัน"

เพราะกินเสร็จก็ไม่มีคนอื่นมานั่งต่อ

“จีรนันท์ วงษ์มงคล” อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำประเทศกัมพูชา ฉายภาพเหล่าธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับตลาด “คนรวย” ในกัมพูชา

เธอย้ำว่า ไม่ใช่แค่น่าสนใจ..แต่น่าสนใจเอามากๆ

ข้อมูล “รู้ลึก รู้จริง” ของคนที่อยู่ในกัมพูชามานานถึง 18 ปี ถูกนำมาแบ่งปันกับ นักธุรกิจไทยในกลุ่มธุรกิจป้ายและสื่อโฆษณา ที่เข้าร่วมงานเจรจาธุรกิจ Cambodia-Thailand Sign Asia Expo 2014 Business Matching ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ โดยมีหัวหอกอย่าง บริษัทไอบริก จำกัด ผู้จัดงาน SIGN ASIA EXPO 2014 และ LED & DIGITAL SIGN 2014 และ SME BIZ ASIA 2015

ประเทศกัมพูชามีประชากรประมาณ 15 ล้านคน โดยพลเมืองถึง 75% เป็น “คนจน” ขณะที่มี “คนรวย” อยู่ประมาณ 5% ส่วนที่เหลือคือ “คนชั้นกลาง” แต่กำลังซื้อของคนมั่งมีที่นี่ “ไม่ธรรมดา”

ที่สำคัญไม่ได้มีแค่คนกัมพูชาเท่านั้น

โดยกลุ่ม “ไฮโซขแมร์” มีตั้งแต่เศรษฐีเก่า เศรษฐีใหม่ นักการเมือง นักธุรกิจ เจ้าของกาสิโน ลูกหลานคนรวยผู้ไม่เคยผ่านสงครามกลางเมือง ซึ่งวันนี้ขยับมาเป็น “นักธุรกิจรุ่นใหม่” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกัมพูชา กระทั่ง นักท่องเที่ยว นักลงทุนจากต่างชาติ ที่แห่แหนไปทำธุรกิจและใช้ชีวิตในดินแดนแห่งนี้

“คนรวยประเทศนี้มีสัก 5% คือ ประเภทใช้เงินเดือนละหมื่นดอลลาร์ (กว่า 3 แสนบาทต่อเดือน) ขึ้นไปถึงจะพอสำหรับหนึ่งครอบครัว คนที่นี่รวยก็รวยจริง อย่างการสร้างอาคาร ซื้อบ้าน ซื้อรถ ‘เงินสดหมด’ ไม่กู้แบงก์ ซื้อบ้านล้านดอลลาร์ ก็มีเงินสดวางล้านดอลลาร์ และซื้อโดยใช้เงินสกุลดอลลาร์ทั้งหมด”

ระดับเศรษฐีขแมร์วัดความรวยกันที่รถหรูที่ใช้ ซึ่งที่นี่นับเป็นประเทศเดียวที่มี “โรลส์-รอยซ์” ตั้งขาย และขายกันง่ายๆ ไหนจะ พอร์ช (Porsche) ฮัมเมอร์ (HUMMER) สารพัดรถหรู ชนิดที่ลงนิตยสารเมื่อไร ก็จะสั่งเข้ามาครอบครอง โดยกัมพูชามีการจดทะเบียนรถใหม่เดือนละเกือบพันคัน และคนนิยมใช้รถใหม่แทนที่รถเก่า จนมีคำแซวกันเล่นๆ ว่า..

“คนกัมพูชา มีศักยภาพซื้อรถสูงมาก แต่ไม่มีที่วิ่งเพราะ รถติด ถนนแคบ”

ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ถ้าคิดจะจับคนรวยก็ต้องมีห้องวีไอพี ธุรกิจงานแต่งกำลังบูมในประเทศนี้ และบ่าวสาวกระเป๋าหนักก็พร้อมทุ่มไม่อั้นให้กับงานของตัวเอง ในงานสังคม มีแต่คนหอบหิ้วกระเป๋าแบรนด์เนม (ของแท้) การแต่งตัวก็สว่างไสว คนที่นี่ซื้อทองเก็บไว้บ้าน

แต่นิยมใส่ “เพชร” ไว้อวดกันเวลาออกงาน

แม้แต่ผู้ชายก็นิยมใส่แหวนเพชร หัวเข็มขัดยังล้อมเพชร ชนิดที่เธอบอกว่า แม้จะมีตัว H หรือ VL สัญลักษณ์แบรนด์ดังอยู่แล้วบนหัวเข็มขัด แต่ก็ขอฝังเพชรซ้ำเข้าไปอีกหน่อย ประกาศความเป็น “ไฮโซขแมร์” ขนานแท้

“มองว่า ตอนนี้สินค้าและบริการสำหรับสังคม ‘ฟุ้งเฟ้อ’ เหมาะมาก และการสร้างอารมณ์ของคนให้ตื่น ด้วยสื่อโฆษณาต่างๆ ยังเป็นสิ่งจำเป็นและมีอิทธิพลมากกับคนที่นี่” เธอบอก

กำลังซื้อในกัมพูชา ไม่ได้มีจากแค่คนกัมพูชาเท่านั้น ทว่ายังรวมถึง “กำลังซื้อต่างชาติ” “สุรพล มณีพงษ์” อัครราชทูตไทย ประจำประเทศกัมพูชา สะกิดไอเดียให้ฟังว่า “สำคัญมากๆ”

โดยกรุงพนมเปญ มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน มีคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานประมาณ 5 หมื่นคน (5%) ซึ่งนับว่า มีกำลังซื้อสูงมาก เพราะได้เงินเดือนสูงกว่าคนพื้นที่หลายสิบเท่า ขณะที่กัมพูชามีนักท่องเที่ยวประมาณ 4 ล้านคนต่อปี แต่ในจำนวนนี้เข้ามาในพนมเปญถึง 2 ล้านคน

กำลังซื้อของชาวต่างชาติเหล่านี้ มีพลังมหาศาลในการบริโภค

ย้ำซ้ำไปด้วยภาพที่ท่านทูตพาณิชย์ บอกเราว่า กัมพูชาในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะยิ่งตื่นตาตื่นใจไปกว่านี้ เพราะการเกิดขึ้นของชุมชนต่างๆ จากทั่วโลก ที่มา “ลงหลักปักฐาน” โดยเฉพาะชุมชนชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ที่สร้างเมืองรอไว้แล้วที่กรุงพนมเปญ ทั้งประเภทหนีภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ กระทั่งกะมาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่นี่ โดยยกกันมาหลายพันครอบครัว หลายหมื่นชีวิต ซึ่งแต่ละชุมชนใหญ่โตมาก

โดยในกัมพูชา อาคารตั้งแต่ชั้นที่ไม่ติดกับพื้นดินขึ้นไป ต่างชาติสามารถซื้อครอบครอง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้

การมาถึงของชุมชนเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสในการผลิตสินค้าและบริการตอบสนอง เพราะคนที่เข้ามา ก็ล้วน “ต้องกิน ต้องใช้”

“ธุรกิจที่เป็นขาขึ้น คือ อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การก่อสร้างคอนโดมิเนียม สินค้าและบริการที่ใช้กับคอนโด อย่าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล่านี้ เป็นต้น”

อยากเห็นภาพว่า คนรวยต่างชาติที่เข้ามาเป็นแบบไหน จีรนันท์ บอกเราว่า ลองขับรถไปทาง “เกาะเพชร” (Diamond Island) ที่ออกเสียงในภาษากัมพูชาคล้ายๆ ไทยว่า “Koh Pitch” ศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ อารมณ์เดียวกับเมืองทองธานี จะเห็นโครงการคอนโดหรูของคนจีน ชนิดที่ห้องละล้านดอลลาร์ขึ้นไป เป็นคอนโดระดับไฮเอนด์ อยู่ติดริมแม่น้ำ ซึ่งขายดิบขายดี รวมถึงโครงการบ้านหรู รองรับคนมีกำลังซื้อที่เข้ามาใช้ชีวิตในกัมพูชาโดยเฉพาะ

“กระทั่งบ้านเศรษฐีกัมพูชา ที่เขาสร้างมานานแล้ว แต่ไม่เคยตกแต่ง ตอนนี้ก็เริ่มมีความคิดที่จะออกแบบดีไซน์มากขึ้น เริ่มจ้างคนเข้ามาปรับปรุง เพื่อให้เป็นชีวิตที่ทันสมัยขึ้น” เธอสะท้อนโอกาสธุรกิจที่กำลังหวานมากๆ ในกัมพูชา

กับคนไทยยุคแรกๆ ที่เข้ามาทำงานในกัมพูชา โดยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2535 “พิษณุ เนียมจันทร์” กรรมการผู้จัดการ โรงแรมทาวน์วิว กรุงพนมเปญ โรงแรมของนักลงทุนชาวกัมพูชา เขาบอกว่า สายตาของคนภายนอก อาจมองว่ากัมพูชา ว่าเป็น ประเทศ “ยากจน”

แต่เขาย้ำว่า คนที่นี่ “กำลังซื้อสูงมาก”

“ลองสังเกตตามร้านอาหาร สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ คนกัมพูชาจะไปใช้กันเยอะมาก อย่าง กลางคืนร้านอาหารที่นี่เต็มเกือบหมด ผับ บาร์ มีเด็กวัยรุ่นอยู่กันเต็ม รถที่จอดก็รถดีๆ ทั้งนั้น ชนิดที่บ้านเราไม่มี ที่นี่คนจนก็จนมาก แต่คนมี ก็มีสุดๆ เหมือนการทำโรงแรมเขาใช้เงินสดลงทุนเลยนะ ที่น่าสนใจคือ คนชั้นกลางซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งคนระดับกลางและสูง กำลังซื้อเยอะมาก และไม่สนใจราคา ขอแค่ดี เขายินดีจ่าย”

เขายกตัวอย่าง ช็อป adidas , Guy Laroche ที่ขายเสื้อกันตัวละ 50-60 ดอลลาร์ ขายดิบขายดี ขณะที่สินค้าไทย ก็ยังเป็นที่นิยมในกัมพูชา โดยยังมีภาพจำว่า “เป็นของดี มีคุณภาพ” เขายกตัวอย่าง งานแสดงสินค้าไทย ที่ลองมาจัดเมื่อไร ขาช้อปเป็นแน่นเอี้ยดทุกครั้ง

“ตลาดคนรวย” ดูท่าจะยังหอมหวานอยู่มาก และคนกัมพูชาก็ส่งสัญญาณว่า ไม่ได้ดูแคลนสินค้าจากไทย ทูตพาณิชย์บอกเราว่า กัมพูชายังต้องพึ่งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อมาอุปโภคบริโภค เพราะไม่มีโรงงานผลิตของตนเอง มีเพียงการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเป็นหลัก ความได้เปรียบจึงน่าจะเกิดกับประเทศที่พัฒนามากกว่าอย่างไทย และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเราต้องมองใน 2 สถานะ คือ เข้ามาทำตลาด และใช้เป็นฐานผลิตเพื่อส่งออก

ด้านศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา (AEC support business center in Phnom Penh) ให้ข้อมูลว่า โอกาสการลงทุนของไทยในกัมพูชา มีตั้งแต่ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงาน การท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร การผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค บริการด้านการศึกษา การจัดการและการท่องเที่ยว การค้า การผลิตสินค้าเกษตร การแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้กัมพูชายังขาดทักษะเรื่องการแปรรูปอาหารเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อเป็นของฝาก ขณะที่บริการของไทยที่ยังมีโอกาสในกัมพูชา อาทิ เรื่องการจัดการ การให้บริการรักษาพยาบาล ความงาม และสปา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ไทยที่มองเห็นโอกาสในกัมพูชา แต่นักลงทุนจากทั่วโลก ก็กำลังขยับตัวเพื่อแสวงโอกาสในกัมพูชากันทั้งนั้น โดยเฉพาะนักลงทุนจาก จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น และหลายกลุ่มทุนก็มาแบบก้อนใหญ่ ไซส์ยักษ์ ขณะที่ไทยลงทุนในกัมพูชาเป็นลำดับที่ 8

---------------------------------------------------

รบแบบไหน ? มีชัยในกัมพูชา

“สุริยะ เติมเลิศมนัสวงษ์” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ (ธนาคารไทยพาณิชย์) และรองประธานฝ่ายบริหาร สมาคมธุรกิจไทยในกัมพูชา บอกเราว่า ธุรกิจที่จะเข้ามาในกัมพูชา ต้องรู้ “จุดขาย” ของตัวเอง ไม่ใช่เห็นใครทำอะไรก็แห่ทำตามเขา แบบนั้น จะอยู่ได้แค่ “ฉาบฉวย” ขณะที่สินค้าและบริการต้องมี “จุดเด่น” แข่งขันได้ และการเข้ามาลงทุน ต้องมี “ทุน” ที่เหมาะสม มีการตลาดที่ดี รู้และเข้าใจระบบภาษี กฎหมาย บริหารจัดการการเงินและบัญชีได้ดี ที่สำคัญ “คน” ต้องพร้อม

“สุรพล มณีพงษ์” อัครราชทูตไทย ประจำประเทศกัมพูชา บอกว่า การทำธุรกิจในกัมพูชามีรายละเอียดเยอะมาก จึงอยากให้นักธุรกิจเริ่มจากมาพูดคุยกับสถานทูต เพื่อดูว่า นักธุรกิจที่อยู่ที่นี่มานาน เขาทำธุรกิจกันอย่างไร ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่คอยให้การสนับสนุนนักลงทุนอยู่ เช่น ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา (AEC support business center in Phnom Penh) รวมถึงสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา ที่มีประสบการณ์พร้อมแบ่งปันได้ โดยขอให้ใช้เวลาศึกษา อย่าเข้ามาโดยความ “ไม่รู้” ที่สำคัญ ไม่ใช่เข้ามาครั้งเดียวแล้วตัดสินใจเลย แต่ขอให้มาดูลู่ทาง จนแน่ใจ มั่นใจและมีความพร้อม ถึงเริ่มต้นธุรกิจได้

“ถามว่าทางกัมพูชาพร้อมไหม เขาพร้อมมาก และอยากรับนักลงทุนจากต่างประเทศ เขาเปิดที่สุดแล้วในเรื่องการลงทุน และอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุน แต่ใครที่จะเข้ามา ก็อยากให้ศึกษาให้ดีด้วย”

ด้าน “พิษณุ เนียมจันทร์” กรรมการผู้จัดการ โรงแรม ทาวน์วิว พนมเปญ บอกเราว่า การจะทำธุรกิจในกัมพูชาให้สำเร็จ ต้อง “รู้เขา รู้เรา รู้ประเทศ และรู้คน”

โดยให้ยึดความคิดที่ว่า ‘ไม่ใช่มาเพื่อกอบโกยประโยชน์เข้าประเทศ แต่มาเพื่อสอนงานคนกัมพูชา’

“ผมคิดว่า คนที่จะเก่งที่นี่ได้ ต้องไม่ได้มาหาผลประโยชน์อย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้น ความจริงเมืองไทยกับกัมพูชาเข้าออกได้สบาย คนไทยน่าจะเข้ามาเยอะกว่านี้ แต่ทำไมถึงกลับไปเยอะมาก ตั้งแต่ผมมาอยู่ที่นี่ หายไปสัก 70-80% ได้แล้ว”

เขาบอกสถานการณ์ที่วันนี้ก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น จากการเข้ามาของกลุ่มใหม่ และกลุ่มเก่าที่พยายามกลับเข้ามาในกัมพูชาอีกครั้ง

การมาเพื่อ “ให้” ไม่ได้มาเพื่อกอบโกยและฉวยโอกาส สอดคล้องกับ 5 คาถาการค้า จาก AEC support business center ที่บอกไว้ว่า

‘อย่าเชื่อตามบอก อย่าหลอกตนเอง อย่าเกรงคนโต อย่าโม้ร่ำรวย อย่าฉวยโอกาส’

ขณะที่ “จีรนันท์ วงษ์มงคล” อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำประเทศกัมพูชา บอกเราว่า กัมพูชายังมีช่องว่างอยู่เยอะมาก และมีโอกาสมากสำหรับผู้ประกอบการไทย ขอแค่ให้กล้า และให้มา โดยอยากให้มองกัมพูชาว่า

‘นี่คือญาติ ที่ขาดการติดต่อมานาน’

“เขาเป็นเหมือนญาติ เพราะดีเอ็นเอเดียวกัน พันธุกรรมเดียวกัน ภาษาก็คล้ายคลึงกัน คนกัมพูชาเรียก ‘นิสัย’ แต่คนไทยเรียก ‘โฉลก’ มันถูกโฉลกกัน ชะตาต้องกัน ฉะนั้นลองคุยกันไปมา จะเกิดความผูกพันเร็วมาก ซึ่งคนกัมพูชานิยมนับพี่นับน้อง บางทีคุยกับคนไทย กินข้าวด้วยกัน ไม่นานก็นับญาติกันไปแล้ว” เธอบอก

สะท้อนโอกาสของนักลงทุนไทย ที่จะกลับเข้ามาในกัมพูชาอีกครั้ง ด้วยสายตาของญาติ ที่ประสงค์ดีต่อญาติ ไม่ใช่หวังเพียงฉกฉวยประโยชน์แล้วจากกันไปเท่านั้น

เพื่อชัยชนะที่ยั่งยืนในประเทศนี้

-------------------------------------------------------

โอกาสธุรกิจสื่อในกัมพูชา

แม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ ส่งแรงดึงดูดให้นักลงทุนอยากเข้ามาแสวงโอกาสในกัมพูชา ซึ่งการเข้ามาของสินค้าและบริการต่างๆ ต้องการการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็น “ตัวช่วย” นำมาสู่โอกาสของธุรกิจสื่อโฆษณา ที่มีอิทธิพลกับคนกัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นคือเหตุผลที่นักธุรกิจไทยในกลุ่มธุรกิจป้ายและสื่อโฆษณา เลือกกัมพูชาเป็นหนึ่งเป้าหมายในการศึกษาลู่ทางธุรกิจและจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจขึ้น (Cambodia-Thailand Sign Asia Expo 2014 Business Matching)เมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

“จีรนันท์ วงษ์มงคล” อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำประเทศกัมพูชา บอกเราว่า กัมพูชายังเป็นประเทศที่ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยบริษัทรับพิมพ์สื่อโฆษณา ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ยังเป็นรายเล็ก ใช้เครื่องพิมพ์ที่ไม่ได้ทันสมัยมากนัก งานพิมพ์ส่วนใหญ่ยังนิยมไปพิมพ์ที่เวียดนาม ขณะที่สื่อโฆษณา มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะ โทรทัศน์ วิทยุ และนิตยสาร ซึ่งมีอยู่เยอะมาก

กัมพูชา นับเป็นประเทศที่มีการโฆษณาเยอะมาก และสื่อโฆษณา ยังมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อของลูกค้าโดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายห้ามเหมือนเมืองไทย โดยเป้าหมายของการใช้สื่อไม่ได้หวังเพียงผู้บริโภคในกัมพูชาเท่านั้น

ทว่ายังรวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ธุรกิจเอเยนซี่ในกัมพูชา มีทั้งบริษัทต่างชาติและของคนท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากบริษัทต่างชาติ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน เข้ามาสอนคนท้องถิ่นทำ ซึ่งปัจจุบันคนที่นี่ทำเองได้หมด ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ใช้คอมพิวเตอร์เก่ง ดีไซน์เก่ง ออกแบบต่างๆ สวยมากขึ้น” เธอบอก

ขณะที่นักธุรกิจไทย ก็มองเห็นโอกาสในการเข้ามาขยายธุรกิจในกัมพูชา โดย “เพชร ทิมทอง” ประธานบริษัท ติวานนท์ ปริ้นท์ เซนเตอร์ (Tiwanon Print Center) ผู้ผลิตกล่องไฟแอลอีดี ที่ขนทัพ “กล่องไฟกระจายแสง” ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างมากในไทย มาเปิดตัวที่กัมพูชา เพื่อหาลู่ทางขยายธุรกิจ รองรับลูกค้า แฟรนไชส์ ร้านอาหาร ร้านค้า ทั้งอินดอร์และเอ้าท์ดอร์ ด้วยจุดขาย สื่อโฆษณาที่ “ถูก เร็ว ประหยัด” ให้แสงสว่าง กินไฟน้อย และราคาไม่แพง

“เรามองโอกาสในประเทศกลุ่ม CLMV เพราะประเทศเหล่านี้กำลังเริ่มพัฒนา และจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ความได้เปรียบคือ ต้นทุนผลิตเราสามารถทำได้ถูกกว่าจีน และกำลังผลิตก็สูง จึงพร้อมที่จะขยาย เพื่อรองรับตลาดที่เพิ่มขึ้นได้”

ขณะที่ “วรเชษฐ์ พลากรกิจวัฒนา” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรจน์แอดเวอร์ไทซิง จำกัด (Roj Advertising) ผู้ผลิตป้ายโฆษณา และบริการสื่อโฆษณาให้เช่าในประเทศไทย บอกเราว่า ได้มีโอกาสไปดูลู่ทางขยายธุรกิจในหลายประเทศ ทั้งพม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งมองว่า ยังมีโอกาส แต่คงต้องใช้เวลาศึกษา เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

“ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกที่ไหน เพราะอยากเข้าไปในประเทศต่างๆ อย่างปลอดภัยที่สุด จึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบ โดยที่มองว่าธุรกิจอย่างป้ายโฆษณาน่าจะยังมีโอกาสในตลาดแถบนี้ เพราะเป็นสื่อที่สินค้าทุกกลุ่มต้องใช้ และราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับสื่ออื่น แม้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่ดี ต้องประหยัดต้นทุนเขาก็จะใช้สื่อนอกบ้านมากขึ้น ขณะที่ทุกคนต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อนอกบ้านก็น่าจะมีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน” เขาบอก

ด้าน “สักกฉัฐ ศิวะบวร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบริก จำกัด (IBRIX) บอกว่า ประเทศกัมพูชายังมีความน่าสนใจ ในกลุ่มธุรกิจสื่อนอกบ้าน โดยดูจากแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะการขยายตัวของเมือง ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการความรวดเร็ว และสะดวกสบายมากขึ้น แนวโน้มการใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น การขยายตัวของวิถีชีวิตดิจิทัล ผู้หญิงจะมีอำนาจซื้อสูงที่ขึ้น และคนสูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น เหล่านี้ เป็นต้น

“อนาคตจะมีโฆษณาอยู่เต็มไปหมด การคมนาคมก็จะมีโฆษณาแฝง แม้แต่ตึกก็จะมีโฆษณา ต่อไปคำว่า ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ จะถูกนำมาใช้มากขึ้นเช่นกัน ในธุรกิจโฆษณาประเทศนี้”

เขาบอกโอกาสของผู้ประกอบการไทย ในกลุ่มธุรกิจป้ายและสื่อโฆษณา ที่พร้อมเติบโตรับความเปลี่ยนแปลงของกัมพูชาในอนาคต