'สุวพันธุ์'แจงยิบผลงานด้านกฎหมาย

'สุวพันธุ์'แจงยิบผลงานด้านกฎหมาย

“สุวพันธุ์” แจงยิบผลงานด้านกฎหมาย เผย “วิษณุ” หนุนให้งานนโยบายด้านอื่นดำเนินไปบนหลัก “ธรรมาภิบาล-โปร่งใส-ปลอดโกง-ใช้กฎหมาย”

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน งานด้านปราบปรามการทุจริตและปรับปรุงกฎหมายว่า นโยบายที่ 10 นั้นเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน ผลการดำเนินการในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง 923 เรื่อง ไต่สวนข้อเท็จจริง 718 เรื่อง เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาด้วย สร้างเครื่องมือประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ของการดำเนินการของรัฐ ทางรัฐได้นำตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับในระดับระหว่างประเทศมาใช้ให้หน่วยงานของรัฐไปปฏิบัติ

รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน่วยราชการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้าน การทุจริตในหน่วยงานภาครัฐให้เกิดขึ้นด้วย มีการบูรณาการกับภาคีเครือข่ายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ในส่วนของการดำเนินงานนโยบายของรัฐบาลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา จะมีกลไกเพิ่มมา 2 กลไกที่จะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล คือ กลไกของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ(คตป.) จะเห็นได้ว่า คตป. จะเริ่มติดตามและตรวจแผนงานโครงการสำคัญที่มีงบประมาณสูง ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยจะดูทั้งประสิทธิภาพและความโปร่งใส หลังจากนั้นเมื่อครบ 1 ปี ก็จะมีการตรวจสอบและประเมินผลสัมฤทธิ์ ที่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ตามการใช้จ่ายงบประมาณหรือไม่ และการใช้จ่ายงบประมาณนั้น คุ้มค่ากับที่รัฐได้จ่ายลงไปหรือไม่

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับกลไกตัวที่ 2 ที่อยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งมีบทบัญญัติให้ทุกส่วนราชการ ต้องดำเนินการเปิดเผยข้อมูลของการจัดซื้อจัดจ้าง และปัจจุบันก็มีคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผล ความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย เพราะฉะนั้นทั้ง 2 กลไกนี้จะช่วยในการที่จะก่อให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในส่วนราชการ ซึ่งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังดำเนินการอยู่โดยเข้มงวด มีทั้งลำดับการปลูกฝัง ต้องไม่โกง มีทั้งหลักการ ป้องกัน วางระบบให้การทุจริตนั้นทำได้ยาก และถูกจับง่าย มาตรการปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิด โดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม ช่วยดำเนินการ 6 เดือนที่ผ่านมา มีการดำเนินการสำคัญ คือ เรื่องของการป้องกันการทุจริตโครงการช่วยเหลือชาวนา โครงการสร้างสนามฟุตซอล ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณปี 2555 , ตรวจสอบการใช้เงินอุดหนุนระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ , ตรวจสอบการบริหารงานของกองทุน ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และตรวจสอบการซื้อเครื่องออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้กำลังดำเนินการบางเรื่องส่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไปแล้ว เรื่องอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ก็มีหลายเรื่องด้วยกัน 

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของธรรมาภิบาลนั้น กฎหมายอำนวยความสะดวก ในเรื่องของการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ จะมีผลในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ หลักการง่ายๆ คือเร็วขึ้นง่ายขึ้นและถูกลง ซึ่งจะทำให้ประชาชนและภาคเอกชนนั้นสามารถเข้าถึง การขออนุญาตของทางราชการได้ดียิ่งขึ้น ตอนนี้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็กำลังจัดทำคู่มือประชาชนอยู่นอกจากนั้นแล้วยังมีจีพอยต์ (government service point) ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างภาคราชการและเอกชน โดยเฉพาะเราได้เปิดศูนย์บริการที่เซนทรัลเวิร์ลและห้างสรรพสินค้าในเครือ ทุกวันจันทร์-วันอาทิตย์ 11.00 น.-19.00 น. ผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 100 คน ก็จะมีการดำเนินการต่อไป

รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นในนโยบายที่ 10 ของรัฐบาล ในเรื่องของการสร้างธรรมาภิบาล ป้องกันการทุจริต และที่สำคัญคือการที่ให้หน่วยราชการเร่งปรับปรุงระบบการบริหารต่างๆ รวมทั้งฐานข้อมูลที่จำเป็น การบริหารจัดการ การลดขั้นตอนการบริการ ส่วนนโยบายที่ 11 ซึ่งเป็นนโยบายสุดท้ายของรัฐบาล คือ เรื่องของการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หลักการของกระบวนการยุติธรรมซึ่งทางรัฐบาลได้ย้ำมาตลอดคือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การทำให้สังคมเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศ

“ตั้งแต่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา ได้นำกฎหมายมาทบทวน ปรับปรุง และทำใหม่ รวมทั้งสิ้น 358 ฉบับด้วยกัน ฉะนั้นบัญชีกฎหมายที่อยู่ในรัฐบาลปัจจุบันมีทั้งสิ้น 358 ฉบับ กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว มีทั้งสิ้น 72 ฉบับ บางฉบับได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วบางฉบับกำลังรออยู่ แต่ในร่างทั้ง 72 ฉบับนี้มีกฎหมายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนและต่อประเทศชาติ ยกตัวอย่าง เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เนื่องจากเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศไทย แก้ไขปัญหาขบวนการการค้ามนุษย์และแรงงายข้ามชาติซึ่งจะสามารถทำให้งานส่วนนี้เดินหน้าไปได้ พ.ร.บ.การทวงหนี้ ประชาชนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหนี้ทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ การทวงถามหนี้ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม ผู้ประกันตนก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์ ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นโดยรวมทั้งผู้ประกันตน ผู้ประกอบการ และธุรกิจโดยรวม” นายสุวพันธุ์ กล่าว

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า กฎหมายอีกฉบับ 1 ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ คือ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกมีการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ทั้งหมดนี้ก็ได้ประกาศใช้มาแล้ว มีอีก 28 ฉบับที่อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ชั้นกรรมาธิการ เช่น พ.ร.บ.รับผิดทางแพ่งจากมลพิษน้ำมัน เครื่องสำอาง การควบคุมอาคาร การชุมนุมสาธารณะ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นต้น สภากำลังเร่งดำเนินการ ทางรัฐบาลก็ประสานกับ สนช.เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป 

รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีอีก 1 ฉบับกำลังรอเข้าพิจารณาวาระที่ 1 ของสนช. คือ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทุนต่างๆ 115 กองทุนที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มี 4 ฉบับอยู่ในขั้นของวิปรัฐบาล ซึ่งจะเริ่มประชุมสัปดาห์หน้านี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นต้น โดยจะนำเสนอต่อสนช.ต่อไป อย่างไรก็ตาม สรุปงานตามนโยบายที่ 10 และ 11 ซึ่งนายวิษณุดูแลอยู่เป็นงานที่เป็นส่วนสนับสนุน ให้งานนโยบายด้านอื่นๆ นั้นสามารถดำเนินไปได้บนหลักการสำคัญคือ มีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้กฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมต่อไป