ทำบัญชีแบบไม่ปวดหัวบนโลกออนไลน์

ทำบัญชีแบบไม่ปวดหัวบนโลกออนไลน์

ไม่ว่าเราจะเบื่อหน่ายกับวิชาบัญชี ตัวเลข เอกสารแค่ไหน แต่ถ้าคิดจะทำธุรกิจอย่างไรก็หนีไม่พ้นอยู่ดี 

จะเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ไปจนถึงขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่ ผู้บริหารก็ต้องรู้เรื่องบัญชี เพื่อทราบสถานะของบริษัท และนำไปประกอบการตัดสินใจสำหรับการดำเนินกิจการ สมัยก่อนอาจต้องเสียเงินหลายล้านบาท สำหรับซื้อระบบบัญชีมาจัดการปฏิบัติการหลังบ้าน เดี๋ยวนี้มีคนทำหน้าที่นั้นให้ โดยจ่ายในราคาหลักร้อยบาทเท่านั้น!

ภีม เพชรเกตุ ผู้ก่อตั้งพีค แอคเค้านท์(Peak Account) พูดคุยกับรายการ Business 101 ในช่วง 'สายตรงStartup’ เขาเล่าให้ฟังถึงการเสนอบริการด้านบัญชีออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการต่างๆ 

โดยปกติแล้วการทำบัญชีมักถูกมองว่ายุ่งยากและจุกจิก ซึ่งภีมก็ยอมรับ เพราะเรียนจบด้านนี้มาโดยตรง เคยทำงานธนาคารและสำนักงานบัญชี ก็ทำให้เข้าใจโลกธุรกิจได้ดีพอสมควร และพบว่าตัวผู้ประกอบการเอง ก็ไม่ได้นำข้อมูลทางบัญชีไปให้ให้เกิดประโยชน์ได้เท่าที่ควร จึงอยากทำให้เครื่องมือของบัญชีการเงินเป็นอัตโนมัติมากขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน 

ภีม ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการทำมาค้าขาย จากเดิมจ่ายด้วยเงินสดทั้งหมด จนเมื่อระบบธนาคารพัฒนาก็โอนเงินผ่านสถาบันการเงิน จนถึงปัจจุบันที่เราชำระเงินกันได้ออนไลน์ ซึ่งรูปแบบธุรกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่เรื่องเอกสารต่างๆ ก็ยังใช้รูปแบบเดิมๆ คือธุรกรรมเกิดก่อนจากนั้นถึงส่งเอกสารให้ทางบัญชีเพื่อบันทึกข้อมูล จึงคิดสร้าง “พีค แอคเค้านท์” ซึ่งมีจุดเด่นคืนการทำให้โปรแกรมต่างๆ เชื่อมโยงข้อมูลได้ถึงกันโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเห็นยอดขายที่จุดขาย(Point of Sale) บนอินเทอร์เน็ต และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องจริงได้ทันที (Real Time) 

ระบบสามารถตัดสต็อกสินค้า บันทึกต้นทุน ลงบัญชีเสร็จสรรพ ซึ่งสามารถเรียกดูข้อมูลได้ทันที รองรับการทำใบกำกับภาษีสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรืออีแท็กซ์อินวอยซ์(e-Tax Invoice)ได้ ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บผู้ประกอบการเริ่มต้นคิดเดือนละ 500-700 บาทต่อรายเท่านั้น เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก ร้านค้าที่ต้องการลดภาระต้นทุนเรื่องของระบบบัญชีได้พอสมควร

ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ขึ้นชนิดที่ยอดขายเป็นร้อยล้านบาทหรือมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นหลายร้อยรายการต่อวัน ก็จะมีรูปแบบที่ปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับธุรกิจ ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งช่วยลดแรงงานคนที่ต้องมานั่งบันทึกข้อมูลได้และจัดสรรให้คนที่ทำหน้าทีเดิมไปทำงานอื่นที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรจะดีกว่า

ในฐานะสตาร์ทอัพ ภีมมองว่าทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีแรงปราถนาอย่างยิ่ง(Passion)ในการทำงานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ 

สำหรับสตาร์อัพโดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่จุดขายเป็นเทคโนโลยี หรือ เทคสตาร์ทอัพ(Tech Startup) ยิ่งต้องใช้กำลังและความพยายามของแรงงานคน เพราะว่าไม่ได้มีเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรงใดๆ เหมือนธุรกิจประเภทอื่น ซึ่งการพัฒนาคน สร้างคน และดึงคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วยจึงถือว่าเป็นความท้าทายอย่างที่สุด 

พีค แอคเค้านท์จึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เริ่มจากการเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นคือความยุ่งยากของกระบวนการทางบัญชี เมื่อเข้าใจก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจนสร้างเป็นระบบที่เชื่อมต่อกัน และทำเงินได้ในที่สุด 

จะว่าไปถ้าผมเป็นนักบัญชีรุ่นดั้งเดิม ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ คงมีหนาวเหมือนกันนะครับ