จับจังหวะลงทุน

จับจังหวะลงทุน

จับจังหวะลงทุน

หลังจากแนะนำพอร์ตการลงทุนสำหรับครึ่งแรกของปีนี้ไป หลายท่านรู้สึกสนใจที่จะจัดพอร์ตการลงทุนมากขึ้น แต่ก็ห่วงว่าการจัดสรรเงินเข้าไปในตลาดหุ้นหรือทองคำ ในช่วงขาขึ้นแบบนี้จะดีหรือ ไม่สายเกินไปแล้วหรือ วันนี้จะขอเขียนถึงจังหวะการลงทุนค่ะ จริงๆแล้วเคยเขียนไปแล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อน รวมเล่มไว้ใน เส้นทางนักลงทุน เส้นทางผู้ประกอบการ จัดพิมพ์โดยฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ปัจจุบันน่าจะหาซื้อยากแล้ว

จังหวะการลงทุนที่จะเขียนถึงในสัปดาห์นี้ เป็นจังหวะการลงทุนสำหรับพอร์ตการลงทุน ซึ่งจะแตกต่างจากจังหวะการลงทุนของหลักทรัพย์รายตัวอยู่บ้างค่ะจึงอยากให้ท่านผู้อ่านนำไปประยุกต์ใช้ด้วยความเข้าใจด้วย

จังหวะการลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะเข้าลงทุน โดยจะสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ลงทุนระยะสั้น แต่ความสำคัญน้อยลงไปสำหรับผู้ลงทุนระยะยาว เนื่องจากในระยะยาวแล้วความผันผวนจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนโดยรวมมากนัก เว้นเสียแต่โชคร้ายจริงๆ เข้าไปในจุดสูงสุดของตลาดในรอบใหญ่ (สำหรับหลักทรัพย์รายตัว จะมีรอบหลายรอบ ผู้ลงทุนจึงยิ่งต้องพิถีพิถันกับการจับจังหวะลงทุนมากกว่าการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอ)

สำหรับบางคน การจับจังหวะเป็นเรื่องที่ยากมากจริงๆ ไม่ว่าจะเข้าจะออก ผิดจังหวะไปหมด อย่างนี้แนะนำว่าให้ใช้บริการของกองทุนรวม และใช้วิธีเฉลี่ยลงทุน หรือที่เขาเรียกกันว่า DCA(Dollar Cost Average) โดยซื้อไปเรื่อยๆ สม่ำเสมอทุกๆ งวด ซึ่งอาจจะเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส

สำหรับเซียนการลงทุน การจับจังหวะการลงทุนจะอยู่ในสายเลือดค่ะ เหมือนกับมีสัญชาตญาณที่จะรู้สึกว่า ควรจะเข้าลงทุน หรือควรจะออก ซึ่งอธิบายได้ว่า ไม่ได้มีฌาณอะไรพิเศษ แต่เกิดจากความชำนาญและประสบการณ์ เคยพบเห็นเหตุการณ์บ่อยๆ หากช่างสังเกต และจดจำรูปแบบหรือแพทเทิร์นได้ ก็จะเดาได้ว่าทิศทางจะไปในรูปแบบใดต่อไปค่ะ

ถามว่า ณ จุดนี้ควรจะเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มไหม สามารถตอบได้อย่างกว้างๆว่า ยังสามารถเข้าลงทุนได้ แต่หากรอเข้าจังหวะที่มีการปรับตัว น่าจะเหมาะสมกว่า ซึ่งเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กูรูตลาดเกิดใหม่ ดร.มาร์ค โมเบียส ได้มาพูดในงานสัมมนาของไพรเวทแบงก์ของธนาคารกสิกรไทย ว่าตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นกันอย่างมากมาย ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา กลายเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ยาวนานอันดับที่สองในประวัติศาสตร์ พร้อมที่จะหาเหตุปรับตัวลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นควรจะหาจังหวะในการเข้าลงทุนเมื่อตลาดปรับตัวลง แต่การปรับนี้จะใช้เวลาสั้น เพราะปัจจัยยังเอื้อให้ตลาดเดินหน้าต่อไป และมองว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของตลาดหุ้น และแน่นอนว่า ดร.โมเบียส ชอบตลาดเกิดใหม่มากกว่าตลาดพัฒนาแล้วค่ะ

ดิฉันก็เห็นไปในทิศทางเดียวกับ ดร.โมเบียสค่ะ ดังนั้นหากจะถามว่ายังเข้าลงทุนได้ไหม ดิฉันเห็นว่าได้ แต่ควรทยอยเข้า หรือรอเข้าเมื่อปรับตัวลง

การมีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำ จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีภูมิต้านทานต่อความผันผวนได้ดีกว่าผู้ที่ลงทุนโดยมีต้นทุนสูงกว่าค่ะ

ที่สำคัญคือ ต้องมีการกระจายความเสี่ยง โดยการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอ ไม่กระจุกอยู่ในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งทั้งหมด เช่น หุ้น หรือในหลักทรัพย์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง

สำหรับผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ตั้งแต่ต้นปีมีดังนี้

หุ้นของตลาดเกิดใหม่ ให้ผลตอบแทน 5.96% ตามมาด้วยหุ้นของสหรัญวัดโดยดัชนีดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้นมา 5.25% หุ้นญี่ปุ่นปรับขึ้น 4.58% เท่ากับราคาน้ำมัน หุ้นทั้งโลกวัดโดยดัชนี MSCI World ปรับขึ้น 4.43% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.14% ทองคำปรัยตัวเพิ่มขึ้น 2.63% สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.59% ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลไทบปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.45% อสังหาริมทรัพย์โลก ปรับตัวลดลง 2.99% และบิตคอยน์ตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวลดลงมา 18.01%

สำหรับค่าเงินในปีนี้ เงินปอนด์แข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยแข็งค่าขึ้นถึง 3.13% ส่วนเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.36% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

เขียนถึงเงินแล้วก็จำได้ว่า ไม่กี่วันหลังจากที่ดิฉันเขียนเตือนเรื่องบิทคอยน์ ราคาก็ปรับตัวลงมาอย่างรุนแรง ณ ตอนนี้ ดิฉันก็ยังอยากเตือนว่า อย่าเพิ่งไปยุ่งกับเงินดิจิทัลเลยนะคะ เอาไว้รอให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ออกเงินดิจิทัลมา และมีกฎหมายรองรับดีกว่า และรัฐก็ควรศึกษาเพื่อตัดสินใจว่าจะออก/ไม่ออกเร็วๆ ด้วยค่ะ มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้เกิดการฟอกเงินกันได้อย่างสนุกสนานเลยทีเดียว

หากท่านเปรียบเทียบผลตอบแทนใน 18 วันแรกของปี กับผลตอบแทนที่ดิฉันคาดหวังเอาไว้สำหรับปีนี้ ก็จะพบว่าดิฉันคาดว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีก

ขอให้ท่านประสบความสำเร็จในการสามารถหาจังหวะในการลงทุนได้ถูกต้องนะคะ อย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูล ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และจับจังหวะการลงทุนให้ดี

ขอขอบคุณข้อมูลผลตอบแทนจากบลูมเบิร์ก ที่รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ