“ทีมหมูป่า” กับเทรนด์การจัดการ “เหตุฉุกเฉิน”

“ทีมหมูป่า” กับเทรนด์การจัดการ “เหตุฉุกเฉิน”

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน เดือนที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่สุดในบ้านเรา และเผลอๆ จะเป็นข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

นั่นคือเหตุการณ์ทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี” และโค้ชรวม 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเวลานานถึง 9 วันเต็ม

เชื่อว่าหลายท่านคงติดตามข่าวพร้อมทั้งเอาใจช่วยกันอย่างใจจดใจจ่อ ตั้งแต่วันแรกๆ จนถึงวันที่พบทั้ง 13 คนอย่างปลอดภัย และได้เห็นความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดาเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินับร้อยนับพันคนที่เข้ามาช่วยเหลือภารกิจ “13 ชีวิตต้องรอด” ในครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยพบในบ้านเรามาก่อน ความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนที่นำมาสู่ความสำเร็จในการช่วยชีวิตในครั้งนี้ เป็นแนวทางและเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการกู้ภัยต่างๆ ในอนาคตได้

หลายเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในโลกเรา ที่แม้เหตุการณ์จะแตกต่างกันไป แต่มักจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “ความคาดหวัง” ของสังคมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็เพราะโลกทุกวันนี้เชื่อมต่อถึงกันหมดได้ภายในเสี้ยวนาที จากแนวโน้มดังกล่าว การกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องสำคัญ ฉบับนี้ดิฉันจึงขอว่าด้วยเรื่องของ แนวโน้มการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉิน (Emergency management) ที่จัดทำโดยควินติก (Quintiq) ผู้ให้บริการโซลูชั่นชั้นนำระดับโลกด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและการวางแผนห่วงโซ่อุปทาน เราลองมาดูกันค่ะว่าต่อเทรนด์ที่ว่านี้เป็นอย่างไรค่ะ

1.สภาพแวดล้อมในการจัดการภาวะฉุกเฉินจะซับซ้อนมากขึ้นไม่เพียงแต่บริการในภาวะฉุกเฉินในโลกเราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่สภาพแวดล้อมในการบริหารภาวะฉุกเฉินนั้นก็จะมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้เพราะความคาดหวังจากชุมชนและสังคมนั้นสูงขึ้นจากในอดีตมาก จากโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่มีอยู่ทุกหนแห่ง และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อย่างมากมายมหาศาล หน่วยงานจัดการภาวะฉุกเฉินหรือกู้ภัยจึงต้องหาวิธีรับมือและคัดกรองข้อมูล

ซึ่งในบางครั้งข้อมูลที่มากมายนี้เองที่ทำให้การกู้ภัยมีความยุ่งยากมากขึ้น และบางครั้งก็ยากเกินว่าความสามารถในการสั่งการของคนเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นหน่วยงานหรือทีมงานจัดการภาวะฉุกเฉินต่างๆ จึงต้องมีเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น เพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างดีที่สุดและประสบความสำเร็จสูงสุด

2.การจับมือกันของภาครัฐและเอกชนแนวโน้มหลักอีกประการของการจัดการภาวะฉุกเฉินในอนาคตคือการเปลี่ยนจากการยึดเอาภาครัฐเป็นศูนย์กลาง (Government centric) เป็นการเอาผู้รอดชีวิตเป็นศูนย์กลาง (Survivor centric) ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

เดิมทีนั้นความสามารถในการรับมือภาวะฉุกเฉินหรือการกู้ภัยนั้นมักถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ปัจจุบันรูปแบบกำลังเปลี่ยนไป เราจะเห็นภาคธุรกิจ ภาคองค์กรไม่แสวงผลกำไรหรือ NGO และกลุ่มชุมชนต่างๆ จับมือกับภาครัฐเพื่อแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถรับมือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด โดยความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐนี่เองที่ทำให้เกิดการพัฒนาความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการภาวะฉุกเฉินทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ โดยอาจมีการทำข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ เพื่อกำหนดขอบเหตุการทำงานร่วมกัน

3.ความคาดหวังจากสาธารณชนที่สูงขึ้นเรื่อยๆปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานกู้ภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดับเพลิง ตำรวจ หน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่รถพยาบาล เป็นที่จับตามองของผู้คนมากกว่าในอดีตอย่างมาก และเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ทวีความรุนแรงและอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งท้าทายต่อความปลอดภัย ในขณะเดียวกัน ความคาดหวังจากสาธารณชนที่มีต่อหน่วยงานให้บริการด้านฉุกเฉินก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ความเชื่อมโยงกันที่ทำให้เกิดความคาดหวังสูงขึ้นนี้จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกเรามาก่อน

และที่สำคัญ หน่วยงานที่ให้บริการจัดการภาวะฉุกเฉินไม่ได้ปฏิบัติต่อชุมชนเหมือนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น หากแต่ชุมชนคือองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ภารกิจรับมือเหตุฉุกเฉินของพวกเขาประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ได้รับมากมายในโซเชียลมีเดียอาจทำให้รู้ถึงข้อมูลหน้างานซึ่งอาจมีส่วนช่วยได้อย่างมากในการตัดสินใจ โดยเราอาจทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้แม้ยังไปไม่ถึงจุดเกิดเหตุเลยด้วยซ้ำ

แนวโน้มที่ว่ามานี้เราเริ่มเห็นแล้วจากเหตุการณ์น้องๆ ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง และเชื่อว่าต่อไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ในลักษณะนี้อีก อย่างน้อยเราจะมีบทเรียนเพื่อให้รับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ