เหตุผลที่คนเราเลือกเผชิญหน้ากับความเสี่ยงอย่างไร้เหตุผล

เหตุผลที่คนเราเลือกเผชิญหน้ากับความเสี่ยงอย่างไร้เหตุผล

คนส่วนมากมักเชื่อคำอธิบายง่าย ๆ ในกรณีที่มีกลุ่มคนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงเป็นประจำ เช่น นักลงทุนธุรกิจ หรือชาวไร่ชาวนา

ที่ต้องประสบกับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงแล้วขาดการป้องกันความเสี่ยงอย่างเพียงพอล่วงหน้าว่า เป็นเพราะพวกเขาขาดความรู้ความเข้าใจหรือขาดข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ หรือไม่ก็อาจเพราะว่าพวกเขาเป็นคนประเภทบ้าบิ่นโฉดเขลาไร้เหตุผลไปเลย

ผู้เขียนขอยกกรณีตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นและเคยเกิดซ้ำบ่อยครั้งแล้วจากอดีต จำนวน 2 เหตุการณ์ด้วยกัน เพื่อโต้แย้งกับความเชื่อดังกล่าวข้างต้นว่าไม่น่าจะถูกต้องอย่างที่เข้าใจกัน

เหตุการณ์แรกได้แก่กรณีความเสียหายที่เกิดจากพายุเฮอร์ริเคน ฮาร์วีย์ ที่พัดเข้าถล่มรัฐเท็กซัสของสหรัฐและตามมาด้วยอีกลูกคือ พายุเฮอร์ริเคน เออร์มา ที่พัดเข้ารัฐฟลอริดาของสหรัฐ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน พายุทั้ง 2 ลูกนี้ได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตผู้คนอย่างมาก ประมาณการความเสียหายในเบื้องต้นเฉพาะจากพายุ เฮอร์ริเคนก็คาดว่าจะมีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ราว 65-180 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ประมาณการความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคนเออร์มา ก็จะตกอยู่ราว 50-100 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐก็ต้องเผชิญกับภัยพายุเฮอร์ริเคนครั้งใหญ่ๆ อยู่เป็นประจำ เช่น กรณีของพายุเฮอร์ริเคน แคทรีนา ที่นิวออร์ลีนส์ เมื่อปี ค.ศ. 2005 

หลังจากนั้นก็มีพายุใหญ่ตามมาในปีต่อๆ มาอีกหลายลูก คำถามสำคัญก็คือว่า ทำไมประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้จึงไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงให้เพียงพอกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และหากพิจารณาดูจากตัวเลขประชากรที่อาศัยอยู่ตามแนวบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลที่มีความเสี่ยงจากภัยพายุเฮอร์ริเคนแล้ว ก็พบว่าในปี ค.ศ. 2010 มีประชากรมากกว่า 123.3 ล้านคน ที่ตั้งหลักเหล่งอยู่ตามชายฝั่งทะเล และคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2020 ก็จะมีประชากรเพิ่มมากขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ทั้งๆ ที่ก็มีข้อมูลแพร่หลายในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ได้คาดการณ์ถึงภัยพายุเฮอร์ริเคนที่จะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนก็ตาม 

นอกจากนี้แล้ว ยังมีประชากรอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้ซื้อประกันภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้เพียงพอด้วย เช่น จากกรณีศึกษาล่าสุดที่เกิดขึ้นที่รัฐเท็กซัสและรัฐฟลอริดานั้น ปรากฏว่ามีประชากรในรัฐเท็กซัสและรัฐฟลอริดาเพียงประมาณ 20% และ 18% ตามลำดับ เท่านั้นที่ได้มีการทำประกันภัยความเสียหายของบ้านอยู่อาศัยจากภัยพายุเฮอร์ริเคนไว้ล่วงหน้าที่เพียงพอ คำถามสำคัญก็คือว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงไม่คิดจะรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้

ตัวอย่างกรณีที่ 2 เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐปัจจุบัน ที่ต่างพากันหันไปลดการถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล แล้วไปถือสินทรัพย์เสี่ยงประเภทหุ้นในสัดส่วนที่สูงจนเกินพอดีเพื่อหวังจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยประเมินความเสี่ยงของการขาดทุนในระดับที่ต่ำจนเกินไป ทั้ง ๆ ที่ก็มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากออกมาเตือนเป็นระยะแล้ว เช่น Prof. Robert Shiller จากมหาวิทยาลัยเยล ได้นำเสนอดัชนีสัดส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่ารายรับจากผลประกอบการที่เขาคำนวณขึ้นเองเพื่อชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน ดัชนีดังกล่าวมีค่าสูงกว่าเกณฑ์ปกติที่เคยเป็นมา ซึ่งบ่งชี้ถึงโอกาสของการเกิดภาวะฟองสบู่ในราคาหุ้น ซึ่งก็สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับคำเตือนของนาย Alan Greenspan อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐที่กล่าวว่า ขณะนี้ราคาของพันธบัตรเอกชนก็มีมูลค่าที่สูงเกินจริงไปมากเช่นกัน คำถามก็คือว่า ทำไมนักลงทุนซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับวิธีการบริหารความเสี่ยงในตลาดทุนได้ดีกว่าคนทั่วไป จึงพากันประเมินความเสี่ยงของตลาดทุนในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นจริงได้

คำตอบของทั้ง 2 กรณีตัวอย่างข้างต้น น่าจะเป็นว่า ปัญหาที่กล่าวมานั้น ไม่ได้เกิดจากความไร้เหตุผลหรือขาดข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่อาจเป็นตรงกันข้ามว่า การตัดสินใจเหล่านั้นสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณีด้วยซ้ำไป

ในกรณีของภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคนนั้น แม้ว่าประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจะได้รับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดเกี่ยวกับขนาดและความถี่ของปัญหาว่า น่าจะเพิ่มมากขึ้นตามภาวะปัญหาโลกร้อน แต่ผลประโยชน์ที่ผู้คนได้จากราคาที่ดินและราคาสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้กลายเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้คนต่างย้ายเข้ามามากขึ้น และแม้ว่ากฎหมายจะได้บังคับให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องซื้อประกันภัยคุ้มครองบางส่วนแล้วก็ตาม (โดยที่รัฐบาลกลางมีส่วนให้การอุดหนุนเบี้ยประกันผ่านโครงการกองทุนป้องกันภัยพิบัติที่ชื่อ National Flood Insurance Program ที่ต้องแบกรับภาระการขาดทุนแทนและใช้ภาษีส่วนอื่นมาชดเชยในที่สุด) แต่ก็ยังเป็นการประกันภัยที่ไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด เพราะชาวบ้านผู้ทำประกันทราบดีว่า เมื่อเกิดปัญหาก็จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางในที่สุด ซึ่งก็คือปัญหาในเชิง จริยาวิบัติ (moral hazard) นั่นเอง 

ส่วนกรณีตัวอย่างที่สองก็มีเหตุผลคล้ายๆ กัน ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เคยได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินแบบ QE มาเป็นเวลาหลายปี ก็จะยังหวังว่าตัวเองจะทำกำไรได้ต่อไปจากนโยบายประชานิยมของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการลดภาษีเงินได้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในสหรัฐต่อไปนั่นเอง

ดังนั้น ทั้ง 2 เหตุการณ์ข้างต้นจึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้คนทั่วไปยอมรับความเสี่ยงแบบไร้เหตุผลนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นผลมาจากการคาดการณ์อย่างมีเหตุผลว่าจะได้รับความช่วยเหลือฟรีจากรัฐในที่สุดนั่นเอง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นวัฎจักรปัญหาที่วนเวียนซ้ำรอยเดิมอย่างไม่รู้จบ ตัวอย่างการขยายบทบาทของรัฐที่มากไปจนทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหายอย่างมากในที่สุด ก็คือกรณีของประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งรัฐบาลไทยควรที่จะได้พิจารณาใช้ประโยชน์สำหรับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อให้เปิดกว้างสำหรับความคิดเห็นต่าง ก็จะช่วยเพิ่มความรอบคอบได้เป็นอย่างดี