นักเศรษฐศาสตร์ไม่ควรคาดการณ์ แต่แนวโน้มปีนี้ยังดีอยู่ ***

นักเศรษฐศาสตร์ไม่ควรคาดการณ์ แต่แนวโน้มปีนี้ยังดีอยู่ ***

ดือนธ.ค.มักจะเป็นเดือนที่นิยมมีการคาดการณ์เศรษฐกิจของปีถัดไป เป็นสาเหตุให้บริเวณรีเซพชั่นของสถานีโทรทัศน์ใหญ่ๆ อาทิ CNBC และ Bloomberg

คราคร่ำไปด้วยนักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกเชิญมาสัมภาษณ์ออกอากาศถึงความเห็นเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การคาดการณ์ทางเศรษฐศาสตร์แม่นยำเพียงไร

เนื่องจากโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ไม่ได้แม่นยำขนาดนั้น และต่างตั้งอยู่บนสมมุติฐานมากมาย ซึ่งสมมุติฐานเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงเสมอไป โมเดลเพียงแต่ให้ขอบเขตของความเป็นไปได้มากกว่าที่จะให้ตัวเลขเฉพาะเจาะจง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างเข้าใจความจริงนี้เป็นอย่างดี 

แต่ในโลกปัจจุบันที่เศรษฐศาสตร์ถูกนำเสนอให้เข้าใจง่ายแบบ #hashtag จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะอธิบายความซับซ้อนนี้ให้เข้าใจในบทความสั้นๆ หรือผ่านสื่อประเภททวิตเตอร์

มุมมองทางเศรษฐศาสตร์มักจะให้ความรู้สึกผิดๆ ว่ามีความแม่นยำเพราะการรายงานที่ต้องทำให้เข้าใจง่ายและกระชับ สื่ออื่นๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความแม่นยำนี้ดีขึ้น พาดหัวข่าวที่ฟังดูน่าตื่นเต้นอย่าง “คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจต่ำกว่า 1%” ย่อมดึงดูดความสนใจของผู้อ่านและผู้ชมมากกว่าพาดหัวข่าวว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจต่ำกว่าแนวโน้มเดิมเล็กน้อย” ซึ่งฟังดูน่าตื่นเต้นน้อยกว่าอย่างมาก

นักเศรษฐศาสตร์ล้วนรู้ดีว่าโลกยุ่งเหยิง ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายกับเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจต่างมีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไม่ใช่เป็นตัวชี้นำที่แม่นยำของอนาคตอีกต่อไป

สิ่งที่เป็นปัญหายิ่งไปกว่านั้นคือ ข้อมูลทางเศรษฐกิจเองก็ไม่ได้ถูกต้องแม่นยำมากขนาดนั้น บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างพยายามที่จะคาดการณ์เศรษฐกิจให้ตรงเป้าทั้งๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ข้อมูลทางเศรษฐกิจนั้นถูกแก้ไขบ่อยขึ้นและมากกว่าในอดีต

ตัวอย่างเช่น คำถามว่า “เศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงไตรมาสแรกของปี 2015 เติบโตเร็วเท่าใด” คำตอบขึ้นอยู่กับว่าคุณถามคำถามนี้เมื่อไร 

ในเบื้องต้น มีรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำจนแทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวเลย จากนั้น ก็มีการทบทวนข้อมูลใหม่ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐนั้นหดตัวเป็นอย่างมาก (ตัวเลขคือ 0.7% เมื่อคิดโดยเฉลี่ยรายไตรมาสตลอดทั้งปี) จากนั้นก็มีการแก้ไขข้อมูลอีกครั้งว่าเศรษฐกิจของสหรัฐนั้นหดตัวเพียงเล็กน้อย ก่อนจะมีการปรับปรุงข้อมูลอีกครั้ง ครั้งนี้ข้อมูลระบุว่า เศรษฐกิจกำลังเติบโตเพียงแต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก

จากนั้นมีการปรับตัวเลขการเติบโตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม จนตอนนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงต้นปี 2015 นั้นสูงกว่าแนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมที่ 3.2% ดังนั้น คิดว่าตัวเลขระหว่างช่วง 0.7% ถึง 3.2% ตัวเลขใดที่นักเศรษฐศาสตร์ควรคาดการณ์ นักเศรษฐศาสตร์ที่คาดการณ์ที่ 3.2% ในช่วงที่ตัวเลขช่วงแรกระบุออกมา คงถูกล้อเลียน แต่จากตัวเลขล่าสุดที่เรามี นักเศรษฐศาสตร์ท่านนั้นกลับคาดการณ์ถูกต้อง

เมื่อโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ตัวเลขที่มีการปรับอย่างมากมายทำให้การคาดการณ์ไม่แม่นยำ แล้วนักเศรษฐศาสตร์จะทำอะไรได้บ้าง

· เศรษฐศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์โดยเปรียบเทียบ ในโลกความเป็นจริงแล้วความแตกต่างของการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่าง 1.5% กับ 1.8% นั้นไม่ได้มีความแตกต่างมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไรเมื่อมองในเชิงเปรียบเทียบ อัตราการเจริญเติบโตเมื่อเทียบกับแนวโน้มของอัตราการเจริญเติบโตที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไรบ้าง การเติบโตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือช้าลง รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศหนึ่งเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ

· โมเดลทางเศรษฐศาสตร์สามารถใช้เปรียบเทียบนโยบายต่างๆ และระบุได้ว่า นโยบายนั้นๆ ส่งผลต่อส่วนใดบ้างเช่น แสดงให้เห็นว่าการยุติข้อตกลง NAFTA จะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำในสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น

· เศรษฐศาสตร์สามารถบอกถึงสาเหตุและผลกระทบได้ เช่นบอกได้ว่า การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้สร้างตำแหน่งงานใหม่ให้กับชาวอเมริกันเกือบจะเท่ากับจำนวนตำแหน่งงานที่หายไปเพราะความสัมพันธ์ทางการค้านี้ เศรษฐศาสตร์ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่ายังคงมีความลำเอียงเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานของผู้หญิง และยังบอกด้วยว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มสูงขึ้นในจีน 

· โดยทั่วไป เศรษฐศาสตร์ยังสามารถคาดการณ์นโยบายของธนาคารกลางได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะธนาคารกลางมักจะบริหารโดยนักเศรษฐศาสตร์

หากเราลองไม่สนใจตัวเลข ข้อมูลอะไรบ้างที่จะได้จากนักเศรษฐศาสตร์ในปี 2018

· โลกของเรากำลังอยู่ในช่วงกลางของวัฎจักรการเติบโต อัตราการเติบโตทั่วโลกน่าจะไม่ต่างจากแนวโน้มที่ผ่านมากนัก รวมถึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 2018 (เนื่องจากไม่มีสัญญาณอะไรที่จะนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดหรือภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงจนเกินไป)

· เศรษฐกิจจีนและยุโรปนั้นมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงในปี 2018 มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจีนมีแนวโน้มจะจำกัดการก่อหนี้ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง ในขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคดูจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐและกลุ่มประเทศในยุโรป

· การปรับตัวขึ้นลงของวัฐจักรทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะรุนแรงน้อยกว่าที่ผ่านมารวมถึงเป็นไปได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะลดความรุนแรงลงในอนาคตเช่นกัน

· ภาวะเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเล็กน้อยในปี 2018 แรงกดดันด้านต้นทุนจากตลาด แรงงานน่าจะผลักให้ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าการปรับเปลี่ยนทางเทคนิคบางอย่างจะจำกัดมาตรการด้านเงินเฟ้อ

· ธนาคารกลางต่างๆ มีแนวโน้มที่จะกำหนดนโยบายของตัวเองไปในทิศทางแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งธนาคารกลางของทั้งสหรัฐและยุโรปนั้นต่างก็มีแผนการของตัวเองอย่างชัดเจน ในขณะที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นนั้นมีแนวโน้มที่จะผ่อนผันการดำเนินการนโยบายที่เข้มงวดในแบบเดิม

อย่างไรก็ตามทุกคนไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลกับความแม่นยำของตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในปี 2018 มากนัก เพราะสิ่งที่นักลงทุนทั้งหลายควรจะรับรู้คือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังดีอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้ออาจจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย และธนาคารกลางในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะค่อยๆ เข้มงวดด้านนโยบายขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมน่าตื่นเต้นดีทีเดียว และไม่มีความจำเป็นต้องทำให้เรื่องของจุดทศนิยมต่าง ๆ เป็นเรื่องใหญ่ แต่อย่างใด

*** ชื่อเต็มเรื่อง: นักเศรษฐศาสตร์ไม่ควรคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจ

แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ (2018) ยังดีอยู่ 

โดย....พอล โดโนแวน

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากยูบีเอส