จอห์น วิลเลียม: NY Fed ท่านใหม่

จอห์น วิลเลียม: NY Fed ท่านใหม่

ต้องถือว่ามาตามนัด สำหรับนายจอห์น วิลเลียม วัย 55 ปี ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางหรือเฟด สาขาซานฟรานซิสโก มากว่า 7 ปี

 โดยเคยเป็นนักวิจัยที่เฟดสาขานี้ สมัยนางเจเน็ต เยลเลนเป็นผู้ว่าการเฟด สาขาซานฟรานซิสโก จะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางหรือเฟด สาขานิวยอร์ค ท่านใหม่ต่อจากนายวิลเลียม ดัดลีย์ ตำแหน่งนี้ถือว่ามีความพิเศษกว่าเพื่อนตรงที่เป็นผู้ว่าการเฟด เพียงสาขาเดียวที่มีสิทธิ์แบบถาวรในการโหวตในการประชุมคณะกรรมการเฟดทุกครั้ง จะว่าไปแล้ว ความสำคัญถือว่าสูสีกับรองประธานเฟดเลยทีเดียว เนื่องจากดูแลการทำวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เฟดกลุ่มใหญ่พอสมควรและการปฏิบัติการของการซื้อขายตราสารทางการเงินของเฟดอีกด้วย

ที่จริงแล้ว มีเสียงวิจารณ์อยู่เหมือนกันว่านายวิลเลียมส์หากเข้ามารับตำแหน่งนี้ อาจจะดูค่อนข้างที่จะทำให้ภาพรวมของกรรมการเฟดขาดความหลากหลายเนื่องจากเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดมากว่า 20 ปี ตั้งแต่จบปริญญาเอก โดยไม่ได้มีประสบการณ์ด้านอื่นทว่านายวิลเลียมส์ค่อนข้างที่จะเป็นสมาชิกเฟดที่ทุกครั้งจะโหวตตามประธานเฟดโดยตลอด ตั้งแต่สมัยนายเบน เบอร์นันเก้ ข้ามมาถึงนางเจนเน็ต เยลเลน และผมว่าก็จะเป็นเช่นนั้นอีกในยุคของประธานเฟด เจอโรม พาวเวล โดยจะขอพามารู้จักนายวิลเลียมส์เพื่อในอนาคตจะได้ตามการประชุมเฟดได้แบบออกอรรถรส ดังนี้

หนึ่ง นายวิลเลียมถือว่าเป็น neoclassic economist หรือนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในกลไกตลาด โดยอาจารย์ผู้ดูแลวิทยานิพนธ์คือ นายจอห์น เทย์เลอร์ เจ้าของ กฎของเทย์เลอร์ที่ไว้ประมาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบง่ายๆ เขาถือว่าเป็นมวยคล้ายกับนายเบอร์นันเก้แต่เฉียบคมน้อยกว่า โดยมองการวิเคราะห์เศรษฐกิจผ่านแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานของการสร้างประโยชน์สูงสุดของผู้ปริโภค ตรงนี้ ถือว่าจะมาสร้างสมดุลกับนายพาวเวลที่มาจากสายกฎหมาย โดยนายวิลเลียม ยังเชื่อว่า Phillips Curve หรือการถ่วงดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานนั้นยังมีอยู่จริงในเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ว่าเขาจะเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่ใช่ตัวแปรที่ดีนักในการเป็นตัวแปรของเป้าหมายของธนาคารกลางหรือเฟดก็ตามที ตรงจุดนี้เราอาจเห็นการทดลองใหม่ๆ ในการปรับเปลี่ยนตัวแปรที่เฟดจะพิจารณาในอนาคต ซึ่งน่าจะถูกใจบรรดานักวิเคราะห์ฮาร์ดคอร์สายมหภาคที่จะเห็นนวัตกรรมใหม่ๆของเฟดที่จะออกมาในช่วงต่อไป 

สอง นายวิลเลียมเชื่อว่า ปัจจัยต่างประเทศจะมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากน้อยแค่ไหนในอนาคต โดยมองว่าความเสี่ยงจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะจากจีน เอเชีย หรือยุโรป ล้วนแล้วแต่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หากยังจำกันได้ เมื่อราว 3 ปีก่อน ที่นางเยลเลนตัดสินใจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากการที่รัฐบาลจีนประกาศลดค่าเงินหยวนและตลาดหุ้นจีนเกิดตกฮวบกว่า 30% นายวิลเลียมเป็นคนต้นๆ ที่ออกมากล่าวว่าควรจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดออกไปก่อน

สาม ในแง่มุมมองของอัตราดอกเบี้ย นายวิลเลียมเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ผลักดันให้จีดีพีเติบโตได้ดีโดยไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ หรือ R-Star ของสหรัฐนั้น ค่าที่แท้จริงนั้นลดต่ำลงกว่าในอดีตจริง ตามปัจจัยเชิงโครงสร้างประชากรและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จึงน่าจะมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หากขึ้นไปถึงจุดใกล้ 3% นายวิลเลียมน่าจะมีการยั้งคิดว่าเกินระดับ R-Star ไปแล้วหรือยัง 

สี่ เขาไม่เชื่อว่าควรจะใช้อัตราเงินเฟ้อในการเป็นหนึ่งในตุ๊กตาที่เฟดจะคอยสังเกตการณ์ว่าควรจะขึ้นดอกเบี้ยแล้วหรือยัง เพราะการคำนวณหาจีดีพีที่มีขนาดสูงสุดซึ่งยังเหมาะสมกับเศรษฐกิจของธนาคารกลาง หรือ Potential Output สามารถทำได้ยากหากยังฝืนใช้อัตราเงินเฟ้ออยู่ โดยควรจะใช้ระดับราคาเป็นเป้าหมาย หรือ Price Target แทน เพราะในทางทฤษฎีแล้วให้ประสิทธิภาพที่ดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าหากธนาคารกลางใช้ตัวแปรใหม่นี้ มาเป็นตัวอ้างอิงในการขึ้นลงตัวอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

ท้ายสุด นายวิลเลียมถือว่าค่อนข้างมีความเป็นพลวัตในการมองเหตุการณ์เศรษฐกิจ ดังนั้น นักวิเคราะห์อาจจะเหนื่อยหน่อยในการติดตามหรือรู้ทันความคิดของนายวิลเลียม โดยเขาให้ความสำคัญกับความไม่แน่นอนของตัวแปรเศรษฐกิจและแบบจำลอง ซึ่งอาจจะมองต่างจากสายไฟแนนซ์แบบสายตรงเล็กน้อย โดยเขาจะตัดสินใจขึ้นหรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมในกฎเกณฑ์การตัดสินใจของแบบจำลองกว่าที่เราๆคิดกัน 

ผมยังมองว่านายวิลเลียมส์ ค่อนข้างจะเชื่อว่า ในตอนนี้ เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตได้ดีแต่ยังไม่ถึงจุดที่เกิดฟองสบู่ โดยมองว่าเฟดไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปหรือ behind the curve ดังนั้นการมีนายวิลเลียมเป็นผู้ว่า NY Fed น่าจะทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอนาคตช้าลงกว่าเดิมที่มีเขาเป็นสมาชิกเฟดแบบธรรมดาเล็กน้อยครับ