“CSR” ไม่ใช่แค่เทรนด์

“CSR” ไม่ใช่แค่เทรนด์

คงไม่ช้าเกินไปที่จะกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่ 2561” แก่คุณผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ปีใหม่ปีนี้ เป็นปีที่ดีที่สุดของทุกๆ ท่านนะคะ

ผ่านไปอีกปี แต่สำหรับคอลัมน์ Social Trends ดิฉันยังคงสรรหาเรื่องราวที่น่าสนในแวดวงธุรกิจเพื่อสังคมมาฝากทุกท่านกันเช่นเคยค่ะ

ฉบับต้อนรับศักราชใหม่นี้ ขอพูดถึงแนวโน้มของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ “ซีเอสอาร์” (CSR) ที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการรายเล็กๆ แต่แท้จริงแล้ว CSR ได้ซึมซับเข้าไปอยู่ในธุรกิจในทุกระดับ องค์กรทุกประเภท และหน่วยงานทุกหน่วยงาน จนแทบจะกลายเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของทุกองค์กรเลยก็ว่าได้

สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ The World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ได้ให้ความหมายของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ไว้ว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรคือความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของธุรกิจต่างๆ ในการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งพนักงานและครอบครัวไปจนถึงชุมชนและสังคมโดยรวม” ซึ่งคำจำกัดความนี้ครอบคลุมทั้งด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชาชน ชุมชน สังคม ซึ่งทั้งหมดก็คือโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่นั่นเอง

  “ซานดรา โนโมโต ซีอีโอจาก Conscious Public Relations Inc. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ต้องให้ความสำคัญในการริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคมให้มากขึ้น หากองค์กรนั้นๆ ต้องการดึงดูดและรักษาพนักงานดีๆ ไว้ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ โดยผลการสำรวจจาก 2017 Deloitte Millennial Surveyพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคMillennials หรือ Gen Me (คนที่เกิดระหว่างปีค.ศ. 1980-2000) จำนวน 9 ใน 10 คนเชื่อว่าความสำเร็จของธุรกิจนั้นควรมีมิติการวัดที่หลากหลายมากว่าด้านการเงินหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว

แล้วธุรกิจต่างๆ หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดเล็กเองจะเริ่มต้นทำธุรกิจอย่าง “รับผิดชอบ” หรือมีความรับผิดขอบต่อสังคมได้อย่างไร ลองเริ่มจากแนวคิดด้านล่างนี้ค่ะ

  1. กำหนดคุณค่าขององค์กร(Values) ของตนหากคุณเริ่มทำธุรกิจ การกำหนดเป้าหมายว่าธุรกิจของคุณนั้นทำไปเพื่ออะไรหรือสร้างคุณค่าอย่างไร รวมถึงยังได้บอกเป้าหมายนั้นให้พนักงานและชุมชนได้รับรู้ คุณค่าองค์กรจะทำให้ธุรกิจของคุณมีความโดดเด่นและมีความชัดเจนขึ้นมา
  2. ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิดค้นอะไรใหม่ๆ หากมีของเดิมที่ดีอยู่แล้วลองหาแรงบันดาลใจจากองค์กรหรือธุรกิจที่มีนโยบายหรือวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโครงการ CSR ที่ดีและเหมาะกับธุรกิจของคุณ และลองนำมาปรับใช้ดูบ้างก็ไม่ผิดอะไร
  3. รู้จัก ห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองหากคุณผลิตหรือจำหน่ายสินค้าใดๆ คุณได้ลองดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้านั้น “ปลอดภัย” สำหรับลูกค้าแล้วหรือยัง? หรือหากคุณเป็นผู้ให้บริการ คุณได้ดำเนินการตรวจสอบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งหมดของธุรกิจของคุณ รวมถึงของผู้ให้บริการรายอื่นๆ แล้วหรือยัง?
  4. สร้างนโยบายCSR และกิจกรรม CSR เพื่อทำร่วมกับพนักงานมีหลายวิธีที่คุณสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านต่างๆ ที่หลากหลาย ตั้งแต่การบริจาค การกุศล ไปจนถึงภารกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคมในด้านต่างๆ
  5. บอกให้โลกรับรู้ถึงภารกิจเพื่อสังคมขององค์กรของคุณหากคุณดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมาโดยตลอด แต่กลับไม่ได้บอกให้ผู้อื่นรับรู้ถึงสิ่งดีๆ ที่ได้ทำ ลูกค้าก็จะไม่มีทางได้รู้หรือไม่สามารถแยกแยะได้ว่าธุรกิจของคุณนั้นมีความแตกต่างหรือโดดเด่นกว่าคู่แข่งอย่างไร รวมถึงหากได้ใบรับรองหรือใบประกาศจากสถาบันหรือองค์กรภายนอก ก็จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมได้เช่นกันค่ะ

  อย่างที่บอกว่า CSR นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจที่คำนึงถึง ความยั่งยืนและ ผลกระทบทางสังคมมากขึ้นเช่นในยุคปัจจุบัน ที่ทำให้เรื่องของ CSR นั้นไม่ใช่แค่เทรนด์หรือนโยบายประเภท Nice to have (ถ้ามีก็ดี) แต่เป็น Must have (จำเป็นต้องมี) สำหรับทุกธุรกิจไปแล้วค่ะ