ขาดเธอฉันคงขาดใจ เมื่อคนแก่ต้องช่วยคนแก่

ขาดเธอฉันคงขาดใจ เมื่อคนแก่ต้องช่วยคนแก่

ฐบาลวางแผนจะรณรงค์ให้คนแก่ช่วยคนแก่ เนื่องจากคนแก่จำนวนมากถึงกว่า 8.1 ล้านคนที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน

 แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นคนจน แต่มีตั้งแต่ฐานะดีถึงปานกลาง มีเพียงคนแก่ 3.5 ล้านคนที่ถือเป็นคนยากจน โดยมีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2,644 บาท แล้วก็คาดหวังว่าจะมีคนแก่ที่ไม่จน มาสละสิทธิเป็นล้านๆคน เพื่อที่จะได้มีเงินมาช่วยคนแก่ยากจนเพิ่มขึ้น

เหมือนกับว่าขาด (คนแก่เช่น) เธอ ฉัน (รัฐบาล) คงขาดใจ

ดูวิธีบริหารจัดการสังคมของรัฐบาลแล้ว รู้สึกว่าจะทำอะไรฉาบฉวยเกินไป กลับไปกลับมาแบบนี้ สังคมจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้น เพราะคนที่เคยได้ แล้วไม่ได้ ไม่ว่าจะเพราะเหตุผลอะไร ก็คงจะหงุดหงิดใจไม่มากก็น้อย

ดูอย่างโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค ซึ่งพอพุดถึงการร่วมจ่ายทีไร ก็มีปฏิกิริยาจากมวลชนขึ้นมาทันที หรือแม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่กำหนดให้เก็บ 10% แต่เก็บจริงแค่ 7% จนป่านนี้ ก็ไม่เคยเก็บ 10% ได้เลย เกือบจะเป็นเรื่องเลยตามเลย ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะกับมวลชน

จริงๆแล้วรัฐบาลก็กำลังจะออกกฎหมาย พรบ. ผู้สูงอายุฯ และจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ โดยเก็บเงิน 2% ของรายได้ภาษีสุราจากกรมสรรพสามิต ไม่เกินปีละ 4,000 ล้านบาท แต่ถ้าพิจารณาจากแผนการเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จึงคิดว่า อย่าว่าแต่เงินภาษี 4,000 ล้านบาทเลย แม้กระทั่ง 40,000 ล้านบาท ก็คงไม่พอ

รัฐบาลมีกองทุนช่วยเหลือประชาชนแบบหว่านแหมากเกินไป โดยไม่ได้พิจารณาความจำเป็นเฉพาะราย ไม่ว่ากองทุนชราภาพ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนหมู่บ้าน และอีกมากมายหลายกองทุน ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการหว่านเพื่อให้ทุกคนได้โดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน

วิธีการแบบนี้ รัฐบาลคาดหวังว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจครอบครัว

แต่ในความเป็นจริง ถ้าทุกคนได้เหมือนกันหมด ความเหลื่อมล้ำ ก็คงยังมีต่อไป เพราะมันถูกยกขึ้นทั้งแผงโดยทุกคนได้หมด ไม่ได้พิจารณาความต้องการและความจำเป็นอย่างแท้จริงของแต่ละคนแต่ละครอบครัว

อยากให้รัฐบาลคิดใหม่ เหมือนอย่างที่ออกบัตรสวัสดิการสำหรับผู้ลงทะเบียนเป็นคนจนที่ดำเนินการอยู่ แยกแยะ และเอาเงินที่หว่านไปกับกองทุนต่างๆคืนมาจัดสรรใหม่ เฉพาะผู้จำเป็นเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ

ที่คิดจะไปขอร้องให้คนไม่จนสละสิทธินั้น สามารถทำได้ แต่จะได้ผลหรือไม่ เพียงใด บอกตรงๆว่าไม่แน่ใจเลย

รัฐบาลน่าจะจัดทำกองทุนแห่งชาติ รวมทรัพยากรที่ใช้ไปทั้งหมดมาจัดสรรใหม่ แยกแต่ละกองทุนย่อย เฉพาะผู้มีความจำเป็น และติดตามประเมินผลเป็นระยะ เพื่อให้เงินทุกบาทมีประโยชน์อย่างแท้จริง

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็คงต้องลากซี่โครงหาเงินมาโปะทุกปี ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนอะไรๆที่เกี่ยวกับสุขภาพๆยิ่งต้องให้ความสำคัญ เพราะคนแก่เพิ่มขึ้นทุกปี ค่าใช้จ่ายดูแลรักษาผู้สูงอายุจะพุ่งขึ้นอย่างไม่มีเพดานจำกัด

ใครที่ไม่ได้จนจริงก็ต้องร่วมจ่ายเป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอนไปเหมือนอัตราภาษีแบบก้าวหน้า เฉพาะคนที่ลงทะเบียนคนจน 11 ล้านคนเท่านั้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายรายหัวอาจเพิ่มสูงขึ้น แต่การที่ไม่ต้องจ่ายทั้งหมดให้คนที่ใช้สิทธิทั้งๆที่ไม่ได้จนจริงอีก 37 ล้านคนนั้น จะช่วยรัฐประหยัดเงินมหาศาล