กล้าไหมที่จะเปลี่ยนแปลง

กล้าไหมที่จะเปลี่ยนแปลง

หลังกลับจากการไปเยี่ยมดูงานที่ Silicon Valley แล้ว ดิฉันได้แชร์ประสบการณ์ให้น้องๆ ในทีมฟัง โดยเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากบริษัท start up

และบริษัทไฮเทคชั้นนำที่นั่นว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้บริษัทเหล่านั้นยังคงแข่งขันอยู่ได้คือ เขามีวิธีการทำงานและวิธีคิดแบบ Entrepreneur ทำให้เขามี ความกล้า และ ไม่หยุด ที่จะเปลี่ยนแปลง

มีน้องบางคนถามดิฉันว่า “แล้วเขาทำอย่างไรให้คนของเขากล้าได้อย่างนั้น” ดิฉันคิดว่าการทำให้คนมีความกล้าไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างได้ภายในวันเดียว เพราะมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและ mindset ที่ถูกปลูกฝังกันมา ดิฉันจึงชวนคุยต่อไปว่าวัฒนธรรมของฝรั่งและของเรานั้นต่างกันหลายอย่าง เช่น เรามีระบบการศึกษาที่เน้นให้คนตอบคำถามให้ถูก เวลาครูถามนักเรียนไทยจะไม่ค่อยกล้าตอบเพราะ “กลัวผิด” แต่เด็กฝรั่งเขาจะแย่งกันตอบ เพราะเวลาตอบผิดเขาจะไม่ถูกดุ แต่เขาจะถูกฝึกให้คิดหาวิธีการที่จะนำไปสู่คำตอบนั้นได้ด้วยตัวของเขาเอง นี่เองที่ทำให้คนของเขามีธรรมชาติเป็นคนกล้าคิดและกล้าแสดงออก

คนเหล่านี้เมื่อใกล้จะจบการศึกษาก็จะมีบริษัทชั้นนำต่างๆ ไปแย่งกัน recruit ถึง campus กว่าจะผ่านกระบวนการคัดเลือกที่สุดหินมาได้ก็ต้องแสดงความสามารถกันสุดตัว อย่างบริษัท Google นี่ก็ขึ้นชื่อเรื่องความยากในการรับคน ว่ากันว่าอัตราส่วนผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต่อผู้สมัครนั้นสูงถึง 1 ต่อ 500 เลยทีเดียว เมื่อเขาได้คนที่มีคุณภาพระดับสุดยอดมาแล้วก็ต้องนำมาสร้างต่อให้มีความเป็น entrepreneur และมี growth mindset ซึ่ง mindset แบบนี้เองทำให้คนมีความปรารถนาที่จะเรียนรู้ (desire to learn) คนเหล่านี้จึงยินดีอ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลง (embrace changes) กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ กล้าเผชิญความไม่แน่นอน ทุ่มเททำในสิ่งที่หมายใจอย่างไม่หวั่นไหวภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน กล้าที่จะล้มเหลวและเรียนรู้จากมัน

การจะส่งเสริมให้คนกล้าแบบนี้ก็ต้องมีเวทีให้พวกเขาแสดง Google ให้เวลาพนักงาน 30% ของเวลาทำงานไปศึกษาหรือทำงาน project อะไรก็ได้ที่ตัวเองอยากทำ โดยให้อิสระเต็มที่ในการทดลองทำเรื่องใหม่ๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าถ้าล้มเหลวแล้วจะถูกไล่ออก ส่งผลให้การเรียนรู้ของพนักงานพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือนวัตกรรมที่สร้าง high impact ให้กับชาวโลกทั้งหลายของ Google ก็เกิดจาก 30% ของเวลาทำงานในส่วนนี้ เช่น Gmail หรือ Google Map เป็นต้น

ดิฉันบอกน้องๆ ว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมี “ความเสี่ยง” และการที่เราไม่อยากรับความเสี่ยง (take risk) ก็เพราะเรากลัว คนที่เป็นเถ้าแก่สามารถตัดสินใจ take risk ได้ดีกว่าคนทำงานทั่วไป เพราะเขามี growth mindset มากกว่าและกล้าที่จะลองผิดลองถูกเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่กลัวที่จะล้มเหลว ถ้ามองกันลึกๆ ลงไปแล้วจะเห็นว่าความกลัวนั้นมาจาก ความคิดและ ความเชื่อที่ว่าเราไม่มีความสามารถพอที่จะจัดการกับความเสี่ยงหรือภัยอันตรายที่เราจินตนาการขึ้นมาได้ เราจึงไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ความคิดมันไม่ใช่ความจริง ความจริงคือการลงมือทำให้เห็นผลเป็นประจักษ์ ถ้าไม่ลองทำดูไหนเลยจะรู้ว่าเรา “สามารถ” หรือไม่ คุยกันมาถึงตรงนี้ก็มีน้องอีกคนถามขึ้นมาว่า “การ take risk ครั้งไหนที่พี่กลัวมากที่สุด และพี่จัดการกับมันได้อย่างไร” ดิฉันก็เลยเล่าเรื่องตอนที่ดิฉันตัดสินใจไปร่วมงานกับบริษัท AIG Consumer Finance ที่ฮ่องกงให้น้องๆ ฟัง

งานนี้ดิฉันต้องไปรับผิดชอบเรื่องการขยายธุรกิจที่ครอบคลุม 8 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้มีโอกาสเรียนรู้ตลาด สภาพเศรษฐกิจ คู่แข่ง และวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละประเทศ ต้องทำงานในโครงสร้างแบบ matrix มีลูกน้องที่ขึ้นตรงกับเราและ GM ในประเทศของเขา ซึ่งบางครั้งก็มี conflict ที่ต้องบริหารจัดการ ดิฉันบอกน้องๆ ไปตรงๆ ว่าตอนที่ตัดสินใจรับงานนี้ก็รู้สึกกลัวนะเพราะไม่รู้จะต้องเจอกับอะไร และทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่หมด แต่มันมีความกลัวอีกอย่างหนึ่งที่มากกว่าความกลัวอันแรกก็คือ “กลัวเสียโอกาส” ที่จะได้ประสบการณ์การทำงานระดับภูมิภาคจากงานนี้ ความกลัวอย่างแรกไม่ได้หายไปไหนแต่ความกลัวอย่างหลังนี่เอง ที่ทำให้ดิฉันตัดสินใจเดินลากกระเป๋าขึ้นเครื่องบินไปฮ่องกงทั้งๆ ที่ใจก็ยังกลัว วันนั้นจึงได้เรียนรู้ว่าการตัดสินใจลงมือทำอะไรทั้งๆ ที่ใจก็กลัวๆ นี่เองที่เขาเรียกว่า กล้า ดิฉันยิ่งรู้สึกว่าได้กำไรเพิ่มขึ้นตอนที่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่บริษัทเกิด crisis ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ เป็นสถานการณ์ยากลำบากที่เข้ามาทดสอบทำให้ได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา และได้มอบประสบการณ์ การบริหารจัดการ ที่มีค่ามากให้กับดิฉันมาจนทุกวันนี้

เมื่อเล่าจบแล้วดิฉันจึงถามน้องๆ กลับไปบ้างว่า แล้วคุณล่ะกล้าไหมที่จะอนุญาตให้ตัวเองได้ลงมือทำอะไร ทั้งๆ ที่ใจก็ยังกลัว