สังคมอารมณ์อ่อนไหว

สังคมอารมณ์อ่อนไหว

อยากจะขอร้องท่านทั้งหลายในวันที่เรากำลังมีเข็มทิศเข้าสู่“ไทยแลนด์ 4.0”ให้ช่วยกันเปลี่ยนสังคมไทย ที่อ่อนไหว เป็นสังคมที่ใช้เหตุและผลมากขึ้น

น่าจะทำให้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย ทั้งเรื่องในกระบวนการยุติธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความมีระเบียบวินัยเคารพกฎกติกาของสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

จริงๆ ศัพท์แสงทาง “สังคมวิทยา” มีคำสำคัญเป็นภาษาอังกฤษอยู่คำหนึ่ง คือ “Moral panic” หรือ ความอ่อนไหวต่อปรากฏการณ์บางอย่างทางสังคม อาจเกิดด้วยความเห็นอกเห็นใจ หรือ เกิดจากความเลวร้ายเหนือความคาดหมายของปุถุชนคนทั่วไป เรียกรวมๆ ว่าอะไรที่เกินกว่าความคาดหวังของคนส่วนใหญ่จะทำให้เกิดปฏิกิริยา “ตื่นตระหนกอกสั่นขวัญแขวนหรือกระทั่งบีบน้ำหูน้ำตาส่งเสียงอื้ออึงต่อเรื่องนั้นๆ แต่ที่น่าสนใจ คือ ท้ายที่สุด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางดีกว่าเดิมในสังคมนั้นๆ “แม้ว่าสังคมไทยในยุคปัจจุบันไม่แตกต่างนักกับสิ่งที่กล่าวถึง แม้จะไม่ตรงกับคำในภาษาอังกฤษนี้สักทีเดียว ดูเหมือนจะคล้ายกับคำว่า “Dramatic society  หรือ สังคมแห่งความมายาเสแสร้ง” เสียมากกว่า

เรียนว่าสิ่งที่หยิบยกมาเชื่อมโยงถึงนี้ไม่มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์องค์กร บุคคล หรือ ผู้หนึ่งผู้ใดให้เกิดความเสียหาย และไม่ต้องการเชื่อมโยงไปถึงคดีความต่างๆ ที่อาจอยู่ระหว่างดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม ให้ถือเป็นการนำเอาปัญหาที่หมักหมมและเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาหรือปฎิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีมาตีแผ่ จะได้ช่วย ลด ละ เลิก หรือ หลีกเลี่ยง สิ่งอันเป็น “สารพิษ (toxic)” กัดกร่อนบ่อนทำลายสังคมมาช้านาน จะได้ทำให้พวกเราได้เห็นรากเหง้าของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่มักโทษโน่นนี่ แต่คนส่วนใหญ่ลืมนึกถึงสิ่งที่ตัวเองประพฤติปฎิบัติอันเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งกว่า

มีอยู่หลายคดีความที่ผมมีเพื่อนฝูงรู้จักสมัครรักใคร่กับบุคคลที่อยู่ในฐานะจำเลย บางคดีดังเป็นที่สนใจของสังคม ปรากฎว่า “อคติ 4” ที่พระท่านระบุว่า ประกอบด้วย “ รัก โลภ โกรธ หลง” เข้าครอบงำบุคคลแวดล้อมผู้ถูกกล่าวหาอย่างหน้ามืดตามัว แก้ต่างแทนจำเลยได้ทุกเรื่อง ราวกับว่าเป็นญาติสนิทเลี้ยงดูอุ้มชูกันมา สืบสาวราวเรื่องพบความจริงว่า บุคคลเหล่านี้ในอดีตเคยเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรสำคัญๆ กับตัวจำเลย หรือ ได้รับของชำร่วย ของขวัญ ของแถมหรือบริการต่างๆ ที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของธุรกิจมอบให้เพื่อนร่วมรุ่นอย่างซาบซึ่งตรึงใจ ทำให้ “หนี้บุญคุณ” บดบังสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ตามืดบอดเห็นผิดเป็นถูกไปทุกเรื่อง เห็นอกเห็นใจไปถึงญาติพี่น้องของจำเลยที่ติดบ่วงติดร่างแหไปด้วยว่า ถูกกลั่นแกล้ง ถูกคู่แข่งอิจฉาในความร่ำรวย บ้างพยายามวิ่งเต้นหาทางให้เพื่อนร่วมรุ่นที่มีอำนาจในด้านต่างๆ ทางราชการ ช่วยเหลืออนุเคราะห์ เมื่อไม่เป็นตามที่ต้องการหรือที่ร้องขอ ก็ก่นด่าประณามเพื่อนเหล่านั้นว่า มีอำนาจแต่กลับไม่ช่วยเหลือเพื่อนฝูงเพื่อนร่วมรุ่น

ผมเคยจำได้ว่า สมัยเรียนหนังสือที่สหรัฐ เวลานั้นมีคดีอุกฉกรรจ์หลายคดี รวมไปถึงคดีฉ้อโกงเงินๆ ทองๆ ทุจริตคอร์รัปชัน ถูกซีเอ็นเอ็น ตั้งกล้องไปถ่ายกระบวนการพิจารณาคดีกันถึงในโรงศาล อาจารย์ที่สอนอาชญาวิทยาได้นำมาเป็นกรณีศึกษาในชั้นเรียนว่า นี่มันเป็น show trial แปลง่ายๆ ว่า เป็นการพิพากษาตัดสินคดีว่าใคร “ตีบทแตกมากกว่ากัน” คือ จะผิดถูกไม่เกี่ยวกับเนื้อหาคดี แต่ขึ้นอยู่กับ “การแสดง” ของแต่ละฝ่าย หลายคดี จำเลยร้องห่มร้องไห้โอดครวญ เหมือนดาราละครน้ำเน่า ผลสุดท้ายคณะลูกขุนยกฟ้องหรือให้ความเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงไปทั้งสังคมอเมริกันในขณะนั้น เรียกว่า พยานหลักฐานกับนิติวิทยาศาสตร์ถ้าไม่มัดตัวจำเลยได้อย่างแน่นหนา มีสิทธิอย่างสูงที่คนผิดจะลอยนวลเข้ารกเข้าพงไปได้ง่ายๆ

วันนี้บ้านเรามีเรื่องราวคล้ายคลึงกับเรื่องคดีความที่ว่ามาแต่ต้น ตั้งแต่เรื่องทางการเมือง ไปถึงเรื่องชาวบ้านทั่วไป ยิ่งมีมวลชนหรือแฟนคลับล้อมหน้าล้อมหลังนอกจากทำความอุ่นใจให้คนที่เป็นดารา นักแสดง นักการเมือง ยังถือเป็นการเรียกแขก หรือเรียกสื่อให้มาทำข่าวขยายผลให้เป็นที่สนใจ บางทีจะไปขึ้นโรงขึ้นศาลก็ต้องแต่งตัวสวยงามหรือสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้เป็นจุดสนใจ บางคนมีคดีติดตัวไปทำบุญไหว้พระเป็นเรื่องน่าเลื่อมใสแต่ดูลึกๆ เหมือนจะดึงเอาศาสนามาเป็นเกราะกำบังขอความเห็นใจ บางคนติดคุกติดตะราง “สื่อเองก็ให้ความสนอกสนใจมากเหมือนเป็น ดาราคิวทอง เพราะข่าวขายได้ คนไทยชอบข่าวดรามา ดูไปดูมา บางคนติดคุกติดตาราง ดังกว่าเป็นดาราในชีวิตจริงเสียอีก เพราะมีคนไปเอาชีวิตเบื้องลึกเบื้องหลังมาตีแผ่ เขียนข่าว ดังเป็นพลุแตก

นี่คือ ตัวอย่างของ “ความอ่อนไหวที่เจือปนอยู่ในสังคมไทย” ที่นับวันจะเป็นการละทิ้งเหตุผลความถูกต้อง เอาอารมณ์ ความรัก ความชอบ ความเกลียดชัง อคติต่างๆ เป็นหลักใหญ่ ถ้าเราจะตัดสินเรื่องต่างๆ กันด้วยวิธีนี้ย่อมน่าเป็นห่วงว่า สังคมจะเดินไปข้างหน้าด้วยความน่าประหวั่นพรั่นพรึง เพราะเมื่อไม่ยึดอยู่บนหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม สังคมจะเกิดปรากฏการณ์ความไม่อยู่กับร่องกับรอยให้กลายเป็นเรื่องปกติ และใครที่เดินทางกฎระเบียบวินัยที่ถูกต้องจะกลายเป็นตัวประหลาด สังคมแบบนี้ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายน่าจะอยู่กันอย่างไม่มีความสุขเท่าที่ควร