โลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 5)

โลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 5)

สิ่งที่พบใหม่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับเศรษฐกิจยุคโบราณ 2-3พันปีนั้น น่าสนใจมาก ในกรณีของกรีซ เรารู้ว่ากรีซเป็นฐานอารยธรรมของตะวันตก

แหล่งกำเนิดของปรัชญาความรู้เกี่ยวกับโลกและมนุษย์มีอิทธิพลต่อโลกตะวันตกมาก กรีซให้ความสำคัญและความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ในยุคนั้น จะเรียกว่าเป็น Ancient Enlightenment หรือ แสงสว่างทางปัญญายุคโบราณก็ได้ ที่สำคัญคือมันมากับเศรษฐกิจที่มีพลวัต แม้สังคมโบราณยังเป็นสังคมเกษตรกรรม เน้นผลิตเพื่อบริโภคเองหรือใช้แรงงานทาส หน่วยผลิตมีขนาดเล็ก ซึ่งย่อมจะไม่เหมือนกับทุนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งธุรกิจมีขนาดใหญ่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมและบริการมีความสำคัญมากกว่าการเกษตร 

แต่เศรษฐกิจยุคโบราณเหมือนกับทุนนิยมยุคใหม่ คือ มีวิธีการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล (rational mind) ในการแสวงหาผลตอบแทน หากำไรหรือในการเลือกพัฒนาเทคโนโลยี การทำนวัตกรรมใหม่ ขณะที่มีการใช้แรงงานทาสควบคู่กันไป เราพบว่า การมีแรงงานทาสไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆในการผลิต แม้ในสังคมโบราณ ทาสที่เช่าที่ดินจากนายจะเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิต เพื่อให้ตัวเองสามารถกลายเป็นเสรีชน เป็นต้น

เศรษฐกิจกรีซโบราณ แม้เป็นสังคมเกษตรที่ผลิตเพื่อการยังชีพ แต่บทบาทของตลาด มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยมา ทั้งตลาดในและนอกประเทศ ทำให้นครรัฐกรีซโบราณ พัฒนาเป็นศูนย์กลางของการค้าทางไกลแห่งแรกของโลก ความได้เปรียบจากการใช้แรงงานทาสจำนวนมาก ทำให้กรีซมีขีดความสามารถสูงทางด้านการแข่งขันในสินค้าส่งออกประเภทฟุ่มเฟือย เช่น เหล้าองุ่น น้ำมันมะกอก โดยแลกกับการนำเข้าธัญพืชประมาณ 3 ใน 4 ของการบริโภคในประเทศ เหล้าองุ่น น้ำมันมะกอก ยังเป็นแหล่งอาหารให้พลังงานทดแทนธัญพืชสำหรับประชากรในประเทศที่เพิ่มในอัตราที่สูงมาก

แม้เศรษฐกิจกรีซโบราณจะไม่เหมือนทุนนิยมสมัยใหม่ แต่ที่แน่ๆ ความเจริญเติบโตจากสังคมเกษตรเกิดขึ้นในบริบทที่มีการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ การเกษตรมีประสิทธิภาพไม่ได้ล้าหลังหยุดนิ่งเหมือนความเชื่อเก่าๆ จริงอยู่ สังคมเกษตรสมัยโบราณของกรีซจะขาดแคลนพลังงานจากสัตว์ ขาดแคลนปุ๋ย ขาดแคลนเครื่องมือการเกษตรที่ทำด้วยโลหะ แต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็มีมากมายและน่าประทับใจ แม้จะไม่ได้ใช้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เหมือนยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษที่เด่นๆ เป็นที่ยอมรับ เช่น การทำขวดแก้ว หนังสือที่เข้าเล่ม การจัดการวงล้อหมุน เกียร์ที่สลับซับซ้อน ลูกสูบ โรงเลื่อยบดหิน กังหันลม เป็นต้น กรีซโบราณมีนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านพลังงานและการต่อเรือ 

กรีซสมัยใหม่เรารู้จักโอนาซิส ชาวกรีซสามี Jackie Kennedy ที่มีเรือขนาดใหญ่ แต่สมัยโบราณ กรีซสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ที่แข็งแรงตั้งแต่ 60-500 ตัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางเรือ เช่น การสร้างท่าเรือที่มีคุณภาพ ประภาคาร เทคโนโลยีการทอดสมอ ซึ่งเดิมใช้หินมาเป็นเหล็ก การขึงใบเรือ มีการใช้พลังงานจากลมซึ่งแทบไม่มีต้นทุนมาเป็นเวลายาวนาน มีโรงงานกำลังน้ำ ที่ใช้พลังงานน้ำในการสีและบดธัญพืช หรือใช้ปั่นไฟจากพลังงานน้ำ พลังงานจากน้ำมีใช้ในภาคอุตสาหกรรมจนถึงปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีลักษณะเป็นทั้งงานจากช่างฝีมือที่พัฒนาจากภายในประเทศหรือจากนอกกรีซ ถ่ายทอดมาถึงคนกรีซ เช่น การทำแก้วจากฟินีเซีย เป็นต้น ขณะเดียวกันกรีซก็มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น งานของนักคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ Alexandria ที่กษัตริย์แห่งปโตเลมีได้เชื้อเชิญมาจากกรีซ สามารถนำมาใช้กับเครื่องจักรที่โรงงานกำลังน้ำ

ความเจริญเติบโตมีลักษณะที่เป็น intensive growth มีการแบ่งแยกแรงงาน ตลาดมีการขยายตัว การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญ กรีซยุคโบราณมีสถาบันที่ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐเก็บภาษีการเกษตรในอัตราที่ต่ำ ไม่เกิน10% มีการใช้เหรียญเงินอย่างกว้างขวางก่อนที่อื่น ซึ่งส่งเสริมการค้า ธุรกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นเสถียรภาพทางสังคมและการเมืองของนครรัฐกรีซโบราณทำให้หลักนิติธรรมมีความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะด้านการทำสัญญาระหว่างคู่กรณีหรือบุคคล ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญ สำหรับเศรษฐกิจทุนนิยม แรงงานทาสเป็นปัจจัยเร่งและหนุนการเจริญเติบโตของกรีซยุคโบราณ โดยเฉพาะ 500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นที่มาสำคัญของการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพรวมเพราะระบบสามารถขูดรีดการใช้แรงงานทาสได้อย่างเต็มที่คู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กรีซศูนย์กลางสำคัญรองรับทาสจากนอกประเทศ ได้เปรียบประเทศเช่น อียิปต์ เปอร์เซีย ซีเรีย เป็นต้น แต่ขีดจำกัดความเจริญเติบโตของกรีซ ในที่สุดแรงงานทาสก็เป็นอุปสรรคต่อการมีแรงงานรับจ้าง นอกเหนือจากการที่กรีซไม่มีถ่านหินเหมือนอังกฤษ ซึ่งเป็นขีดจำกัดต่อการที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม แม้ว่าความรู้พื้นฐานด้านเครื่องจักรไอน้ำมีอยู่บ้างแล้วในยุคโบราณ

ยุคทองของเศรษฐกิจกรีซโบราณต้องมาถึงจุดจบเหมือนติดอยู่ในกับดัก ทั้งด้านรายได้ของ Malthus หลังถูกยึดครองอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิโรมัน สาเหตุสำคัญไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุดมการณ์ที่เป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโต คือ พลังและแรงจูงใจในการแสวงหาผลตอบแทนและกำไร แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสถาบัน (ซึ่งต้องการการวิเคราะห์ในเชิงสถาบัน) เช่น ความได้เปรียบในการแข่งขันจากแรงงานทาส ที่นำเข้าได้สิ้นสุดลงหลังจักรวรรดิโรมัน แม้ตลาดเมดิเตอร์เรเนียนจะมีการบูรณาการที่ใหญ่ขึ้น การเสื่อมถอยและการสลายของนครรัฐทำลายฐานเศรษฐกิจและสังคมที่เท่าเทียมกันระหว่างเสรีชน โดยเฉพาะระหว่างชาวนากับชนชั้นปกครอง เศรษฐกิจโบราณที่ความมั่งคั่งกระจุกทำลายศักยภาพความเจริญเติบโต ประการสุดท้าย การสลายหรือการหายไปของชีวิตและบรรยากาศของเสรีภาพ ซึ่งเป็นหัวใจหรือที่มาของการค้นพบนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะของกรีซ ทำให้ความเจริญเติบโตต้องหยุดชะงัก