"สามารถ" ห่วง "ชัชชาติ" ถึงทางตันแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้า BTS

"สามารถ" ห่วง "ชัชชาติ" ถึงทางตันแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้า BTS

"สามารถ" ห่วงผู้ว่า กทม. "ชัชชาติ" ถึงทางตันแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว BTS หลังสภากรุงเทพมหานคร ปัดตกวาระหารือทางแก้ปัญหา

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2565 ว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2565 ได้ติดตามการประชุมของสภา กทม.เพื่อติดตามการทำงานของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ นายชัชชาติจะเสนอให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่าไหร่ ? และจะแก้ปัญหาหนี้สินอย่างไร ? หลังจากที่รอมานาน แต่สุดท้ายก็เหลว !

1. ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสนออะไรให้สภา กทม. พิจารณา ?

ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสนอขอความเห็นจากสภา กทม. 2 ญัตติ ดังนี้

(1) อัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต โดยเสนอให้เก็บ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารสูงสุด (รวมทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยาย) เท่ากับ 74 บาท หรือเก็บตามระยะทางตามสูตร 14+2X (ค่าแรกเข้า 14 บาท ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2 บาทต่อสถานี แต่ค่าโดยสารรวมทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายไม่เกิน 59 บาท)

(2) การแก้ปัญหาหนี้สิน โดยเสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาของส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่ง กทม. รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเงินประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ถ้ารัฐบาลสามารถให้เงินสนับสนุนได้

ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะหาเอกชนมาร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถให้เงินสนับสนุนได้ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติก็ขอโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด (ทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยาย) ให้รัฐบาล

แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภา กทม.ส่วนใหญ่เห็นว่าญัตติดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของสภา กทม. จึงได้เสนอให้ถอนญัตติออกไป

2. มท. 1 ขอความเห็นจาก ผู้ว่าฯ ชัชชาติ

หลังจาก กทม. มีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ และมีสภา กทม. ชุดใหม่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ถึงผู้ว่าฯ กทม. ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอ ครม. ต่อไป

เหตุที่ มท. 1 ขอความเห็นจากผู้ว่าฯ กทม. ก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้ว่าฯ กทม. (ในขณะนั้น) ได้มีหนังสือถึง มท. 1 ขอความเห็นชอบให้ขยายสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2572-2602

โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC แบกภาระหนี้สินทั้งหมดที่ กทม. มีอยู่กับ BTSC และ รฟม. พร้อมกับแบ่งรายได้ให้ กทม. ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้ง กำหนดให้ BTSC เก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท (สูงสุดไม่เกิน 65 บาท)

3. ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะเสนอความเห็นอะไรให้ มท. 1 ?

เมื่อสภา กทม. โยนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปที่ฝ่ายบริหารของ กทม. ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ควรพิจารณาทำหนังสือตอบ มท. 1 ไปตามแนวทางของท่านผู้ว่าฯ ดังกล่าวในข้อ 1 ข้างต้น ซึ่งผมมีความเห็นต่อแนวทางของท่านผู้ว่าฯ ดังนี้

(1) อัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเก็บ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดเท่ากับ 74 บาท หรือจะเก็บตามระยะทาง แต่ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 59 บาท ก็ได้ แต่ท่านต้องยอมรับความจริงว่าไม่สามารถทำให้ค่าโดยสารถูกลงตามที่ท่านได้เคยหาเสียงไว้ว่าจะเก็บ 25-30 บาท ได้

(2) หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเปิดประมูลใหม่หาเอกชนมารับสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ตาม พรบ. ร่วมทุน 2562 ผมขอบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเอกชนรายใดสนใจมารับสัมปทานแน่ เพราะจะขาดทุน ! หากจะเปิดประมูลใหม่ทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายหลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะยังติดสัญญาจ้าง BTSC ให้เดินรถจนถึงปี 2585

(3) หากรัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้รัฐบาล ผมเห็นว่าแนวทางนี้ไม่ใช่เป็นการ “แก้ปัญหา” แต่เป็นการ “โยนปัญหาให้พ้นตัว” ถ้ารัฐบาลยอมรับข้อเสนอนี้ ก็น่าจะรับมาตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าฯ อัศวินแล้ว จะไม่ทำให้ปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบันนี้

และที่สำคัญการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้รัฐบาลจะเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของบุคลากร กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ที่ได้พยายามปลุกปั้นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจนสำเร็จเป็นรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทย

4. ผู้ว่าฯ ชัชชาติถึง “ทางตัน” ?

เนื่องจากท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติตั้งธงไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้วว่าจะไม่ขยายสัมปทานให้ BTSC จึงทำให้ท่านต้องเดินมาถึงทางตันในวันนี้ มีทางเดียวเท่านั้นที่ท่านจะผ่าทางตันได้ก็คือเปิดใจให้กว้าง ดูข้อดีข้อเสียในการขยายสัมปทานให้ BTSC ถ้าเห็นว่ามีข้อดีมากกว่าก็ตัดสินใจขยายสัมปทานให้ BTSC ทางเลือกอื่นไม่มีจริงๆ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี ไม่อยากให้ กทม. มีหนี้สินพอกพูนขึ้นทุกวัน

รายงานข่าวจากรุงเทพมหานคร ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) โดย นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 มีผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายวิรัตน์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้รับหนังสือด่วนที่สุดจาก ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมหนังสือด่วนที่สุดจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2565

ทั้งนี้ ขอชี้แจงขั้นตอนการบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งตนได้ปฏิบัติตามข้อบังคับทั้งหมด แต่บางญัตติเอกสารไม่ครบถ้วน จึงต้องขอเอกสารเพิ่มเติม ทำให้เสียเวลาต่อการบรรจุญัตติ โดยเฉพาะญัตติที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย จึงต้องขอรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาญัตตินั้นๆ หลายครั้งต้องประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ไม่ได้เกี่ยวกับ กทม.ทำให้ต้องใช้เวลา จึงชี้แจงให้ฝ่ายบริหารรับทราบ

โดยนายชัชชาติ ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. จะเสนอญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ต่อมา นายไสว โชติกะสุภา ส.ก. เขตราษฎร์บูรณะ ประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง ได้เสนอให้รวมทั้งสองญัตติเข้าด้วยกัน ดังนั้นที่ประชุมสภา กทม.จึงมีมติให้รวมทั้งสองญัตติเข้าด้วยกัน

อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าว ส.ก. ได้ขออภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของสภา กทม.

นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ กล่าวว่า ขอหารือประธานสภา กทม. และผู้ว่าฯ กทม. เรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใหญ่กว่าข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ทำให้เราไม่มีความสุข จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง

ทั้งนี้ควรให้ ส.ก.ชุดนี้ รู้รายละเอียดต่างๆ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มากกว่านี้ ฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการได้ ในการปรึกษาหารือกับ ส.ก. ญัตติดังกล่าวจะทำให้เป็นภาระกับ กทม. ถ้าไม่มีคำสั่ง คสช. จะไม่เกิดปัญหามาจนถึงทุกวันนี้ จึงเห็นว่าควรให้ถอนญัตติดังกล่าวออกไปก่อนแล้วค่อยกลับมาหารือกันใหม่อีกครั้ง

นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า ขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษารายละเอียดต่อไป

นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ควรเป็นญัตติ ควรเป็นการเสนอขอความเห็นเท่านั้น อีกทั้งเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภา กทม.และผู้ว่าฯ กทม. จึงขอให้ถอนญัตติดังกล่าวออกไป และหากยังมีญัตติดังกล่าวอยู่ จะขอออกจากประชุม พร้อมกับเดินออกไปจากห้องประชุมทันที

หลังจากนั้นนายวิรัช ได้เสนอให้ถอนญัตติดังกล่าว โดยมีผู้รับรองถูกต้อง ทำให้ญัตติถูกถอนออกไป ส่งผลให้ญัตติของนายชัชชาติ ต้องตกไปโดยปริยาย จากนั้นประธานสภา กทม.ได้สั่งพักการประชุม และเมื่อเปิดประชุมอีกครั้งได้มีการพิจารณาวาระถัดไป